ทางรอดเกษตรกร ขายเชอร์รี่ให้ได้กล่องละ 5 แสนเยนหรือประมาณ 1.2 แสนบาท

แค่เป็นประเทศที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวก็ยังไม่พอ แต่ต้องพลิกให้ผลผลิตกลายเป็นสินค้าเกรดพรีเมียมให้ได้ด้วย 

ฤดูประมูลเชอร์รี่รอบแรกของญี่ปุ่นมาถึงแล้ว! ล่าสุด ที่ตลาดค้าส่งในทางตอนเหนือของญี่ปุ่นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประมูลเชอร์รี่ระดับพรีเมียม ราคาสูงถึง 5 แสนเยนหรือประมาณ 1.2 แสนบาท

Cherry

เชอร์รี่เกรดพรีเมียมที่ว่านี้เป็นเชอร์รี่ระดับไฮเอนด์ เพิ่งจัดประมูลที่ตลาดค้าส่ง จังหวัดอาโอโมริ ประเทศญี่ปุ่น สายพันธุ์สุดหรูที่ว่านี้ เรียกว่าพันธุ์ “Juno Heart” กล่องหนึ่งจะบรรจุเชอร์รี่ 15 ผล เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่และมีคุณภาพดีที่สุด จัดประมูลในราคา 5 แสนเยนหรือประมาณ 1.2 แสนบาท แม้จะมีราคาที่ต่ำกว่าปีก่อนที่ประมูลอยู่ที่ 6 แสนเยน หรือประมาณ 1.47 แสนบาท แต่ก็ยังเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงมาก

เชอร์รี่สายพันธุ์ Juno Heart เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น โด่งดังมากในการนำมาทำเป็นของขวัญมอบให้กัน เพราะเป็นเชอร์รี่ที่มีรูปทรงคล้ายหัวใจ มีรสชาติที่อร่อย การขนส่งเชอร์รี่สุดพิเศษนี้เพิ่งเริ่มมีเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมานี้เอง จากนั้นก็เริ่มมีการผลิตเชอร์รี่สายพันธุ์นี้มากขึ้น สำหรับปีนี้มีการจัดประมูลรวม 114 กล่อง มากกว่าปีที่แล้วถึง 2 เท่า

เชอร์รี่สายพันธุ์นี้จะถูกซื้อโดยบรรดาร้านขายขนมหวานผ่านพ่อค้าคนกลาง ร้านที่ต้องใช้เชอร์รี่เพื่อตกแต่งหน้าเค้ก แต่ละชิ้นมีราคาตั้งแต่ 1,500 เยนไปจนถึง 8,000 เยน หรือประมาณ 300 กว่าบาทไปจนถึง 1,900 กว่าบาท (นี่คือราคาโดยประเมิน ยังไม่ได้บวกกำไรเพิ่ม) 

Juno Heart คิดค้นและพัฒนาสายพันธุ์โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งจังหวัดอาโอโมริเขาต้องใช้เวลาคิดค้นและพัฒนาวิจัยสายพันธุ์ยาวนานกว่า 24 ปี เพื่อทำให้เชอร์รี่สายพันธุ์นี้มีขนาดและรูปทรงที่เหนือกว่าเชอร์รี่สายพันธุ์อื่นๆ เป็นผลเชอร์รี่ที่มีสีแดงสดใส มีขนาดใหญ่ราว 28 มิลลิเมตรหรือประมาณ 2.8 เซนติเมตร ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่กว่าเชอร์รี่สายพันธุ์ Sato Nishiki ที่ถือว่าเป็นราชาแห่งเชอร์รี่ของญี่ปุ่นอีก 

ว่ากันว่าเชอร์รี่สายพันธุ์ Juno Heart มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “เชอร์รี่นำโชค” หรือ Lucky Cherries ที่ได้ชื่อนี้มาก็เพราะว่า เมื่อปี 2005 หรือประมาณเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุไฟป่าในบริเวณที่ใกล้กับศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมจังหวัดอาโอโมริ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังเพาะพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์นี้อยู่

แต่ความโชคดีก็คือ แม้ว่าไฟจะไหม้ลุกลามใกล้บริเวณที่ปลูกต้นเชอร์รี่สายพันธุ์นี้อยู่ แต่เชอร์รี่สายพันธุ์นี้ก็รอดชีวิตมาได้ ทำให้เป็นที่มาของชื่อ เชอร์รี่นำโชค ซึ่งที่มาของชื่อก็ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ยังรวมถึงชื่อที่นำมาจากเทพธิดา Juno หรือเทพที่เป็นผู้ควบคุมความสุขในครอบครัวของญี่ปุ่น รวมทั้งมาจากรูปทรงหัวใจของผลเชอร์รี่ด้วย

ที่มา – Japan Today, Mainichi, Visithachinohe

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา