ญี่ปุ่นงัดกลยุทธ์ โปรโมทการท่องเที่ยวด้วยอินฟลูเอนเซอร์ ได้ผลแม้คนดูรู้ว่าเป็นโฆษณา

องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ใช้กลยุทธ์ร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังเพื่อทำคอนเทนต์ท่องเที่ยวในสถานที่ได้รับความนิยมน้อย

Chomad อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังสายท่องเที่ยวจากแดนโสมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะเขามียอดผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคนบน Instagram และเกือบ 780,000 คนบน YouTube โดย เขาได้เผยแพร่วิดีโอที่ตัวเองท่องเที่ยวในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในจังหวัดมิเอะของญี่ปุ่นที่มีจุดเด่นคืออาหารทะเลกับกลุ่มอามะซัง (นักดำน้ำผู้หญิงที่ทำอาชีพหาอาหารทะเลโดยไม่ใช้อุปกรณ์สมัยใหม่ช่วย)

คลิปนี้ของ Chomad มียอดผู้ชม 37,000 ครั้งบน YouTube และมียอดกดไลก์บน Instagram กว่า 24,000 ครั้ง เเถมยังได้ผลตอบรับที่ดีจากสนใจจากคนจำนวนมากที่มองว่าหมู่บ้านดูเงียบสงบและน่าเที่ยวมากกว่าเมืองใหญ่อย่างโตเกียวหรือโอซาก้าเสียอีก 

โดยเรื่องนี้ก็ ไม่ใ่ช่ความบังเอิญแต่เกิดจากความพยายามของ JNTO ที่มองหาอินฟลูเอนเซอร์มาช่วยสร้างความสนใจให้สถานที่ท่องเที่ยวที่ยังไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว สืบเนื่องจากที่ญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2030 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ 60 ล้านคนโดยจะผลักดันให้เดินทางมาเที่ยวซ้ำและไปในที่ที่ได้รับความนิยมน้อยกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการมีนักท่องเที่ยวมากเกินไปในจุดท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูชุมชนในพื้นที่โซเชียลมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์จึงกลายเป็นกลยุทธ์มือสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความสนใจใหม่ ๆ ให้เเก่สถานที่ท่องเที่ยวที่ยังอยู่นอกสายตาของนักท่องเที่ยว

จากผลสำรวจในปี 2022 จากองค์กรด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเผยว่า แหล่งข้อมูล 3 อันดับแรกที่นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้ในการหาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก 22.8% ตอบว่ามาจากญาติและเพื่อน 21.9% ใช้โซเชียลมีเดีย ขณะที่ 21.4% หาข้อมูลจากแห่งแชร์วิดีโอ

Hideki Tomioka ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวของนักเดินทางต่างประเทศประจำ JNTO เผยว่า องค์กรของเขาได้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี 2017 แต่นักท่องเที่ยวมีมุมมองว่า JNTO  จะพูดเเต่เรื่องเชิงบวกของญี่ปุ่น ทำให้การสื่อสารให้เข้าถึงนั้นเป็นไปได้ยาก ในทางตรงกันข้าม นักท่องเที่ยวกลับมีอคติน้อยกว่าเมื่อชมคอนเทนต์ของอินฟลูเอนเซอร์ ถึงแม้จะรู้ว่าวิดีโอหรือคอนเทนต์นั้นได้รับการสนับสนุนจาก JNTO อยู่ดี

อามะซังในญี่ปุ่น

ไม่ได้มีการเปิดเผยว่า JNTO ร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์ไปเเล้วกี่ราย แต่โดยปกติจะร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์หลายรายต่อการทัวร์หนึ่งครั้ง โดยแต่ละคนจะทำคอนเทนต์ในเเนวทางและวิธีการเล่าของตัวเองเพื่อให้ตรงกับจริตของผู้ติดตาม อีกส่วนหนึ่งเนื้อหาจะขึ้นอยู่กับความเป็นที่รู้จักของญี่ปุ่นในประเทศของอินฟลูเอนเซอร์ด้วย

อย่างเช่นสิงคโปร์ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเข้าญี่ปุ่นซ้ำเกือบ 70% นับว่าเป็นประเทศที่รู้จักญี่ปุ่นดีอยู่แล้ว คอนเทนต์ที่สื่อออกไปก็จะเป็นเชิงลึกมากขึ้น เป็นสถานที่ที่คาดว่านักท่องเที่ยวไม่เคยรับรู้มาก่อนหรือรับรู้น้อย

Tomioka อธิบายว่า การผลักดันให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปในสถานที่ที่เป็นที่นิยมน้อยกว่ามาจากปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยวมากเกินไปในจุดท่องเที่ยวยอดนิยมที่กลับมาเปิดหลังช่วงโควิด-19 ขณะที่ผู้คนมีแนวโน้มที่จะมีความสนใจตามอินฟลูเอนเซอร์ในเรื่องการเดินทางไปสถานที่ที่เฉพาะเจาะจง

อิทธิพลของอินฟลูเอนเซอร์

อินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลมากกับธุรกิจและการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น เห็นได้จากที่ JNTO ไม่ใช่องค์กรเดียวที่พึ่งพาอินฟลูเอนเซอร์ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ บริษัทการตลาดหลายแห่งในญี่ปุ่นเริ่มที่จะใช้วิธีนี้ในการโฆษณาสินค้าและการท่องเที่ยว

Carta Marketing Firm เป็นบริษัทหนึ่งในหลายแห่งที่ให้บริการการทำการตลาดโดยใช้อินฟลูเอนเซอร์สำหรับลูกค้าที่รวมถึงรัฐบาลทั้งถิ่นที่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน 

Ryosuke Sasaki นักวางแผนกลยุทธ์ของบริษัทกล่าวว่า แม้จะเพิ่งเปิดให้บริการอินฟลูเอนเซอร์ในปีที่แล้วแต่ก็ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากกลุ่มลูกค้า เพียงแค่ 3 เดือนแรก เกือบ 50% เป็นโปรเจกที่มุ่งเจาะกลุ่มตลาดต่างประเทศแทนที่แบบเดิมที่ให้บริการตลาดภายในประเทศเป็นหลัก

การทำงานกับอินฟลูเอนเซอร์ก็มีการเปลี่ยนรูปแบบไปด้วย อย่างเช่นหากลูกค้าของบริษัทต้องการขายไวน์ จากเดิมจะเป็นการส่งไวน์ไปให้อินฟลูเอนเซอร์รีวิว แต่ในปัจจุบัน มีการเชิญอินฟลูเอนเซอร์มาสำรวจโรงกลั่นไวน์ทำให้ทำการตลาดได้ทั้งผลิตภัณฑ์ไวน์เองรวมถึงการโปรโมทโรงกลั่นให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ได้ด้วย 

อนาคตการตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์

แม้ว่าญี่ปุ่นจะใช้กลยุทธ์การตลาดโดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ดึงดูดนักท่องเที่ยวในสถานที่ที่ได้รับความนิยมรองลงมา แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะวัดผลว่าอะไรเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการที่นักท่องเที่ยวจะตัดสินใจว่าจะเดินทางไปสถานที่ไหนบ้างเพราะส่วนใหญ่มาจากหลายเหตุผล

อย่างไรก็ตาม JNTO พยายามคำนวณจำนวนผู้มองเห็นและผู้มีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ของอินฟลูเอนเซอร์ในการร่วมงานในแต่ละครั้ง ในบางครั้งจำนวนผู้ชมก็มีมากกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ ทำให้เห็นอิทธิพลของอินฟลูเอนเซอร์อย่างต่อเนื่อง 

ญี่ปุ่นยังเห็นโอกาสมากขึ้นจากการโฆษณาประเทศโดยใช้วิธีนี้เพราะคนมากขึ้นพึ่งพาโซเชียลมีเดียเป็นแหล่งข้อมูลหลักไม่ว่าจะในกลุ่มผู้ที่อายุน้อยหรืออายุมาก 

ที่มา – Japan Times

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา