ปัญหาสังคมสูงวัยทำให้ญี่ปุ่นพิจารณาเปิดรับแรงงานต่างชาติในหลากสาขาอาชีพเข้ามาอยู่ยาว หลังจากก่อนหน้านี้เข้มงวดเรื่องนโยบายย้ายถิ่นฐานมาโดยตลอด
ญี่ปุ่นอาจมอบสิทธิประโยชน์เพิ่มให้ต่างชาติใน 14 สายงานที่ขาดแคลน
สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาเปิดให้แรงงานต่างชาติใน 14 อุตสาหกรรม อยู่ในประเทศได้อย่างไม่มีกำหนด ภายในปีงบประมาณที่กำลังจะถึง เพื่อทดแทนภาวะการขาดแคลนแรงงานที่เป็นผลสืบเนื่องจากสังคมสูงวัยในประเทศญี่ปุ่น
ภายใต้นโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติฉบับเก่าที่มีมาตั้งแต่ปี 2019 ญี่ปุ่นเปิดรับแรงงานต่างชาติจาก 14 อุตสาหกรรมที่ขาดแคลน เช่น ภาคการผลิต ภาคบริการ การเกษตร และบริการทำความสะอาด เข้ามาทำงานในประเทศ โดยสามารถเข้ามาอยู่ได้เพียง 5 ปี และห้ามพาครอบครัวมาอยู่ด้วย
ทั้งนี้ มีแรงงานใน 2 อุตสาหกรรม เท่านั้นที่มีสิทธิขอวีซ่าต่อได้ไม่จำกัดหากไม่มีประวัติอาชญากรรมและมีสิทธิพาครอบครัวมาอยู่ด้วยคือแรงงานมีทักษะในอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเรือ
ภายใต้นโยบายใหม่ที่กำลังพิจารณากันอยู่ แรงงานจากทั้ง 14 อุตสาหกรรม จะมีสิทธิต่างๆ เช่น
- ขอต่อวีซ่าได้โดยไม่มีกำหนด
- ขอมีถิ่นที่อยู่ถาวรหรือ Permanent Residency (PR) หากอยู่อาศัยในประเทศญี่ปุ่นเกิน 10 ปี
สังคมสูงวัยทำญี่ปุ่นคิดใหม่เรื่องประชากร
สาเหตุที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนท่าทีจากที่เคยมีนโยบายการย้ายถิ่นฐานที่เข้มงวดมาสู่การเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้นเป็นเพราะปัญหาสังคมสูงวัยในประเทศ ที่ล่าสุดมีรายงานว่า มีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยสุดในรอบ 100 ปี หรือตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มทำการสำรวจสำมะโนประชากรเลยทีเดียว
นอกจากนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติแล้ว เราจึงได้เห็นนโยบายอื่นๆ ของญี่ปุ่นเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานอีกมากมายทั้งจากรัฐและเอกชน เช่น
- เสนอทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เพิ่มเวลาให้หนุ่มสาวพบกัน
- ทุ่มงบพัฒนา AI ช่วยจับคู่คน
- ขยายอายุเกษียณจาก 65 ปี เป็น 80 ปี
- จ้างแรงงานอายุเกิน 80 ปี
- อัดฉีดนโยบายการมีบุตร เช่น มอบ 100,000 เยน ให้กับครอบครัวที่มีเด็กเกิดใหม่
ที่มา – Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา