ถอดบทเรียนสายการบิน MYAirline ของมาเลเซีย รัฐบาลละเลยจนไปต่อไม่ไหวหลังให้บริการยังไม่ครบปี

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา สายการบินน้องใหม่ของมาเลเซียอย่าง MYAirline ประกาศหยุดให้บริการกะทันหันเพราะปัญหาการเงิน ไม่แจ้งล่วงหน้าจนทำให้ผู้โดยสารจำนวนมากเพิ่งจะรู้ข่าวเมื่อเดินทางถึงสนามบินแล้ว

ถือเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความงุนงงและความวุ่นวายอย่างมาก เมื่อสายการบิน MYAirline ส่งข้อความแจ้งเตือนผู้โดยสารเพียง 45 นาทีก่อนที่จะถึงกำหนดการที่เที่ยวบินแรกของวันที่ 12 ตุลาคมจะขึ้นสู่น่านฟ้า ทำให้ผู้โดยสารจำนวนมากเดินทางมาถึงสนามบินเพื่อพบกับเคาเตอร์เช็คอินที่ปิดให้บริการ รัฐบาลเองก็กล่าวว่า ไม่ได้รับการแจ้งเตือนใด ๆ จากทางสายการบินเลย

MYAirline ดูเหมือนจะไปได้ดี โดยให้บริการผู้โดยสารเกือบ 2 ล้านคนใน 9 เส้นทางในประเทศและ 2 เส้นทางนอกประเทศตั้งแต่เริ่มให้บริการในวันที่ 1 ธันวาคม 2022 สายการบินมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศราว 10% ให้บริการด้วยเครื่องบินมือสอง 9 ลำและได้สัญญาว่าจะเพิ่มจำนวนเครื่องบิน รวมทั้งเมื่อไม่กี่เดือนมาแล้ว ผู้บริหารยังพูดเองว่ามีแผนที่จะสั่งเครื่องบินใหม่อย่างน้อย 100 ลำ

นักวิเคราะห์วงการการบิน Brendan Sobie ถอดบทเรียนสำคัญจาก MYAirline ถึงสาเหตุที่ทำให้สายการบินที่เปิดได้ไม่ถึงปีต้องสะดุดล้มอย่างะทันหันที่มาเลเซียและประเทศอื่นในอาเซียนอาจจดจำและนำไปใช้หลังเผชิญปัญหาสายการบินใหม่ปิดตัวกันมาหลายปี

หน่วยงานรัฐที่ดูแลไม่รับรู้ปัญหา

สำหรับผู้ที่ติดตามความเป็นไปของวงการการบินก็อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่อยู่ ๆ MYAirline ก็หยุดให้บริการจากปัญหาการเงิน เพราะสายการบินได้ส่งสัญญาณว่าจะไปไม่รอดหลายอย่างทั้งการค้างจ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าธรรมเนียมสนามบิน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 

MYAirline ยังพยายามดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก่อนที่จะประสบกับความล้มเหลวเมื่อนักลงทุนที่เชื่อว่าเป็น “อัศวินขี่ม้าขาว” เปลี่ยนใจกะทันหันว่าจะไม่ลงทุนกับสายการบินในวันที่ 11 ตุลาคมจนทำให้สายการบินต้องหยุดให้บริการในที่สุดในวันต่อมา 

ปัญหาอยู่ที่ว่าหากผู้ที่ติดตามอย่างใกล้ชิดสามารถรับรู้ได้ว่าสายการบินกำลังมีปัญหาด้านการเงิน ทำไมหน่วยงานที่กำกับดูแลถึงไม่รับรู้

ในมาเลเซีย ผู้ดูแลการให้บริการของสายการบิน คือ สำนักงานการบินพลเรือนของมาเลเซีย (Malaysia Aviation Commission) หรือ Mavcom ที่เป็นผู้ดูแลเรื่องปัญหาด้านเศรษฐกิจและทำหน้าที่ตรวจสอบยืนยันว่าสายการบินมีความมั่นคงทางการเงินมากพอที่จะให้บริการ ส่วนหน่วยงานที่ดูแลเรื่องคุณสมบัติด้านเทคนิคที่รวมถึงความปลอดภัย คือ สำนักงานการบินแห่งชาติของมาเลเซีย (Civil Aviation Authority of Malaysia) หรือ CAAM

เป็นเรื่องที่ไม่ปกติที่สายการบินหนึ่งจะหยุดให้บริการโดยเฉพาะเมื่อเป็นสายการบินสตาร์ทอัพที่เพิ่งเปิดให้บริการ แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ปกติเช่นกับที่หน่วยงานกำกับดูแลไม่รับรู้ว่าสายการบินกำลังอยู่ในช่วงที่เกิดวิกฤติทางด้านการเงิน และไม่ปกติที่หน่วยงานดังกล่าวจะไม่ติดตามและหาทางแก้ไขปัญหากับสายการบินที่กำลังเผชิญปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

ทางรัฐบาลของมาเลเซียก็ได้แสดงความผิดหวังกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดย Anthony Loke รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ตำหนิสายการบินว่าไร้ความรับผิดชอบและตำหนิ Mavcom ว่าไม่กำกับดูแลให้ดี แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแลก็ควรที่จะติดตามและดูแลสถานการณ์ของสายการบินอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ปล่อยให้สายการบินเป็นผู้เลือกเองว่าจะรายงานปัญหาหรือไม่

แผนธุรกิจที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง

Mavcom ได้ให้ใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจสายการบินกับ MYAirline ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยสรุปว่าสายการบินมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ มีผู้ถือหุ้นที่เหมาะสม และมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สามารถปฏิบัติได้จริง  ขณะที่มีการตั้งคำถามว่าสายการบินมีคุณสมัติตรงตามนี้จริงหรือไม่ รวมทั้งผู้ที่ติดตามอุตสาหกรรมการบินหลายคนก็คิดว่าแผนธุรกิจนี้ไม่อยู่บนหลักความเป็นจริง

จุดบกพร่องที่ใหญ่ที่สุดในแผนธุรกิจของ MYAirline อยู่ที่การตั้งสมมุติฐานแบบผิด ๆ ว่า สายการบิน AirAsia กำลังอ่อนแอจากโควิด-19 ทำให้เหลือพื้นที่แข่งขันในตลาดการบิน อย่างไรก็ตาม แม้ว่า AirAsia ที่กินส่วนแบ่งในตลาดกว่า 50% ของตลาดในมาเลเซียจะอยู่ในช่วงอ่อนแอกว่าช่วงก่อนโควิด แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีกำลังที่จะแข่งขันในตลาดเพราะยักษ์ใหญ่ก็ยังคงเป็นยักษ์ใหญ่

AirAsia ได้ใช้กลยุทธ์ตอบโต้แบบเดียวกับที่เคยใช้กับสายการบินหน้าใหม่ในช่วงก่อนโควิดก็คือการลดราคาโดยสารเที่ยวบินที่ครอบคลุมเส้นทางทั้งหมดของ MYAirline แม้ AirAsia จะไม่สามารถทำเงินในเส้นทางที่ซ้อนทับกันได้ แต่ก็ทำรายได้และกำไรจากเส้นทางอื่น ๆ แทน

แน่นอนว่ากลยุทธ์ของ AirAsia ได้ผลจนทำให้ MYAirline ไม่สามารถทำกำไรได้เลยเพราะค่าตั๋วเครื่องบินถูกเกินไปที่จะทดแทนต้นทุน ทำให้เงินทุนที่คาดว่าจะเพียงพอต่อการให้บริการอย่างน้อย 1 ปีก็หมดลงหลังจากเริ่มให้บริการเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น จนช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่าน MYAirline พยายามเข้าเป็นผู้เล่นในตลาดการบินระหว่างประเทศแทนเพราะรู้ดีว่าการให้บริการในประเทศกำลังล้มลุกคุกคลาน

สิ่งต่อมาที่ MYAirline ทำคือการตัดเส้นทางบินภายในประเทศออก 2 จาก 9 เส้นทางในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และกำลังดำเนินการเพิ่มเที่ยวบินนอกประเทศหลายแห่งซึ่งรวมถึงเชียงใหม่ ภูเก็ต ดานัง โฮจิมินห์ รวมถึงบริการเช่าเหมาลำไปยังบังคลาเทศ จีนและซาอุดิอาระเบีย

อย่างไรก็ตาม การหาทางหนีทีรอดของ MYAirline ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เงินทุนมหาศาลและเวลาก็กระชั้นเข้ามา สายการบินยังไม่สามารถเพิ่มสล็อตเวลาในสนามบินแห่งชาติในหลายประเทศได้รวมถึงสิงคโปร์ หรือถึงต่อให้มีเงินทุนเพียงพอ ก็จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดทั้งในมาเลเซียและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ดี

อีกเหตุผลสำคัญอยู่ที่ขนาดตลาดในมาเลเซียที่เล็กเกินกว่าจะมีพื้นที่พอให้ผู้เล่นรายเล็ก ๆ อย่าง MYAirline ขณะที่มีผู้เล่น 3 รายใหญ่ที่มั่นคงมากอยู่แล้วอย่าง AirAsia, Malaysia Airlines และ Batik Air Malaysia แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่แค่ MYAirline แต่ยังมีสายการบินรายเล็ก ๆ ต้องการเข้าสู่ตลาดการบินโดยไม่ได้ตระหนักเลยว่าจะต้องใช้เงินทุนมากมายมหาศาลขนาดไหนและเป็นเรื่องยากแค่ไหนที่จะดำเนินธุรกิจให้มีกำไรได้ภายใต้ตลาดแข่งขันสูงแห่งนี้

บทเรียนสำคัญจาก MYAirline

แม้การมีสายการบินเพิ่มเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงราคาที่ถูกลง แต่ความยั่งยืนและความมั่นคงของสายการบินก็สำคัญเช่นกัน

มาเลเซียเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศในอาเซียนรวมถึงไทยในการที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายรองรับสายการบินใหม่ ๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดให้มีความมั่นคงด้านการเงินและมีโอกาสอยู่รอดในสนามแข่งขันที่เข้มข้น และยังควรที่จะนำข้อกำหนดและคุณสมบัติก่อนให้อนุญาตในการบินมาตรวจสอบใหม่อีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าสายการบินจะมีแหล่งเงินทุนเพียงพอให้ดำเนินการต่อไปได้ หรืออย่างน้อยก็ควรมีข้อบังคับให้สายการบินรายงานสถานะทางการเงินเป็นรายไตรมาสและต้องเข้าชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมดูแล

นอกจากนี้ Brendan Sobie ยังถอดบทเรียนว่า ไม่ควรปล่อยให้สายการบินเปิดให้บริการต่อเป็นระยะเวลาหลายเดือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเงินทุนหมดแล้วหันไปพึ่งพายอดการจองตั๋วเครื่องบินในอนาคตเพื่อหวังจะนำเงินมาจ่ายให้พนักงานและชำระหนี้อื่น ๆ 

ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีของ Rayani Air สายการบินสตาร์ทอัพสัญชาติมาเลเซียอีกเหมือนกันที่หยุดให้บริการไปในปี 2016 หลังเปิดได้เพียง 5 เดือน แม้ว่าจะสร้างผลกระทบน้อยกว่าเพราะมีเครื่องบินให้บริการเพียง 2 ลำเท่านั้น

ปัญหานี้ไม่ได้มีเฉพาะในมาเลเซีย แต่ยังเจอในประเทศในอาเซียนอื่น ๆ อีกที่สายการบินเปิดให้บริการได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง การให้ใบอนุญาตกับสายการบินที่มีโอกาสจะไปไม่ไหวไม่ได้ทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อนแต่ยังอาจกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวได้อีก

Sobie ทิ้งท้ายว่า เขาเองค่อนข้างแน่ใจว่าในอนาคตก็จะมีสายการบินที่ไปไม่รอดอีกในมาเลเซียหรือไม่ก็ในอาเซียน เพราะบทเรียนที่ได้จาก MYAirline ก็อาจจะถูกลืมไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสถานการณ์ล้มลุกคักคลานของสายการบินเล็ก ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็คงจะเป็นตัวสะท้อนที่สอดคล้องกับสมมุติฐานของ Sobie ได้

ที่มา – CNA

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา