แต่งตัวแนวกีฬาหลบไป! กางเกงยีนส์จะกลับมาครองตลาดอีกรอบ หลังยอดขาย Levi’s โตกระฉูด

หลังจากโดนการแต่งตัวแนวกีฬาแย่งตลาดไปหลายปี ในที่สุดการแต่งตัวแนววินเทจก็มีกระแสกลับมาอีกครั้ง ทำให้แบรนด์กางเกงยีนส์ได้อานิสงส์ไปเต็มๆ โดยเฉพาะ Levi’s ที่ยอดขายกลับมาเติบโต 8% ในรอบหลายสิบปี

กางเกงยีนส์ กับรองเท้าผ้าใบ // ภาพ pixabay.com

ถึงจุดสูงสุดของการแต่งตัวแนวกีฬาแล้ว

ระหว่างปี 2554-2559 การแต่งตัวแนวกีฬา เช่นการใส่ Sweat Pants หรือกางเกงกีฬาขายาวผ้ายืด, สวมใส่รองเท้าผ้าใบ และใส่เสื้อยืดแนว Street นั้นเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ถึงขนาดตลาดเครื่องแต่งกายแนวกีฬาในสหรัฐอเมริกาเติบโตถึง 30% ในช่วงเวลาดังกล่าว หรือเฉลี่ยเติบโตปีละ 7% เลยทีเดียว

ส่วนเครื่องแต่งกายประเภทอื่นนั้นเติบโตเพียง 1%/ปี เท่านั้น เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลของธนาคาร Well Fargo และทำให้ Adidas, Under Armour และ Nike ได้อานิสงส์ไปเต็มๆ เพราะมีผู้บริโภคเข้ามาเลือกซื้อสินค้าจำนวนมาก ส่วนแบรนด์เสื้อผ้าทั่วไปอย่าง Gap, J. Crew และ Forever 21 กลับมียอดขายไม่สู้ดีนัก

แต่ในปี 2561 จะไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป เพราะมีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า กระแสการแต่งตัวแนวกีฬาได้ถึงจุดสูงสุดแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางแฟชั่น โดยแนววินเทจจะเวียนกลับมาเป็นที่นิยมอีกรอบ เพราะเมื่อตรวจสอบรายงานงบประมาณประจำปี 2560 ของหลายบริษัทที่ขายกางเกงยีนส์เป็นหลัก ก็พบเรื่องน่าประหลาดใจ

Adidas // ภาพโดย Brand Now Asia (Own work) [CC BY-SA 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons

เช่น Calvin Klein ที่มียอดขายเติบโตเกินกว่าที่กลุ่มบริษัท PVH ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ คาดการณ์ไว้เยอะมาก นอกจากน้แบรนด์ Levi’s ก็มียอดขายเติบโต 8% ในรอบหลายสิบปี ปิดที่ราว 4,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.5 แสนล้านบาท) แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่อยากแต่งตัววินเทจ หรือย้อนไปยุค ’90s กันมากขึ้น

นอกจากนี้แบรนด์เสื้อผ้ายุคใหม่อย่าง Madewell, Gap, Abercrombie & Fitch และ American Eagle ก็ได้อานิสงส์นี้เช่นเดียวกัน ยิ่งแบรนด์วัยรุ่นอย่าง Abercrombie & Fitch ที่ฟื้นจากยอดขายไม่ดีมา 6 ปีซ้อน กลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากยอดขายในร้านเดียวกันเพิ่ม 4% โดยเฉพาะกับแบรนด์ Hollister

สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องแต่งกายแนวกีฬาของสหรัฐฯ ในปี 2560 อยู่ที่ 48,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.4 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นเพียง 2% เมื่อเทียบกับปี 2559 ถือเป็นการเติบโตที่น้อยมาก ดังนั้นโอกาสที่การแต่งตัวแนวกีฬาในประเทศอื่นๆ ที่จะเสื่อมความนิยมลงก็มีสูง

สรุป

แฟชั่นเป็นเรื่องของกาลเวลาจริงๆ ซึ่งในประเทศไทยตอนนี้ความนิยมในการแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายแนวกีฬาก็ยังนิยมอยู่ประมาณหนึ่ง แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตามกระแสนิยมทั่วโลกแน่นอน และนั่นอาจสร้างความลำบากให้กับร้านจำหน่ายเครื่องแต่งกายแนวกีฬาที่กำลังอู้ฟู่ในตอนนี้อยู่ก็เป็นได้

อ้างอิง // Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา