[วิเคราะห์] น้ำผึ้งหยดเดียว บทเรียน KOREAKING ถูกสั่งห้ามโฆษณา ผลกระทบแบรนด์ครั้งใหญ่

รู้กันทั่วแล้วว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตั้งโต๊ะแถลงถึงกรณีกระทะ KOREAKING ตั้งราคาขายและมีคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง Brand Inside ขอสรุปเนื้อหาให้อ่านง่าย พร้อมกับวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้น

  • เริ่มต้นด้วยผลการประชุมของ สคบ. ระบุว่า ราคาตั้งของกระทะ KOREAKING Gold Series 15,000 บาท และ Diamond Series 18,000 บาท เป็นราคา Fake Original Price หรือปลอมราคาจริง และโฆษณาคุณภาพของสินค้าไม่เป็นไปตามความจริง ถือว่าไม่เป็นธรรมและมีผลต่อผู้บริโภค
  • ประเด็นที่น่าจะโดนใจผู้บริโภคมากที่สุด คือ การโฆษณาว่ามีการเคลือบ 8 ชั้น แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า Gold Series มีการเคลือบ 5 ชั้น ส่วน Diamond Series เคลือบ 2 ชั้น แต่ต้องรอผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งหากยืนยันตามนี้ เท่ากับเป็นการโฆษณาที่ไม่เปิดความจริง
  • สำหรับการตรวจสอบตามข่าวก่อนหน้านี้ มีการส่งกระทะ KOREAKING ไปที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC, กรมวิทยาศาสตร์บริการ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อตรวจสอบ วิเคราะห์ ส่วนประกอบของกระทะอย่างจริงจัง
  • เมื่อผลดังนี้ สคบ. จึงสั่งให้ บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ผู้นำเข้ากระทะ KOREAKING ห้ามโฆษณา และให้มีการแก้ไขคำโฆษณาให้เรียบร้อย
ภาพจาก http://www.wizardsolution.co.th

โลกโซเชียลสร้างความตื่นตัว ข้อเตือนใจการทำธุรกิจ

กรณีของกระทะ KOREAKING เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะตลอดเวลากว่าปีที่ผ่านมา หลายคนชื่นชอบในคุณสมบัติที่มีการโฆษณาของกระทะแบรนด์นี้ แต่หลายคนก็แปลกใจและสงสัยเกี่ยวกับราคาขาย ที่ตั้งไว้สูงและลดราคาลงมาเยอะมาก สรุปต้นทุนที่แท้จริงคือเท่าไร และทำกำไรได้จริงหรือไม่ ถ้าเปิดราคาจริงมาตั้งแต่แรก อาจจะไม่โดนโจมตีขนาดนี้

ยิ่งเมื่อตัวเลขงบโฆษณาปรากฎออกมาตามการสำรวจของ นีลเส็น พบว่า KOREAKING เป็นแบรนด์ที่มีการใช้งบโฆษณาสูงที่สุด แซงหน้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่หลายราย เท่ากับว่า KOREAKING เป็นกระทะที่ราคาหมื่นกว่าบาท ลดเหลือพันต้นๆ และใช้งบโฆษณาสูง

ตัวเลขเฉพาะเดือน ก.พ. เทียบ 2016 กับ 2017 KOREAKING มาอันดับ 1

สุดท้ายด้วยการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวอิศรา และกระแสบนโลกโซเชียล ผลักดันให้เกิดการตรวจสอบกระทะอย่างจริงจัง และผลก็เป็นดังที่เป็นข่าว เป็นสิ่งเตือนใจให้แบรนด์ต่างๆ รู้ว่า โลกโซเชียล หรือ Social Network ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น และมีพลังเพียงพอที่จะเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบได้

ดังนั้น ความจริงใจ คือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ

ยิ่งตรวจสอบพบว่า มีข้อเท็จจริงที่เป็นไปได้ว่า ไม่ตรงกับการโฆษณา ผลที่เกิดจะกลายเป็น วิกฤตสำหรับแบรนด์ในทันที

KOREAKING Gold Series

จัดการกับวิกฤตอย่างไร เพื่อทางออกที่สวยงามที่สุด

อันดับแรกผู้บริโภคต้องรู้ก่อนว่า การตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์, บ้าน, โทรศัพท์มือถือ หรืออะไรก็ตาม ทุกอย่างมีต้นทุนทั้งที่สามารถตรวจสอบได้ เช่น วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การลงทุนต่างๆ แต่ก็มีต้นทุนที่มองไม่เห็นอยู่ด้วย เช่น การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้นวัตกรรมใหม่ หรือการใช้งบการตลาด งบโฆษณาด้วย

ทั้งหมดรวมเป็นต้นทุน เมื่อบวกกำไรที่เหมาะสม จะได้ราคาสินค้า ซึ่งหากไม่ใช่สินค้าในควบคุมราคาโดยภาครัฐ ราคาสินค้าก็อาจจะสูง แต่อำนาจตัดสินใจซื้อก็ขึ้นกับผู้บริโภค ที่จะพิจารณาว่า ราคาสูงเกินไปหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่

แต่กรณีของ KOREAKING มีเรื่องการตรวจสอบที่ไม่ตรงกับโฆษณารวมอยู่ด้วย ทำให้ประเด็นดังกล่าว กลายเป็นวิกฤตของแบรนด์ในทันที จากนี้ต้องพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงที่แบรนด์มีอยู่ในมือคืออะไร จะนำออกมาใช้อย่างไรเพื่อจัดการกับวิกฤตครั้งนี้

สิ่งที่น่าจะผ่อนความรู้สึกสับสนหรือไม่พอใจของผู้บริโภคได้เร็วที่สุด คือ การออกมาขอโทษ มีมาตรการเยียวยา พร้อมกับชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา

อีกประเด็นที่เกิดขึ้นคือ วูดดี้ ในฐานะ Presenter รวมถึงกลุ่มเพื่อนๆ ที่ให้การสนับสนุน ออกมาแสดงความเห็นเพื่อช่วยเหลือแต่กลับให้ผลในทางลบมากกว่า ทำให้ประเด็นยิ่งสับสนทั้งเรื่อง ตัวสินค้า และตัวพรีเซนเตอร์ คือ วูดดี้ ทั้งที่ความจริงเป็นคนละส่วนกัน

KOREAKING Diamond Series

สัญญาณเตือนไปถึงรายการขายสินค้าอื่นๆ

กรณีของ KOREAKING น่าจะเป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้น ที่มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบรายละเอียดของสินค้าอย่างจริงจัง และถือเป็นสัญญาณเตือนไปยังแบรนด์สินค้าอื่นๆ ที่วางจำหน่ายในตลาด โดยเฉพาะที่ขายผ่านทางโทรทัศน์ ที่มีการลดราคามากๆ มีของแถมเยอะๆ

สรุปแล้ว ต้นทุนที่เหมาะสมกับราคาที่เหมาะสม รวมถึงคุณสมบัติของสินค้า เป็นไปตามความจริงหรือไม่

ที่สำคัญ สคบ. หน่วยงานที่ต้องดูแลผู้บริโภค อาจต้องทำงานเชิงรุกให้หนักขึ้นเพื่อดูแลสินค้าในตลาดให้มีความเหมาะสม มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้บริโภค

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา