เสียชื่อหมด! Kobe Steel ปลอมแปลงรายงานค่าความแข็งแรงของอลูมิเนียมและทองแดง

ขึ้นชื่อว่าโลหะที่มาจากประเทศญี่ปุ่นแล้วทุกคนย่อมมีความมั่นใจว่าคุณภาพของโลหะนั้นต้องสูงแน่นอน แต่หลังจากนี้ไปเราอาจต้องคิดใหม่เรื่องคุณภาพและความเชื่อใจของโลหะที่มาจากญี่ปุ่นกันอีกครั้ง หลังจากมีข่าวว่าทาง Kobe Steel นั้นมีการปลอมแปลงรายงานค่าความแข็งแรงของอลูมิเนียมและทองแดง ทำให้หุ้นกลุ่มเหล็กของญี่ปุ่นตกทันทีรวมไปถึงหุ้นของลูกค้า Kobe Steel ด้วยทันทีที่ข่าวนี้ออกมา

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาทางบริษัทได้ออกแถลงกับสื่อในประเทศญี่ปุ่นแบบเร่งด่วน และกล่าวขอโทษที่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น

โดยทางบริษัทได้ตรวจสอบคุณภาพของอลูมิเนียมและทองแดง ชุดที่ส่งออกไปให้ลูกค้าในเดือนกันยายน 2016 จนถึงสิงหาคมของปีนี้ ใน 4 โรงงานมีพนักงานและผู้จัดการได้ปลอมแปลงค่าความแข็งแรง และค่าความทนทานของอลูมิเนียมและทองแดงไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยพนักงานคนอื่นที่ทราบเรื่องนี้ก็ได้แต่ปิดปากเงียบ โดยทองแดงและอลูมิเนียมชุดที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ บริษัทได้ประมาณการไว้ที่ 4% ทั้งหมด โดยยอดขายทองแดงและอลูมิเนียมนั้นเป็น 20% ของยอดขายรวม

โดยเคสนี้ไม่ใช่เคสแรกของ Kobe Steel ด้วย โดย Shinko Wire ซึ่งเป็นบริษัทในเครือได้ปลอมแปลงค่าความแข็งแรงของลวดไว้ทำสปริงมาแล้วในปี 2016 ซึ่งไม่ได้มาตาฐานอุตสาหกรรม

ใครเป็นลูกค้าของ Kobe Steel บ้าง

Kobe Steel นั้นได้ผลิตวัสดุประเภทเหล็ก อลูมิเนียม ทองแดง ฯลฯ โดยบริษัทนั้นใหญ่อันดับ 3 ในอุตสาหกรรมนี้ ทางด้านลูกค้าสำคัญๆ ของ Kobe Steel มีดังต่อไปนี้

  • Toyota
  • Honda
  • Subaru
  • Hitachi
  • Mitsubishi
  • General Motors
  • Ford
  • Nissan

โดยทางตัวแทนของ Toyota ได้กล่าวว่าทางบริษัทเร่งตรวจสอบว่ามีอะไหล่หรือชิ้นส่วนไหนใช้วัสดุที่มาจาก Kobe Steel บ้าง ส่วนทาง Mazda นั้นได้บอกว่ามีการใช้วัสดุจาก Kobe Steel จริง แต่ยังตรวจสอบอยู่

รถไฟ JR ปีกเครื่องบิน Boeing สู่จรวดของ JAXA ก็อาจมีวัสดุของ Kobe Steel ใช้ด้วย

โดยที่รถไฟของ JR รวมไปถึงรถไฟ Shinkansen ไม่ว่าจะเป็น JR East, JR Central, JR West ก็มีชิ้นส่วนที่ใช้วัสดุของ Kobe Steel โดยที่ถ้าถึงขั้นแย่ที่สุดอาจตรวจสอบและเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มีวัสดุมีคุณภาพใหม่อีกครั้ง ส่วนทางจรวด H-IIA ของ JAXA (องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น) อาจมีชิ้นส่วนที่ทำจากวัสดุที่ส่งมาจาก Kobe Steel ด้วย แต่การส่งดาวเทียมล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาของ JAXA นั้นประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ทาง JAXA และ Mitsubishi Heavey Industry ซึ่งเป็นผู้รับเหมาจาก JAXA ก็จะได้ตรวจสอบอีกครั้ง ส่วนทาง Boeing ที่ใช้ชิ้นส่วนของ Subaru ซึ่งผลิตชิ้นส่วนปีกก็กำลังตรวจสอบในเรื่องนี้เช่นกัน

มูลค่าของความเสียหายครั้งนี้ของ Kobe Steel

JPMorgan ได้ประมาณการความเสียหายครั้งนี้ที่เกิดขึ้นแล้วมูลค่าอาจสูงถึง 10,000 ถึง 15,000 ล้านเยน โดยประมาณการจากยอดขาย 5% ของ Kobe Steel เอง โดยที่มูลค่าที่ประมาณการนี้ประกอบไปด้วยการเรียกคืนสินค้าจากลูกค้าและเปลี่ยนเป็นวัสดุที่มีไม่ได้ปลอมแปลงค่าคุณภาพและความทนทาน โดยล่าสุดหุ้นของ Kobe Steel ได้ตกมาแล้วถึง 30%

เรื่องของความเชื่อมั่นล้วนๆ แต่ก็ยังมีข่าวประเภทนี้ออกมาเรื่อยๆ

โดยที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวเรื่องการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพจากบริษัทญี่ปุ่นอยู่เรื่อยๆ โดยเคสของ Kobe Steel ไม่ใช่ข่าวแรกๆ ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น โดยเคสในประเทศญี่ปุ่นที่ดังๆ เช่น

  • Takata ผู้ผลิตถุงลมนิรภัยนั้นผลิตถุงลมไม่ได้มาตรฐานในปี 2015 ทำให้ต้องมีการเรียกคืนจำนวนมหาศาล
  • Nissan ใช้ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีใบรับรองตรวจสอบรถยนต์ ทำให้ต้องเรียกรถยนต์กลับมาถึง 1 ล้านคัน

โดยทาง กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเองได้ออกมากล่าวว่าทางบริษัทอาจต้องเปิดเผยข้อมูลมากกว่านี้ เรื่องของ Kobe Steel ทำให้กระทบความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยทาง Yasuji Komiyama หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมวัสดุได้กล่าวว่าต้องเรียกความเชื่อมั่นทั้งหมดโดยรวมกลับมาไม่ใช่แค่การเรียกความเชื่อมั่นแค่ลูกค้าของบริษัทเองเท่านั้น

ที่มา – Nikkei Asian Review, Bloomberg [1], [2]

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ