คุยกับ dtac ในวันที่คนพูดถึง rewards มากกว่า data | สัมภาษณ์ Andrew Kvalseth หัวเรือใหญ่ฝ่ายดิจิทัล

ก่อนที่ปี 2017 จะผ่านพ้นไป Brand Inside สัมภาษณ์หัวเรือใหญ่ทีมดิจิทัลของ dtac หลังมีความท้าทายจากหลายทิศทาง ทั้งบริการใหม่ LINE MOBILE วงการสตาร์ทอัพ รวมถึงเป้าหมายแบรนด์ดิจิทัลอันดับ 1 ของไทยในปี 2020

Andrew Kvalseth รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดิจิทัล ดีแทค

ไม่ใช่เรื่องที่คิดกันไปเอง เพราะถ้าหยิบยกประเด็นเรื่อง “สัญญาณดีแทค” โพล่งขึ้นมาในวงสนทนากับเพื่อนฝูง กับคนรู้จัก หรือแม้แต่กับบรรดา Influencer ทั้งหลายในวงการโทรคมนาคมบ้านเรา คำตอบที่มักจะได้คือ ในหลายจุด สัญญาณมีปัญหาจริง และในหลายสถานที่ สัญญาณ dtac หยุดนิ่ง แต่อีก 2 ค่ายสัญญาณยังคงใช้งานได้

“ช่วงหลังมานี้ ผมก็ได้ยินเหมือนกันว่า เวลาที่คนพูดถึง dtac เขาพูดถึง rewards มากกว่า data” ส่วนหนึ่งในคำให้สัมภาษณ์ของ Andrew Kvalseth รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดิจิทัล ดีแทค

Brand Inside มีโอกาสได้จับเข่าคุยกับหัวเรือใหญ่ดิจิทัลกรุ๊ป ทีมใหม่ที่ dtac สร้างขึ้นเพื่อรองรับกระแส Digital Transformation แต่สำหรับคำตอบเรื่องสัญญาณของ Andrew จะหมายความว่าอย่างไรนั้น คงต้องจับใจความกันเอง เพราะถ้าว่ากันตามจริง Andrew ไม่ได้มีหน้าที่ในส่วนนี้โดยตรง และที่สำคัญไปมากกว่านั้น ชายคนนี้มีความท้าทายในหลายส่วนรออยู่แล้ว

ผังแสดงการทำงานของ Digital Group

Digital Group ทีมใหม่ที่ dtac สร้างขึ้น รองรับ Digital Transformation

เพื่อความเข้าใจ ผังด้านบนแสดงให้เห็นว่า Digital Group ที่เป็นทีมใหม่ของ dtac และมี Andrew เป็นหัวเรือใหญ่กำลังโฟกัสไปที่อะไรบ้าง ที่ค่อนข้างชัดเจนคือ Digital Care, Digital Sales, Digital Marketing และ Digital Strategy เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร บริษัทที่ไหนในยุคนี้ก็ต้องทำ ไม่ว่าจะในแง่การขาย การดูแลลูกค้า การทำการตลาดและกลยุทธ์ อย่างน้อยที่สุดทั้งหมดนี้ต้องอยู่บนดิจิทัล ใช้ AI เข้ามาช่วยเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ หรือด้านการทำงานก็ใช้วิธีแบบแนวคิดการทำงานรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Agile and Scrum

แต่ที่เราจะคุยกันวันนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่หมวด New Investment เพราะหมวดนี้ตกเป็นประเด็นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งตัวของ dtac Accelerate ที่ดำเนินมา 5 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ทำกำไร และอีกตัวคือ LINE MOBILE ที่เปิดตัวตอนแรกเป็นกระแสแรงมาก (จะบวกหรือลบแล้วแต่คนมอง) จนถึงวันนี้ เป็นอย่างไรกันบ้าง?

 

เช็คอาการ LINE MOBILE : กว่า 2 เดือนแล้วที่ “สร้างขึ้นมา Disrupt ตัวเอง”

หนึ่งในโฟกัสของ Digital Group ของ dtac คือ LINE MOBILE และนับจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วที่ได้เปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

Q : ในฐานะผู้บริหารฝ่ายดิจิทัล ที่ดูแล LINE MOBILE โดยตรง ผ่านมา 2 เดือน คุณีข้อมูลอะไรอัพเดทให้เราฟังบ้าง?

A : ผมต้องบอกว่า LINE MOBILE กำลังไปได้ดี แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลอะไรที่จะแชร์สู่สาธารณะได้มากกว่าครั้งก่อนนัก แต่อย่างที่บอก LINE MOBILE เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดแมส เพศหญิงเป็นสัดส่วนที่ใช้มากกว่า

Q : ถึงตอนนี้ มองว่า LINE MOBILE เป็นตัวที่มาช่วยเรื่องภาพลักษณ์ของ dtac หรือไม่?

A : สำหรับคำถามนี้ ผมขอพูดให้เคลียร์ตรงนี้ว่า LINE MOBILE ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเกี่ยวอะไรกับ dtac เลย แต่ต้องคิดว่าอยู่ภายใต้ DTN เพราะฉะนั้นความสำเร็จของ LINE MOBILE จะแยกออกจาก dtac ไม่เกี่ยวข้องกัน เราย้ำชัดแล้วว่า “เกิดขึ้นมาเพื่อ disrupt ตัวเอง”

Q : แล้วทีมงาน LINE MOBILE ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

A : ตอนนี้เรามีทีมงาน 30 คนในทีม ยังแยกการทำงานกับ dtac เหมือนที่เคยบอกไปตั้งแต่ต้น ในทีมเราดึงคนเก่งๆ จากสตาร์ทอัพมาร่วมงาน เช่น Grab เป็นต้น เราต้องการสร้างความแตกต่าง ด้วยขนาดทีมประมาณนี้ ผมคิดว่าพอแล้ว เราไม่ต้องการใหญ่ไปมากกว่านี้

Q : ในอนาคตมีโอกาสที่จะทำงานร่วมกันหรือไม่ ระหว่างทีม LINE MOBILE กับ dtac?

A : อันนี้เป็นเรื่องของอนาคต อาจมีการทำงานร่วมกันเพื่อส่งบริการที่ดีให้กับลูกค้าของเรา แต่ ณ ตอนนี้ ผมขอยืนยันว่ายังแยกกันทำงานอยู่ตามที่บอกไปแล้วทุกประการ

สำหรับในแง่แนวคิดของ LINE MOBILE นั้น Andrew บอกว่า เอามาจากแนวคิดของธนาคารดิจิทัล (Digital Bank) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในโลก เช่น นอร์เวย์ อังกฤษ ซึ่งหมายความว่าบริการทุกอย่างอยู่บนออนไลน์ทั้งหมด ไม่ต้องไปสาขา

  • Brand Inside เคยเขียนเรื่องธนาคารดิจิทัลไว้ ลองอ่านเพิ่มเติมประกอบความเข้าใจได้ที่ DBS ธนาคารดิจิทัล และ JPMorgan Chase

อัพเดทวงการสตาร์ทอัพ dtac Accelerate | 5 ปีผ่านไป แต่ยังไม่ทำกำไร

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีสำหรับการปั้นสตาร์ทอัพในประเทศไทย dtac ถือเป็นรายหนึ่งในตลาด หรืออาจเรียกว่าเป็นเบอร์ 1 ในตลาดที่ทำเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว

Q : 5 ปีที่ผ่านมา dtac Accelerate ในสายตาของคุณเป็นอย่างไรบ้าง?

A : จริงๆ 5 ปีที่ผ่านมา เหมือนจะมีโฟกัส แต่ต้องบอกว่าการปั้นสตาร์ทอัพของเราไม่ใช่การตั้งเป้าให้เป็นแบบนั้น-เป็นแบบนี้ เพราะเราต้องการความหลากหลาย ทั้งตัวทีมของสตาร์ทอัพและธุรกิจที่สร้างสรรค์ขึ้น

Q :  แล้วกังวลไหมว่า dtac Accelerate เป็นหน่วยในการลงทุนของฝ่ายดิจิทัล แต่ยังไม่ทำกำไร?

A : โดยหลักแล้ว การลงทุนในทางธุรกิจก็ต้องทำกำไร แต่ในเวลา 5 ปีสำหรับสตาร์ทอัพถือเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก เราเลยไม่ได้หวังตรงนั้นเป็นหลัก แต่เราหวังให้เกิดการเติบโตที่เป็นไปได้กับ impact ที่เกิดขึ้นในสังคมมากกว่า อย่างทุกวันนี้เวลาที่ผู้คนพูดถึงสตาร์ทอัพ ชื่อของ dtac ก็เป็นสิ่งแรกที่คนนึกถึง ถ้าถามเรื่องการทำเงินผมว่าต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปี

Q : แต่ถ้าติดตามข่าวจากรอบโลกจะเห็นว่า ยุคทองของสตาร์ตอัพจบลงแล้ว ยุคต่อไปบริษัทใหญ่ได้เปรียบมากกว่า dtac มองอย่างไรกับประเด็นนี้ แล้ว dtac Accelerate ปี 6 ที่จะจัดขึ้นในปีหน้าจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือทิศทางอย่างไรบ้าง?

A : ในทางธุรกิจมันก็จริง ในปีหน้าเราจึงจะร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ที่อยากให้การสนับสนุนมากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่า ถ้าให้บริษัทมาลงทุนมาก เราก็จะสูญเสียความเป็น “สตาร์ทอัพ” ที่ต้องการความสร้างสรรค์ ริเริ่ม สดใหม่ และความหลากหลายของสตาร์ทอัพแต่ละรายไป

Andrew เสริมไว้ว่า ประเทศไทยยังขาด Data Scientist แต่ถ้าถามว่าทำอย่างไร อันนี้ตอบยาก ต้องใช้ทั้งเวลาและทรัพยากร เอาเข้าจริงแล้ว นี่คือเรื่องใหญ่ของประเทศไทยเลยทีเดียว สำหรับเรื่องสตาร์ทอัพหัวเรือใหญ่ดิจิทัล มองว่า ประเทศไทยได้เปรียบในแง่ของ “ความสัมพันธ์” ทั้งครอบครัว บริษัท สภาพแวดล้อมต่างเอื้อให้เกิดและทำให้สตาร์ทอัพมีชีวิตอยู่ได้ แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกมากที่ทั้งควบคุมได้และควบคุมไม่ได้

Andrew Kvalseth รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดิจิทัล ดีแทค

ความท้าทายที่รออยู่ของ dtac | คลื่น สัญญาณ บริการ และเป้าหมายเรื่องดิจิทัล

“ช่วงหลังมานี้ ผมก็ได้ยินเหมือนกันว่า เวลาที่คนพูดถึง dtac เขาพูดถึง rewards มากกว่า data”

Andrew บอกว่า เป็นเรื่องจริงที่คนพูดถึง dtac ว่า rewards นั้นเป็นสิ่งที่จับต้องได้จริงๆ สิ่งนี้เป็นการตอกย้ำความเป็นแบรนด์ที่ Feel Good ของ dtac ส่วนเรื่องสัญญาณที่มีคนพูดถึงในแง่วิจารณ์ นั่นก็เป็นเรื่องที่ “ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ใช้งาน” บางครั้งการเปรียบเทียบแบบนี้ก็เกิดขึ้นได้เสมอ

Q : dtac ตั้งเป้าว่าจะเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งด้านดิจิทัลในประเทศไทยในปี 2020 วันนี้ยังตั้งเป้าตามเดิมใช่หรือไม่ และเป็นอย่างไรบ้าง?

A : เป้าหมายในการเป็นแบรนด์ดิจิทัลอันดับหนึ่งในประเทศไทยปี 2020 ยังเป็นตามเดิม แต่เป็นในแง่ของ “ประสบการณ์” เพราะประสบการณ์ของลูกค้าสำคัญที่สุด เมื่อเขาคิดถึงแบรนด์ dtac เขาต้องได้ภาพของความเป็นดิจิทัล

Q : ก่อนจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เอาชัดๆ เลยว่าตอนนี้ทำอะไรไปแล้วบ้าง?

A : การตั้งทีม Digital Group เป็นหมุดหมายที่สำคัญ เพราะการตั้งทีมใหม่หมายความว่าเราปรับการทำงานใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ ปรับ Mind Set ใหม่ทั้งหมด เช่น เราจะซื้อแบนเนอร์โฆษณาน้อยลง เพราะเราศึกษามาแล้วว่าใช้ไม่ได้ผล เราก็หันมาใช้ AI คำนวณข้อมูลมหาศาล แล้วใช้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงแต่ละคน พูดง่ายๆ คือเราใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาดมากขึ้น เราตั้งเป้าไว้ว่าจะทำ Digital Sales ให้ได้ 30% จากตอนนี้ที่มีอยู่แค่ 5% เช่น จ่ายบิลผ่านออนไลน์ เป็นต้น

  • อ่านบทสัมภาษณ์ด้านดิจิทัลจบแล้ว อีกประเด็นที่ต้องจับตามองคือเรื่องสัญญาณของ dtac ที่คงต้องลุ้นว่า จะสามารถใช้คลื่น 2300 MHz ของ TOT ได้จริงๆ หรือไม่? เพราะ กสทช. นัดประชุมใหม่อีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ ผลจะออกมาเป็นบวกหรือลบ ที่แน่ๆ อาจทำให้เห็นทิศทางอะไรบางอย่างในปีหน้ากับการประมูลคลื่น

โปรดจับตาอย่าได้กระพริบ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา