สถาบันการเงินก็รักษ์โลกได้! กางแผนความยั่งยืน ธนาคารกรุงเทพ ผ่านมุมมอง ชาติศิริ โสภณพนิช

กระแสการดำเนินธุรกิจผ่านกลยุทธ์รักษ์โลกคือสิ่งที่ทุกองค์กรต้องไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ นอกจากเรื่องภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น การยกระดับองค์กรในเรื่องดังกล่าวยังเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น และล้อไปกับนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังดำเนินการ ซึ่ง ธนาคารกรุงเทพ คืออีกธุรกิจที่กำลังเดินหน้าเรื่องนี้

แต่น่าสนใจว่าสถาบันการเงินที่ล้วนทำธุรกิจเกี่ยวกับตัวเลขจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร เพราะแค่ไปปลูกต้นไม้ หรือจัดกิจกรรมช่วยสังคมก็คงไม่ยั่งยืน ซึ่ง ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ได้แจ้งบนเวที Sustainability Week Asia ที่จัดโดย The Economist ว่า ไม่ได้มีแค่สองเรื่องนี้แน่ ๆ

การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดความยั่งยืนของ ธนาคารกรุงเทพ จะเป็นอย่างไร และความท้าทายในการดำเนินธุรกิจที่ต้องการผลกำไรควบคู่กับการรักษ์โลกไปด้วยกันจะมากแค่ไหน Brand Inside ได้มีโอกาสร่วมรับฟังเสวนาดังกล่าว และสรุปออกมาให้อ่านกันดังนี้

ธนาคารกรุงเทพ

กางบทบาทธนาคารที่มีต่อความยั่งยืน

ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันหลายองค์กรขนาดใหญ่ได้กำหนดเป้าหมายเกี่ยวกับความยั่งยืน และผลกำไรควบคู่กัน กลายเป็นตัวอย่างที่ดี รวมถึงจูงใจให้ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็กใส่ใจเรื่องนี้จนสร้างความยั่งยืนได้ทั้งระบบธุรกิจ

การไปถึงเป้าหมายดังกล่าวสถาบันการเงินสามารถตอบโจทย์ได้ 3 ด้านประกอบด้วย เรื่องแรกคือการให้ความรู้กับลูกค้าเกี่ยวกับข้อกำหนด และนโยบายเกี่ยวกับความยั่งยืนในระดับโลก เพื่อประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ตามด้วยการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อตอบโจทย์การเดินหน้าธุรกิจเพื่อตอบโจทย์เรื่องดังกล่าว

และสุดท้ายคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กับบริการใหม่ที่เน้นเรื่องความยั่งยืนโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อที่โจทย์เรื่องความยั่งยืน เช่น สินเชื่อเกี่ยวกับการติดตั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์, การบำบัดของเสียง รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน

ร่วมมือกันระหว่างธนาคารขับเคลื่อน ESG

ธนาคารกรุงเทพ มีการเดินหน้าตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond มานานกว่า 4 ปี และมีแผนพัฒนาเพิ่มขึ้น ทั้งอยู่ระหว่างร่วมมือกับธนาคารอื่น ๆ ในประเทศไทย รวมถึงแบงก์ชาติเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ ESG ร่วมกันในปี 2022 ผ่านการเข้าไปช่วยเหลือในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  เช่น พลังงาน, การผลิต และเกษตรกรรม เป็นต้น

“แต่ละอุตสาหกรรมมีความท้าทายที่แตกต่างกันในการลดคาร์บอน และต้องการเทคโนโลยีและเงินทุนเข้ามาช่วย ในประเทศไทยเรามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยจังหวัดสระบุรีจะกลายมาเป็นเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรก ท้ายที่สุดแต่ละภาคส่วนต้องทำงานเพื่อหาทางแก้ไขในแต่ละภาคส่วน และเดินหน้าต่อไปรับกับความท้าทายที่มีมากขึ้น”

การช่วยเหลือให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนเบื้องต้นอาจเป็นการช่วยให้ธุรกิจเหล่านั้นปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความยั่งยืนจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM เป็นต้น

แก้เกมปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ด้วย ESG

ปัจจุบันที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีน รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซีย กับยูเครน ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เช่น ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น แต่ภายในปัญหามักมีโอกาสเสมอ เช่น การลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนที่กำลังเติบโต เป็นต้น

“สำหรับในอาเซียนการลงทุนใหม่นั้นจำเป็นต้องมาพร้อมแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ทั้งในส่วนของบริษัท และภาครัฐ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติด้านความยั่งยืน” ชาติศิริ เสริม เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลในแต่ละประเทศเริ่มมีการกระตุ้นให้องค์กรต่าง ๆ ปฏิบัติตามหลักการ ESG มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจตามหลักความยั่งยืนยังมีความท้าทายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการตระหนักรู้อย่างแท้จริงเกี่ยวกับความยั่งยืน การจัดการวิธีการวางแผนการเปลี่ยนแปลงอย่างมีระบบผ่านการอ้างอิงข้อกำหนดทางเศรษฐกิจ และสังคม

อ้างอิง // The Economist

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา