ความเหงาสร้างปัญหา ญี่ปุ่นตั้งรัฐมนตรีดูแลความเหงาหวังแก้ปัญหาคนเหงาหนักจนฆ่าตัวตาย

เรามาถึงจุดที่ความเหงาเริ่มสร้างปัญหาให้สังคม การระบาดของโควิด-19 ล่าสุด ส่งผลกระทบทำให้คนต้องทำงานระยะไกลและขาดการรวมตัวทางสังคมเพิ่มขึ้น นำไปสู่การทำงานลำพังของผู้คนมากมาย ญี่ปุ่นมีการระบาดของโควิดระลอกสามแล้ว มีการสั่งล็อคดาวน์จนทำให้ผู้คนเครียดและเหงามากขึ้น การระบาดของโควิดเชื่อมโยงกับการแยกตัวอยู่ลำพังของผู้คน จนเป็นเหตุให้คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดครั้งแรกในรอบทศวรรษ

Yoshihide Suga โยชิฮิเดะ สุงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
(Photo by Charly Triballeau – Pool/Getty Images)

ปัญหาการฆ่าตัวตายของญี่ปุ่นคือเรื่องใหญ่ที่นายกรัฐมนตรี Yoshihide Suga ให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น แต่เรื่องนี้ถึงขั้นตั้งตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีขึ้นมาเพื่อบรรเทาความเหงาที่กำลังเป็นปัญหา ซึ่งบุคคลที่รับหน้าที่จัดการความเหงานี้คือ Tetsushi Sakamoto 

เขาจบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Chuo เริ่มเส้นทางชีวิตการทำงานด้วยอาชีพนักเขียนในวัย 25 ปีที่สำนักข่าว Kumamoto Nichinichi Shimbun ยาวนาน 15 ปี จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองเป็นเวลา 30 ปี ปัจจุบันเขามีอายุ 70 ปีแล้ว

นายกรัฐมนตรี Suga กล่าวกับ Sakamoto ว่า อัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นนี้เกิดขึ้นมากโดยเฉพาะกับผู้หญิง (ซึ่งก็เป็นไปตามผลสำรวจจากสำนักวิจัยและการรายงานของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ระบุไว้ก่อนหน้าว่ามีผู้หญิงและเด็กฆ่าตัวตายในอัตราสูงเพิ่มขึ้น) นาย Suga ระบุว่า อยากให้ Sakamoto ไปตรวจสอบประเด็นนี้เพื่อที่จะจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่สามารถแก้ปัญหาได้ครอบคลุม

ญี่ปุ่น Japan
Photo by Louie Martinez on Unsplash

ทั้งนี้ Sakamoto จะต้องอยู่ในทีมที่สทำงานเพื่อสื่อสารข้ามหน่วยงานและจะต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดประจำฉุกเฉินเพื่อหาทางออกสำหรับปัญหานี้ในช่วงต้นเดือนหน้า เขาหวังว่าจะสามารถสร้างกิจกรรมที่นำไปสู่การป้องกันความเหงาและการแยกตัวอยู่ลำพังได้ รวมถึงต้องปกป้องความสัมพันธ์ของผู้คน นอกจากนี้ Sakamoto ยังมีหน้าที่ทำให้ประเทศมีชีวิตชีวามากขึ้น 

Sakamoto ระบุว่า เขาอาจจะต้องร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตาย และกระทรวงเกษตรเพื่อทำเรื่องธนาคารอาหาร (food bank) เพื่อจัดมาตรการรับมือกับกรณีดังกล่าวได้ดีขึ้น 

เรื่องการตั้งรัฐมนตรีดูแลความเหงานี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ในปี 2018 อังกฤษก็เคยแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อดูแลความเหงา ในญี่ปุ่น ความเหงาสร้างผลกระทบต่อผู้คนทุกช่วงวัย มีทั้งวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว ผู้หญิงและผู้สูงวัย โดยเฉพาะช่วงที่เกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ เช่น เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่โกเบสมัยปี 1995 แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่ฟุกุชิมะเมื่อปี 2011

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ประสบภัยสูงวัยไม่มีทางเลือกในการพักอาศัย ต้องไปพำนักที่บ้านให้พักชั่วคราวที่ในเวลาต่อมา พวกเขาก็เสียชีวิตโดยที่ไม่มีใครอยู่เคียงข้างด้วย การตายหรือการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเช่นนี้ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โคโดคุชิ (Kodokushi) ที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในญี่ปุ่น 

ญี่ปุ่น Japan
Image by Jason Goh from Pixabay

โรคระบาดยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง ทำให้คนต้องอยู่บ้านลำพัง หลีกเลี่ยงที่จะอยู่รวมตัวกับคนหมู่มาก อีกทั้งคนสูงวัยที่ไม่ได้คุ้นชินกับการสื่อสารออนไลน์ต้องกลายเป็นอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่คนหนุ่มสาวจะคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีมากกว่า พวกเขากำลังได้รับผลกระทบกับมาตรการที่ต้องแยกตัวออกจากสังคม ขณะเดียวกันก็มีจำนวนมากที่สูญเสียงาน กำลังเผชิญกับความทุกข์ยากจากพิษเศรษฐกิจ

รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่าการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้นคือความท้าทายที่รัฐฯ ต้องจัดการดูแล ผู้หญิงมีอัตราฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี เป็น 6,976 คน ขณะที่เด็กนักเรียนวัยประถมมีการฆ่าตัวตายรวม 440 คน เป็นจำนวนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1980 

ญี่ปุ่นมีการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 14.9 คนต่อ 100,000 คน ทั้งนี้ ตามความเข้าใจในสหรัฐฯ และยุโรปนั้นมองว่า อารมณ์ความรู้สึกจากความเหงา สามารถนำไปสู่โรคหัวใจและอีกหลายโรคด้วยกัน 

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา