เทรนด์ใหม่ ญี่ปุ่นเตรียมจ้างงานคนอายุเกิน 80 ปี แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน

สำหรับญี่ปุ่นแล้ว ประเด็นขาดแคลนแรงงานอย่างหนักยังเป็นปัญหาของประเทศอยู่ แม้ก่อนหน้านี้พยายามจะจ้างคนต่างชาติ พยายามจะยืดอายุวัยเกษียณเพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาบ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

กระทรวงกิจการภายในระบุไว้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า จากการประเมินจำนวนประชากรญี่ปุ่น พบว่า มีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปราว 36.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 220,000 คนจากปีก่อนหน้า สัดส่วนจำนวนประชากรผู้สูงวัยอยู่ที่ 29.1% เป็นอัตราที่สูงที่สุดจาก 201 ประเทศทั่วโลก ชายสูงวัยมีจำนวน 15.83 ล้านคน หรือประมาณ 26% ของจำนวนประชากรชายโดยรวม หญิงสูงวัยมีจำนวน 20.57 ล้านคน หรือประมาณ 32% ของจำนวนประชากรหญิง

บริษัทญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องพึ่งพาแรงงานสูงวัยอย่างหนัก ทั้งนี้ก็เพื่อทดแทนแรงงานหนุ่มสาวที่กำลังขาดแคลน ก่อนหน้านี้ หนึ่งในบริษัทที่ประสบปัญหาก็คือบริษัท Nojima เพิ่งจะขยายเวลาเกษียณอายุของคนทำงานจาก 65 ปี เป็น 80 ปีในช่วงปี 2020 ตอนนี้กำลังคิดจ้างงานคนสูงวัยกว่า 80 ปีเข้ามาทำงานแล้ว สำหรับเทรนด์ดังกล่าวนี้ ไม่ได้มีแค่ Nojima ที่เป็นค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น  แต่ยังมีผู้ผลิตซิปอย่าง YKK ก็เริ่มทำด้วย

สำหรับ Nojima นั้น เตรียมให้คนที่มีอายุเกิน 80 ปีทำงานได้ โดยมีผลในเดือนตุลาคม 2021 นี้ ขณะที่ YKK Group ผู้ผลิตซิปรายใหญ่ก็เตรียมขจัดเพดานอายุในการทำงานเพื่อรักษาแรงงานไว้เช่นกัน

Photo : Shutterstock

บริษัท Nojima ไม่ได้พึ่งพาพนักงานเพื่อให้มาสนับสนุนสายการผลิตในร้าน แต่พิจารณาจากพนักงานขายที่มีฐานความรู้ด้านสินค้ากว้างขวางและฐานลูกค้าแน่น เหล่านี้ถือเป็นสินทรัพย์ของบริษัท ปัจจุบันมีพนักงานประจำ 3,000 คน มีคนสูงวัยที่อายุ 75 ปีขึ้นไปราว 10 คน บริษัทกำลังต้องการจ้างพนักงานใหม่ที่มีอายุเกิน 80 ปี

พนักงานที่สูงวัยเหล่านี้จะได้รับค่าแรงราว 1.2 แสนเยน หรือ 1,056 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3 หมื่นกว่าบาทต่อเดือน ทำงานวันละ 5 ชั่วโมงต่อวัน 4 วันต่อสัปดาห์ ส่วนพนักงานที่ยังทำงานอยู่ก็จะได้รับการขยายอายุการทำงานเพิ่ม หากยังมีสุขภาพที่ดีและไม่ได้คัดค้านต่อการจ้างงานดังกล่าว

ข้อมูลจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยประชากรและความมั่นคงทางสังคมของญี่ปุ่น ระบุว่า สัดส่วนจำนวนคนสูงวัยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1950 คาดว่าจะสูงขึ้นถึง 35.3% ในปี 2040 ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่คนยุค baby-boomer หรือคนที่เกิดช่วงต้นทศวรรษ 1970 มีอายุราว 65 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ จำนวนคนสูงวัยที่กำลังทำงานในปี 2020 มีมากถึง 9.06 ล้านคน ถือว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันยาวนาน 17 ปี คิดเป็น 13.6% ของจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และเป็นสัดส่วน 25.1% ของจำนวนประชากรสูงวัยทั้งหมด

จำนวนคนทำงานที่เป็นคนสูงวัยนี้ ทำงานอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งราว 1.28 ล้านราย ถือเป็นอุตสากหกรรมที่มีคนทำงานกลุ่มนี้ขนาดใหญ่ที่สุด ตามด้วยคนทำงานในภาคเกษตรและป่าไม้ราว 1.06 ล้านราย และในภาคบริการราว 1.04 ล้านราย ขณะที่คนทำงานสูงวัยในกลุ่มที่ไม่ใช่การทำงานทั่วไปราว 3.9 ล้านรายซึ่งจำนวนคนทำงานสูงวัยที่ว่ามานี้ยังไม่นับรวมกลุ่มผู้บริหาร กลุ่มที่เป็นนายจ้างของตัวเอง

ที่มา – Nikkei Asia, Japan Times 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา