ขาย FMCG ผ่าน Ecommerce จะช่วยค้าปลีกให้หลุดพ้นจากยุค Retail Apocalypse ได้หรือไม่?

อย่างที่เห็นกันว่าค้าปลีกหลายรายเข้ามารุกช่องทาง Ecommerce มากขึ้น เพราะคิดว่าเป็นอีกวิธีที่จะผ่านพ้นช่วง Retail Apocalypse ไปได้ แต่ทางเลือกนี้จะถูกต้องหรือไม่ ลองฟังมุมมองจากบริษัทวิจัย “กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล” กัน

ภาพ pixabay.com

สินค้าอื่นพอไหว แต่ FMCG ยังยาก

การกระโดดเข้ามาทำ Ecommerce ของค้าปลีกหลายรายนั้น ส่วนใหญ่จะเข้ามาครบไลน์ หรือตั้งแต่สินค้าแฟชั่น, เครื่องใช้ไฟฟ้า จนไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ซึ่งสองอย่างแรกนั้นสามารถเดินไปได้ด้วยดี แต่ FMCG ที่เป็นอีกสินค้าสำคัญของกลุ่มค้าปลีก กลับไม่เป็นที่นิยมในโลกออนไลน์นัก

คาร์เร็ต อิลิส ผู้อำนวยการด้านคอมเมอร์เชี่ยล บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เล่าให้ฟังว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างไม่เติบโตในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ก็คือสินค้า FMCG จะเติบโตลดลง โดยปี 2559 ทั่วโลกอยู่ที่ 1.3% และปีนี้คาดการณ์เติบโตเพียง 1.2%

คาร์เร็ต อิลิส ผู้อำนวยการด้านคอมเมอร์เชี่ยล บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด

และถึงค้าปลีกต่างๆ จะเริ่มรุกช่องทาง Ecommerce โดยอาศัยสินค้า FMCG เข้ามาช่วย กลับไม่ได้เป็นผลดีมากนัก เพราะปัจจุบันยอดขายเฉพาะสินค้ากลุ่มนี้ทั่วโลกผ่าน Ecommerce คิดเป็นมูลค่า 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท ในปี 2559 รวมถึงเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปี 2558 แต่นั่นก็เป็นเพียง 4.4% ของยอดขาย FMCG ทั้งหมด

ราคา และโปรโมชั่นคืออาวุธหลัก

“การที่ค้าปลีกเลือกที่จะหลุดพ้นจากช่วง Retail Apocalypse ด้วยการรุกช่องทาง Ecommerce เรื่องการตั้งราคาที่ถูกกว่า และทำโปรโมชั่นอยู่ตลอดยังเป็นเรื่องจำเป็น มิฉะนั้นก็ไม่สามารถแข่งกับผู้เล่นที่อยู่มาก่อนในตลาดได้ ซึ่งระหว่างลงทุนออนไลน์ ค้าปลีกก็ต้องทนเจ็บปวดกับการขาดทุนในช่วงแรกของการทำช่องทางนี้ด้วย”

พฤติกรรมการซื้อ FMCG ออนไลน์ของผู้บริโภค // ข้อมูลจาก กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล

ขณะเดียวกันพฤติกรรมผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ในแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน เช่นในเกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญ และคุ้นเคยในการซื้อสินค้าออนไลน์อยู่แล้ว ส่วนในกลุ่มยุโปรก็คุ้นเคยระดับหนึ่ง เพราะผู้บริโภคบางกลุ่มยังอยากเลือกสินค้าด้วยตนเองก่อนซื้อ ส่วนในประเทศไทยเรียกว่าอยู่ในช่วงตั้งไข่ก็ได้ ผ่านผู้บริโภคเพียง 4-5% ที่ซื้อ FMCG ออนไลน์ มีความถี่ 2-3 ครั้ง/ปี

ลุ้นตัวเลขไทยเติบโตช่วยค้าปลีก

อย่างไรก็ตาม การจับจ่าย FMCG ผ่านออนไลน์ของไทย น่าจะเติบโตเป็น 15-20% ของผู้บริโภคทั้งหมดภายในปี 2562 และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง โอกาสที่ตัวเลขการจับจ่าย 658 บาท/ครั้ง ซึ่งสูงกว่าการซื้อสินค้า FMCG ตามร้านค้าปลีกทั่วไปที่ 279 บาท/ครั้ง ก็อาจมีการเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้ แต่การเติบโตนี้น่าจะช่วยให้ค้าปลีกมีรายได้จากฝั่งออนไลน์มากขึ้นอัตโนมัติ

สรุป

การหลุดพ้นจาก Retail Apocalypse นั้น การขยับเข้ามาสู่ออนไลน์สามารถช่วยได้จริง แต่กว่าจะถึงจุดนั้น ค้าปลีกต่างๆ ต้องปรับตัว เรียนรู้ถึงการแข่งขันของ Ecommerce ที่ต้องเผาเงินเป็นอย่างมากเสียก่อน ถ้ารับไม่ได้ การจัดการตัวเองให้มีต้นทุนน้อยที่สุด และรักษาอัตรากำไรเอาไว้ให้ได้น่าจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา