ยุคทองของสตาร์ตอัพจบลงแล้ว ยุคต่อไปบริษัทใหญ่ได้เปรียบมากกว่า

เว็บไซต์ TechCrunch มีบทวิเคราะห์ว่า ในขณะที่กระแส “สตาร์ตอัพ” กำลังบูมทั่วโลก เมืองใหญ่ทุกแห่งอยากเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม-เทคโนโลยี ในลักษณะเดียวกับซิลิคอนวัลเลย์ และคิดแคมเปญชักจูงให้เกิดสตาร์ตอัพหน้าใหม่ๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการผลักดัน incubator, venture capital, co-working space หรือโครงการอื่นๆ ก็ตาม

แต่ในซิลิคอนวัลเลย์เอง กระแสสตาร์ตอัพกลับผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่แอบซุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ในโรงรถ แล้วออกมาเปลี่ยนโลกไปอย่างสิ้นเชิง เริ่มจบลงแล้ว

ในทศวรรษ 1997-2006 เป็นทศวรรษของอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต เปิดช่องให้เกิดบริษัทอย่าง Google, Amazon, Facebook, Twitter ส่วนในยุคถัดมา 2007-2016 เป็นทศวรรษของสมาร์ทโฟน บริษัทที่สร้างแอพอย่าง Uber, Lyft, Snap, WhatsApp, Instagram ก็กลายเป็นบริษัทระดับพันล้านดอลลาร์

คุณสมบัติที่มีร่วมกันของสตาร์ตอัพสายอินเทอร์เน็ต-แอพ คือตัวผลิตภัณฑ์เป็นดิจิทัล 100% ทุกอย่างสามารถทำงานได้ผ่านออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านหรือสินค้าในเชิงกายภาพเลย ต้นทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงต่ำ ขอเพียงมีไอเดียและฝีมือ ก็สามารถซุ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ก้าวหน้าและจับใจผู้ใช้งาน จนเปลี่ยนแปลงโลกได้ไม่ยากนัก

ซีรีส์ Silicon Valley ของ HBO ภาพฝันของสตาร์ตอัพ

แต่ในทศวรรษถัดจากนี้ไป เริ่มเป็นยุคที่ต้องการเทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้น และต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร เงินทุน มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งกลายเป็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่จะได้เปรียบกว่าสตาร์ตอัพมาก

ตัวอย่างของเทคโนโลยียุคหน้าได้แก่

  • AI ที่ไม่ใช่แค่การเขียนซอฟต์แวร์ให้ดี แต่ต้องการ “ข้อมูล” จำนวนมหาศาลเพื่อให้ AI เรียนรู้และพัฒนาตนเอง ซึ่งสตาร์ตอัพหน้าใหม่ย่อมไม่มีข้อมูลปริมาณมากเท่ากับที่ Google หรือ Facebook มี เราจึงเห็นบริษัทที่ก้าวหน้าเรื่อง AI มีแค่บริษัทไอทีระดับท็อป 5 (Apple, Google, Microsoft, Facebook, Amazon) และบริษัทจีนยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba/Tencent/Baidu เท่านั้น
  • ฮาร์ดแวร์ การทำฮาร์ดแวร์ต้องใช้เงินลงทุนสูง ใช้ความเชี่ยวชาญสูง ในรอบ 2-3 ปีนี้ เราจึงเริ่มเห็นบริษัทฮาร์ดแวร์หน้าใหม่ๆ รายเล็กๆ อย่าง Pebbel หรือ Jawbone ต้องล้มหายตายจากไป รายที่อยู่รอดอย่าง Fitbit หรือ GoPro ก็ไม่รุ่งเรืองดั่งที่เคยฝันไว้ หรือแม้แต่อดีตยักษ์ใหญ่อย่าง HTC ก็ยังอยู่ลำบาก
  • รถยนต์ไร้คนขับ ยิ่งใช้เงินลงทุนสูงกว่าฮาร์ดแวร์เพียวๆ ซะอีก ถ้าไม่นับ Tesla ที่ธุรกิจหลักคือการขายรถยนต์ที่ยังใช้คนขับอยู่ จะเห็นว่าบริษัทที่ทำรถยนต์ไร้คนขับ ล้วนแต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Alphabet, GM, Ford ส่วนหนทางที่สตาร์ตอัพจะอยู่รอดได้ก็ต้องขายให้บริษัทใหญ่เท่านั้น (เช่น Cruise ขายให้ GM)
  • AR/VR ก็ไม่ต่างกัน บริษัทที่เป็นแถวหน้าอย่าง Oculus ต้องขายให้ Facebook ส่วนสินค้า AR/VR ของบริษัทอื่นๆ ก็ล้วนแต่มาจากยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft/Google/Apple ในขณะที่บริษัทสตาร์ตอัพที่ร่ำลือกันมานานอย่าง Magic Leap ก็ยังไม่มีสินค้าวางขายจริงสักที
  • Cryptocurrency ถึงแม้จะมีสตาร์ตอัพด้านนี้เกิดขึ้นมาก และมีโครงการระดมทุนผ่าน ICO เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ยังต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีมูลค่าจริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่ฟองสบู่
Cruise สตาร์ตอัพรถยนต์ไร้คนขับ ที่สุดท้ายขายให้ GM

ตัวอย่างที่ชัดเจนว่ายุคถัดไปเป็นยุคของบริษัทใหญ่ คือโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพชื่อดัง Y Combinator ที่เป็นต้นแบบของโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพทั่วโลก บริษัทชื่อดังที่ผ่าน Y Combinator แล้วเติบโตก็อย่างเช่น Dropbox, Airbnb, Stripe (เข้าโครงการในปี 2012) แต่จะเห็นว่าเราแทบไม่ได้ยินชื่อของบริษัทในสังกัด Y Combinator รุ่นหลังๆ ผงาดขึ้นมาได้อีกเลย แม้ว่า Y Combinator จะรับสตาร์ตอัพเข้าโครงการเพิ่มอีกปีละเป็นหลักร้อยบริษัทก็ตาม

แน่นอนว่า ยุคที่ “บริษัทใหญ่ได้เปรียบ” ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย บริษัทที่ขนาดใหญ่อยู่แล้วอย่าง Amazon, Google หรือ Facebook จะยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก เพราะได้เปรียบจากขนาด (economy of scale) ซึ่งในระยะยาวก็จะปิดกั้นโอกาสที่สตาร์ตอัพหน้าใหม่ๆ จะเติบโตขึ้นมา เพราะโตขึ้นมาสักระยะหนึ่งก็จะต้องเจอกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่เหล่านี้ โค่นจนพ่ายแพ้ไป (ตัวอย่างเช่น Snap ที่รุ่งขึ้นมา แล้วโดน Facebook ลอกทุกอย่างจนอยู่ลำบาก)

แต่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม เราอาจพูดได้แล้วว่า ยุคทองของสตาร์ตอัพรายย่อย สิ้นสุดลงแล้วจริงๆ

ต้นฉบับจาก TechCrunch

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา