อยากมี Credit Score ที่ดีต้องสร้างยังไง ให้ยื่นกู้สินเชื่อได้ผ่านฉลุย

สำหรับใครที่ขอกู้สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่ออื่น ๆ อาจเคยเจอเหตุการณ์ที่ว่ายื่นขอกู้ไปแล้ว แต่ทำไมสถาบันการเงิน หรือธนาคารถึงไม่อนุมัติสินเชื่อให้นะ? หรือเคยยื่นกู้ไปแล้วผ่าน จะขอยื่นกู้กับสินเชื่อประเภทอื่นทำไมวงเงินถึงได้ไม่เท่ากัน? จากข้อสงสัยเหล่านี้ก็เป็นเพราะ ทางสถาบันการเงินเขาจะต้องเช็กเครดิตบูโร หรือประเมินพฤติกรรมการเงินของเราก่อนนั่นเอง ว่าดูมีความน่าเชื่อถือมากพอที่สถาบันการเงินจะปล่อยกู้ให้ไหม ในบทความนี้เราเลยสรุปข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับ Credit Score มาให้ทุกคนเข้าใจกันแบบง่าย ๆ ว่าสิ่งนี้คืออะไรมีผลต่อการขอสินเชื่อมากน้อยแค่ไหน เพื่อเตรียมในการขอสินเชื่อในอนาคตกัน

krungsri

Credit Score คืออะไร?

Credit Score หรือคะแนนเครดิต คือ หน่วยคะแนนชี้วัดที่สถาบันการเงินมักใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ โดยอ้างอิงจากข้อมูลทางสถิติของผู้ชำระหนี้ ว่ามีโอกาสที่จะไม่ผิดนัดชำระหนี้ที่ก่อไว้หรือไม่ และมีพฤติกรรมการชำระหนี้ในอดีตแบบใด เพื่อเป็นเหตุผลประกอบในการขออนุมัติสินเชื่อ 

ใครคือคนคำนวณการให้ Credit Score 

NCB: National credit Bureau เป็นผู้ที่ถือข้อมูลเครดิตของลูกค้าไว้ทั้งหมด โดยที่ NCB จะมีการทำ Credit Scoring ไว้ส่วนหนึ่ง แต่ธนาคารผู้ให้สินเชื่อจะไม่ได้เอา Credit Score ที่ NCB ทำไว้มาใช้ แต่จะเอาข้อมูลที่ใช้ทำ Credit Score มาผสมใหม่ ให้เป็นของธนาคารนั้น ๆ เอง 

อย่างเช่น Credit Score  คือ 80% ของ NCB และ 20% คือข้อมูลเครดิตทางการเงินของเรา ดังนั้น Credit Score จะแตกต่างกันออกไปตามแต่นโยบายของธนาคารนั้น ๆ แต่แหล่งที่มานั้นก็คือมาจาก NCB: National credit Bureau แหล่งเดียวกันนั่นเอง

เกณฑ์การดู Credit Score ของธนาคารดูอะไรบ้าง?

  • ยอดหนี้คงเหลือ/ยอดวงเงินที่ใช้ เทียบกับวงเงินสินเชื่อ
  • ยอดหนี้คงเหลือ/ยอดวงเงินที่ใช้ รวมแต่ละประเภทสินเชื่อ
  • จำนวนบัญชีสินเชื่อที่เพิ่งเปิด
  • จำนวนเงินคงค้างล่าสุด
  • ความยาวของประวัติสินเชื่อ
  • จำนวนบัญชีที่มีประวัติชำระหนี้ที่ดี
  • ความยาวของบัญชีสินเชื่อที่มี
  • ความถี่ในการสมัครสินเชื่อใหม่

krungsri

Credit Score สำคัญอย่างไร?

Credit Score ใช้เป็นตัวชี้วัดตัวเราเองว่ามีความน่าเชื่อถือขนาดไหนในการที่สถาบันการเงินจะปล่อยกู้สินเชื่อให้ เพราะฉะนั้นในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินในทุก ๆ ครั้ง สถาบันการเงินจะใช้ Credit Scoring เพื่อประกอบการอนุมัติสินเชื่อ ดังนั้นหากเรามี Credit Scoring ที่ไม่เหมาะสม ก็อาจให้เราได้วงเงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่ยื่นขอไป หรือไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ

โดยเฉพาะน้อง ๆ เด็กจบใหม่ที่ใช้เงินสดมาตลอดทั้งชีวิต และคิดว่าเราไม่ได้ติดหนี้ และก็คงมี Credit Score ที่ดี ยื่นขอสินเชื่อยังไงก็ผ่านแน่นอน แต่เดี๋ยวก่อนอย่าเพิ่งชะล่าใจไปเพราะในความเป็นจริงแล้วการไม่มีหนี้เลยไม่ได้หมายความว่าเราจะขอกู้สินเชื่อผ่านนะ เพราะสถาบันการเงินจะรู้ไม่ได้เลยว่าต่อเดือนเรามีประวัติการชำระหนี้อะไรบ้าง แต่ทางกลับกันการมีบัตรเครดิต และการสร้างเครดิตให้กับตัวเองดี ๆ ด้วยการจ่ายครบ จ่ายเต็มทุกเดือน จะทำให้เรามีเครดิตที่ดี และช่วยให้สถาบันการเงินต่าง ๆ พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้เราผ่านได้ง่ายนั่นเอง

ต้องทำอย่างไรถึงจะมี Credit Score ที่ดี

1. เคลียร์หนี้เก่า ไม่สร้างหนี้ใหม่

ยอดหนี้ค้างชำระของหนี้เก่าเราจะเป็นตัวบอกได้เลยว่าเรามีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ไหมในอนาคต ถ้าเรายังไม่หยุดสร้างหนี้ใหม่ และมียอดที่ค้างชำระสูงนั้น ก็จะแสดงให้เห็นว่าเราอาจจะมีสภาพคล่องไม่ค่อยดีเมื่อต้องการขอยื่นกู้สินเชื่ออาจทำให้สถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อ ทำให้กับเราพลาสโอกาสที่จะได้สินเชื่อไปในที่สุด ได้ 

2. ชำระให้หนี้ตรงเวลา

ในทุก ๆ รอบบิลจะมีระยะเวลาในการชำระหนี้อยู่ เราก็ควรที่จะชำระภายในกรอบเวลาที่เขากำหนดมาไว้ให้ แต่ถ้าเราผิดชำระหนี้ หรือชำระล่าช้าไปกว่ากำหนดก็จะต้องเสียดอกเบี้ย  ซึ่งจากพฤติกรรมการชำระหนี้ตรงนี้อาจทำให้สถาบันการเงินเอามาใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินว่าเรามี Credit Score ดีมากน้อยแค่ไหน และถ้าเราไม่ยอมชำระหนี้ แถมยังรูดบัตรเพิ่มหนี้ใหม่เข้าไปอีก แน่นอนเลยว่าคะแนนในระบบเครดิตบูโรของเราก็จะยิ่งน้อยลงเรื่อย ๆ พราะรายจ่ายมากกว่ารายได้นั่นเอง เพื่อป้องกันไม่ให้คะแนนเครดิตของเราถูกลดในนอนาคต การสร้างวินัยการชำระหนี้ให้ได้ตรงกรอบเวลาที่สถาบันการเงินกำหนดจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย

3. จ่ายให้เกินขั้นต่ำเข้าไว้

การจ่ายน้อยกว่าขั้นต่ำนั้นเป็นสิ่งที่เราควรหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด เพราะเมื่อเราตัดสินใจชำระหนี้ขั้นต่ำแล้วสิ่งถัดไปที่จะตามก็คือ จะมีดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายเพิ่มนั่นเอง และมันบ่งชี้ให้เห็นเลยว่าเรายอมที่จะเสียดอกเบี้ยแพงเพราะสภาพคล่องเราไม่ดี ซึ่งสถาบันการเงินมีโอกาสมองเห็นจุดนี้ของเราแน่นอน และเมื่ออนาคตเราจะขอสินเชื่อชิ้นใหญ่ อย่างการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็อาจมีโอกาสกู้ไม่ผ่านได้ ถ้าเรายังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระน้อยกว่ายอดขั้นต่ำที่สถาบันการเงินกำหนด

4. อย่าขอสินเชื่อบ่อยเกินไป

ถ้าเราขอสินเชื่อบ่อย ๆ ติดต่อกันภายในระยะเวลาสั้น ๆ และหลายที่ สถาบันการเงินอาจจะมองว่าเรามีปัญหาเรื่องเงิน หรือหมุนเงินไม่ทัน และถ้าปล่อยสินเชื่อไปให้แล้วจะชำระไหวไหม ดังนั้นเมื่อสถาบันการเงินเกิดความเคลือบแคลงใจ และหวั่นว่าถ้าปล่อยสินเชื่อให้แล้วหนี้ก้อนนั้นจะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคต เราก็อาจพลาดโอกาสที่จะได้สินเชื่อก้อนนั้นไปเลยก็ได้ 

เล่ามาถึงตรงนี้แล้วสำหรับใครที่กำลังวางแผนขอสินเชื่ออยู่ อย่าลืมเช็ก Credit Score ของตัวเองและหมั่นสร้าง Credit Score ไว้ให้ดีด้วย เพราะถ้า Credit Score เราอยู่ในเกณฑ์ที่ดีไม่ว่าจะขอสินเชื่ออะไรก็ตามรับรองว่าผ่านฉลุยแน่นอน เพื่อการสร้างพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีของเราที่มีความเชื่อถือได้ในอนาคต ลองเอาวิธีทั้ง 4 การสร้าง Credit Score ให้ดีไปลองปรับใช้กันดูนะ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา