ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ย้ำ หากโลกร้อนขึ้น 3.2 องศาเซลเซียสในปี 2050 จะกระทบ GDP โลก 18% หรือ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนไทยกระทบ 44% หรือ 2.18 แสนล้านดอลลาร์ หนักกว่าช่วงโควิด-19 ระบาดที่ลดลงทั่วโลกกระทบแค่ 3% เตรียมอัดสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนมูลค่า 1 แสนล้านบาทในปี 2024 ช่วยภาคธุรกิจ
KBank ขอเป็นอีกสถาบันการเงินที่รักษ์โลก
พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เล่าให้ฟังว่า โอกาสที่เม็ดเงิน GDP ที่จะหายไปหากโลกร้อนขึ้น 3.2 องศาเซลเซียสในปี 2050 จะคิดเป็นมากกว่า 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 18% ของ GDP โลก ส่วนในประเทศไทยจะอยู่ราว 2.18 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 44% ของ GDP ไทย
ตัวเลขดังกล่าวนั้นมากกว่าปัญหาโรคโควิด-19 ระบาดที่กระทบกับ GDP ทั่วโลกเพียง 3% ซึ่งหากไม่มีการรับมือ อุตสาหกรรมส่งออกของประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก ผ่านการคาดการณ์เม็ดเงินที่หายไปราว 1.14 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 40-50% ของมูลค่าการส่งออกในประเทศไทย
“ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเดินหน้านโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น Clean Competition Act ของสหรัฐอเมริกา, Green Deal และ CBAM ของกลุ่มยุโรป และ Full-Life Cycle Carbon Footprint Tracking System ของประเทศจีน หากประเทศไทยไม่ปรับตัว โอกาสจะทำธุรกิจกับกลุ่มประเทศดังกล่าวก็ยากขึ้น”
ยิ่งผู้ประกอบการไม่ปรับตัว ยิ่งกระทบธุรกิจ
ปัจจุบัน KBank มีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจส่งออกอยู่ราว 30,000 ราย ทำให้ธนาคารเริ่มเข้าไปช่วยเหลือ เช่น การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำธุรกิจที่ล้อไปกับนโยบายรักษ์โลกต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เสียค่าปรับ และถึงธนาคารจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกแค่ 5% แต่อีก 95% นั้นมาจากการทำธุรกิจกับลูกค้า เช่น การปล่อยสินเชื่อ
“สิ้นเดือน ม.ค. 2024 เรามีสินเชื่อในพอร์ต 1.7 ล้านล้านบาท ผ่านลูกค้า 4.5 แสนราย ซึ่งลูกค้าระดับบนที่มียอดขาย 1 แสนล้านบาทขึ้นไปเริ่มมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันแล้ว เช่นเดียวกับระดับกลาง หรือยอดขาย 4,000 ล้านบาท แต่กลุ่มที่มียอดขายต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท หรือ SME เขายังไม่ค่อยเข้าใจ เราจึงต้องเข้าไปช่วยมากขึ้น”
นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ของไทยที่อยู่ระหว่างการพิจารณา กำหนดให้ภาคธุรกิจต้องวัดผลและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, มีมาตรการจำกัดสิทธิผู้ประกอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมาตรการจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสินค้าภาคอุตสาหกรรม นั้นกระทบกับธุรกิจเช่นกัน
อัด 1 แสนล้านช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย
พิพิธ เสริมว่า จากปัจจัยข้างต้น ทำให้ KBank เตรียมเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจังผ่านการส่งแผนยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่ต่อยอดจากการทำเรื่องความยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2012 โดยเบื้องต้นเตรียมวงเงินสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 1 แสนล้านบาทภายในปี 2024 และเพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาทภายในปี 2030
ระหว่างปี 2022-2023 KBank มอบสินเชื่อ และเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปแล้ว 73,397 ล้านบาท มีทั้งธุรกิจในอุตสาหกรรมพลังงาน, ซีเมนต์, ถ่านหิน รวมถึงน้ำมัน และก๊าซ ส่วนตัว KBank มีการปรับการดำเนินงานองค์กร เช่น ติดตั้งโซลาร์รูฟ, เปลี่ยนรถยนต์ผู้บริหารเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 12% ในปี 2023
ทั้งนี้ปี 2030 KBank ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อความยั่งยืนถึง 2 แสนล้านบาท แต่การจะไปถึงจุดนั้นต้องมีการให้ความรู้กับองค์กรต่าง ๆ เพิ่มเติม รวมถึงสรรหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนได้จริง โดยในอนาคต KBank จะเป็นมากกว่าแค่ที่ปรึกษา แต่พร้อมเป็น Broker หรือ Dealer ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
- เปิดกรณีศึกษา KBank กับความยั่งยืน เปิดตัวรถ EV Currency Exchange – บัตรเครดิต/เดบิตจากวัสดุรีไซเคิล ชวนลูกค้าเดินทางสู่ Net Zero ด้วยกัน
- สถาบันการเงินก็รักษ์โลกได้! กางแผนความยั่งยืน ธนาคารกรุงเทพ ผ่านมุมมอง ชาติศิริ โสภณพนิช
เจาะตัวอย่างความร่วมมือช่วยทุกภาคส่วน
ตัวอย่างที่ KBank เดินหน้าความร่วมมือเพื่อตอบโจทย์การรักษ์โลก เช่น Watt’s Up เป็น E-Market Place สำหรับเช่าจักรยานยนต์ไฟฟ้า มีผู้ใช้งาน 367 ราย มีตู้สลับแบตเตอรี่เป็นกว่า 70 สาขา รวมถึงมีจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้เลือกมากกว่า 10 รุ่น
รวมถึง ปันไฟ (Punfai) แอปพลิเคชันที่ร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พัฒนาแอปพลิเคชันแลกเปลี่ยนไฟฟ้าแห่งแรกของไทยที่ตอบโจทย์การใช้งานครบทุกมิติ รองรับการใช้งานทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ
และแพลตฟอร์มขึ้นทะเบียน และขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย และ Innopower เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขึ้นทะเบียนและขายใบรับรอง REC ได้
อ้างอิง // KBank
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา