LH Bank ชี้สินเชื่อบ้านลด เตรียมแผนปี 2019 จับมือ CTBC แบงก์ไต้หวันปรับโครงสร้างธุรกิจ

ก่อนหน้านี้ มี LH Bank จะขายหุ้นจนท้ายสุดมาลงตัวที่ผู้ถือหุ้นใหม่เป็นธนาคารอันดับ 1 ของไต้หวันอย่าง “CTBC” แล้ว LH Bank ในไทยต้องปรับตัวยังไงบ้าง?

LH Bank ยอมรับพอร์ทสินเชื่อบ้านลดลงเพราะแข่งขัน-หนี้เสียสูง

ศศิธร พงศธร (ฉัตรศิริวิชัยกุล) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) บอกว่า ปัจจุบันสินเชื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อบ้าน) มีสัดส่วนที่ 15% ลดลงจากสิ้นปีที่แล้วที่ระดับ 17-18% สาเหตุที่ลดลงเพราะมีลูกค้ารีไฟแนนซ์ไปที่ธนาคารอื่น และลูกค้าชำระหนี้หมดปิดบัญชีไป

พอร์ทสินเชื่อบ้านจะลดสัดส่วนลง เพราะมองว่าเป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ตอนนี้ถ้าดูลูกค้าที่ซื้อบ้านแล้วผ่อนชำระมา 7-8 ปีก็ยังเป็น NPL (ค้างชำระเกิน 3 เดือน) กันอยู่ แต่เมื่อก่อนถ้าผ่อนมาเกิน 3 ปีแล้วจะไม่ค่อยค้างชำระกันเยอะ

นายรัตน์ พานิชพันธ์ ประธานกรรมการ (ฝั่งซ้าย) และนางศศิธร พงศธร (ฉัตรศิริวิชัยกุล) ประธานเจ้าหน้า (ฝั่งขวา) LH Bank

รัตน์ พานิชพันธ์ ประธานกรรมการ LH Bank บอกว่า 3 ปีที่ผ่านมาสินเชื่อบ้านแข่งขันสูงมาก หลายแบงก์แย่งกันให้สินเชื่อลูกค้าเพราะคิดว่าเป็นสินเชื่อมีหลักประกัน แต่ที่จริงแล้วลูกค้าสินเชื่อบ้านมีโอกาสค้างชำระมากกว่าสินเชื่อรายย่อยกลุ่มอื่น เพราะเมื่อเป็น NPL กระบวนการจัดการทรัพย์ใช้เวลา 7-8 ปี

ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต เป็นเหมือนเงินสดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ลูกค้าจึงเลือกผ่อนชำระ รวมถึงสินเชื่อสำหรับการซื้อรถยนต์ และมอเตอร์ไซด์ ซึ่งมีกระบวนการยึดหลักประกันค่อนข้างเร็ว ลูกค้าจะผ่อนชำระมากกว่า

ปี 2019 จับมือผู้ถือหุ้น CTBC ดึงโมเดลการเป็นแบงก์อันดับ 1 ของไต้หวัน

ศศิธร บอกว่า เมื่อปี 2560 มีผู้ถือหุ้นใหม่เป็น CTBC Bank ธนาคารเอกชนอันดับ 1 ของไต้หวัน หลังจากวางแผนมาตอนนี้เปิดตัวคอนเซปต์ใหญ่ “We Are Family” หรือพวกเราคือครอบครัวเดียวกัน โดยจะปรับเปลี่ยนผ่านการบริการ และสาขาแบบใหม่ ล่าสุดเปิดตัว 2 สาขาแรกที่พาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ และ Terminal 21 พัทยา  จุดต่างสาขาในปัจจุบันคือ จะเน้นลูกค้า Wealth มากขึ้น และมี Private Zone, Private Room

ความร่วมมือกับ CTBC จะเข้ามาเน้น 3 เรื่อง คือ 1.Wealth ปีหน้าเตรียมเปิดแผนบริการลูกค้ากลุ่มนี้อย่างเป็นทางการ ให้แก่ลูกค้าที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของธนาคาร (AUM) 2 ล้านบาทขึ้นไป และจะมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ 2.Digital Banking ใช้ทั้งการปรับโครงสร้าง และระบบการบริการของธนาคารให้เข้าถึงลูกค้าหลายกลุ่มมากขึ้น ภายในไตรมาส 1/2019 จะเปิดตัว E-wallet รวมถึงบริการเปิดบัญชีหุ้นออนไลน์

สุดท้าย 3.Trade Finance ที่จะเห็นช่วงต้นปีใหม่ ซึ่งอาศัยความเชี่ยวชาญและฐานลูกค้าของ CTBC ในไต้หวัน ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยจะมีบริการเต็มรูปแบบ เช่น Cash management สินเชื่อระหว่างประเทศ ฯลฯ

สรุป

สินเชื่อบ้านแข่งขันแรงมาหลายปีจนหนี้เสียก็พุ่งตาม (แบงก์ชาติเลยออกเกณฑ์มาคุม) ทำให้ LH Bank คุมการปล่อยสินเชื่อบ้านจนพอร์ทเล็กลง ซึ่งปีหน้าก็ต้องรอดูว่าตลาดจะเป็นอย่างไรแต่สินเชื่อบ้านจะไม่ได้มีสัดส่วนมากเหมือนในอดีตแน่

ขณะเดียวกันการเป็นแบงก์เล็กอย่าง LH Bank เมื่อมีผู้ถือหุ้นใหม่ อย่าง CTBC ของไต้หวัน น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ ทั้งการเพิ่มเซคเมนท์ใหม่อย่าง Wealth ส่วนลูกค้ารายย่อยจะได้ใช้ Digital Banking ที่นำเข้าเทคโนโลยีมาจากไต้หวัน . และสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศอย่าง Trade Finance

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา