DBS ทำแอพให้เปิดบัญชีที่ไหนก็ได้ ซีอีโอเตือนวงการธนาคาร “ปรับตัวไม่ทัน ให้นับวันรอล่มสลาย”

DBS หนึ่งในธนาคารที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ธนาคารดิจิทัลที่ดีที่สุดในโลก” ทำแอพพลิเคชั่นให้ลูกค้าเปิดบัญชีได้ทุกที่ ไม่ต้องไปสาขา ในขณะที่ซีอีโอส่งสัญญาณเตือนวงการธนาคารให้รีบปรับตัวกันได้แล้ว ก่อนจะสายเกินไป

Photo: flickr.com by Canadian Pacific

DBS ทำแอพพลิเคชั่น เปิดบัญชีได้ทุกที่ ไม่ต้องไปสาขา

DBS ธนาคารรายใหญ่จากสิงคโปร์ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ธคาคารดิจิทัลที่ดีที่สุดในโลก” จากนิตยสาร Euromoney ในปี 2016

และแน่นอน ชื่อเสียงนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ DBS ได้ทำมาสักพักแล้วกับการให้ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องไปสาขา เพียงโหลดแอพพลิเคชั่นของธนาคาร แล้วสมัครลงชื่อใส่ข้อมูลไปตามระบบ ใช้เวลาไม่กี่นาที จะได้รับการยืนยันจากธนาคาร โดยทางธนาคารจะมีการใช้ระบบยืนยันตัวตนแบบ Biometric identification เพื่อความปลอดภัย และหากลูกค้ามีปัญหาก็สอบถามปัญหากับ Chatbot ได้ตลอดเวลา ธนาคารไม่ต้องใช้มนุษย์ ลดต้นทุนได้เพิ่ม

ต้องบอกว่า DBS เข้มข้นกับตลาดในเอเชียมาก โดยเริ่มจากตลาดที่มีประชากรสูงก่อน อย่างในอินโดนีเซียก็เพิ่งเปิดตัวไปในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และอินเดียตั้งแต่เมษายนปี 2016 มีผู้ใช้งานกว่า 1.5 ล้านคน และมีที่ให้ชำระเงินผ่าน QR Code กว่า 700,000 แห่งในอินเดีย อย่างไรก็ตาม DBS คาดการณ์ไว้ว่า ต้องการมีลูกค้าในแต่ละประเทศอย่างน้อย 10 ล้านคนเป็นอย่างต่ำ

ทั้งสองตลาดไม่ว่าจะเป็นอินโดฯ หรืออินเดียสามารถใช้ Digibank ของ DBS ได้ทุกรูปแบบ แต่ที่น่าสนใจคือ DBS ไปให้บริการในจีนเช่นกัน แต่ยังไม่สามารถทำ Digibank ได้เต็มที่ เหตุผลก็เพราะ ผู้เล่นในตลาดรายใหญ่เป็นอุปสรรค ทั้ง Alipay ของ Alibaba และ WeChat Payments ของ Tencent

Photo: Capture from Youtube

ซีอีโอ DBS เตือนวงการธคาร อาจล่มสลาย ถ้าสู้ e-walletไม่ได้

พิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า การปรับตัวของ DBS ให้เป็นดิจิทัลเต็มตัวคือความจำเป็นและความต้องการอยู่รอดของธุรกิจ เพราะ Piyush Gupta ซีอีโอของธนาคาร DBS บอกว่า หลายแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของโลกกำลังเข้ามาบุกในธุรกิจให้บริการทางการเงิน (financial service) แม้แต่ Facebook กับ Google ยังเข้ามาเล่น

แต่ที่ Gupta บอกว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อวงการธนาคารทั้งหมดก็คือ บริการให้ชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-wallet อย่างเช่น Alipay, WeChat Payment หรือในอินโดนีเซียบริการเรียกรถอย่าง Go-JeK ยังทำ Go-Pay เป็น e-wallet ของตัวเอง หรืออย่าง Grab ก็ทำ GrabPay

แต่ถ้าต้องยกตัวอย่าง Alipay น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะทำให้เห็นถึงภัยคุกคามของ e-wallet ต่อธนาคารทั้งหลาย (ที่ยังไม่ปรับตัว) Alipay มีผู้ใช้บริการกว่า 520 ล้านคนทั่วโลก มีอัตราการให้กู้ยืมเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนการใช้จ่ายเงินซื้อของเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่นอกจากนั้นลูกค้ายังลงทุนในสินค้าหลายตัวผ่าน Alipay ได้ด้วย

“อะไรที่ธนาคารคิดว่าทำไม่ได้ บริการพวกนี้ทำได้หมด”

“ธนาคารไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องสู้กับผู้เล่นเหล่านี้ให้ได้ เพราะนั่นเป็นหนทางเดียวที่คุณจะชนะ”

ซีอีโอ DBS ยังบอกไว้ว่า “ในอีก 5 ถึง 10 ข้างหน้า ถ้าธนาคารไม่ปรับตัวให้ธนาคารเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อบริการต่างๆ ได้ ก็ให้นั่งนับวันรอปิดกิจการได้เลย”

จากข้อมูลระบุว่า DBS ลงทุนในการก้าวไปเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อบริการต่างๆ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 122,000 ล้านบาท

ที่มา – Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา