โซเชียลเดือดอีกครั้งเมื่อนักแสดงสาวรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นผ่านรายการว่า “คนไทยติดนิสัยชอบผ่อน” พร้อมชี้ว่าการ “ซื้อบ้านส่วนใหญ่ก็ทำสัญญา 20-30 ปี ลองคูณดูดิ จากบ้านราคา 10 ล้าน กลายเป็น 20 ล้าน”
ผู้คนต่างเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ว่าดาราทำรายได้มหาศาลอยู่แล้ว จะไปเข้าใจคนที่มีรายได้ไม่มากได้ยังไง ใคร ๆ ก็อยากฐานะดีพอที่จะซื้อบ้านด้วยเงินสดกันหมด แต่สภาพเศรษฐกิจแบบนี้แค่มีชีวิตอยู่รอดวัน ๆ หนึ่งก็ดีถมไปแล้ว
Brand Inside ชวนมองวัฒนธรรม “การผ่อน” ผ่านมิติทางเศรษฐกิจเพราะการผ่อนไม่ใช่แค่นิสัยแต่มีเหตุผลมากกว่าการเหมารวมแบบผิวเผิน
หนี้เป็นเรื่องการเงินส่วนบุคคล ไม่ใช่นิสัยของ “คนไทย” แบบเหมารวม
ปัญหาอย่างหนึ่งของการบอกว่า “คนไทยชอบผ่อน” คือ การเหมารวมที่มองว่าคนไทยทุกคนหรือส่วนใหญ่มีพฤติกรรมแบบเดียวกัน ทั้งที่ “หนี้” เป็นเรื่องส่วนบุคคล
การตัดสินใจว่าควรจะเป็นหนี้หรือไม่นั้นเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคลที่ผ่านการไตร่ตรองมาแล้ว เพราะไม่ใช่ว่าหนี้ทุกอย่างจะให้โทษ
หนี้มีทั้งหนี้ดีและหนี้เสีย
- หนี้ดี หมายถึง หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้หรือสามารถสร้างผลประโยชน์ใช้ได้ในอนาคต เช่น การกู้ยืมเงินจากธนาคารมาซื้อคอนโดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทำเลเดินทางไปทำงานสะดวก ปล่อยเช่าหรือขายได้ง่ายในอนาคต
- หนี้เสีย หมายถึง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และผลประโยชน์ใด ๆ เช่น หนี้ที่เกิดจากการซื้อของฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายเกินตัวจนกลายเป็นหนี้สินวนเวียน
พอพูดถึงหนี้ หลายคนอาจจะคิดถึงหนี้เสียเป็นอย่างแรก แต่จริง ๆ แล้วการเป็นหนี้ผ่อนชำระบ้านที่ราคาไม่ได้เกินตัว มีทำเลที่เหมาะสม ไม่เกินศักยภาพในการผ่อนชำระของเราถือเป็นหนี้ดี เพราะอสังหาริมทรัพย์จะเป็นหลักประกันความมั่นคงได้ในอนาคต
การบริหารหนี้เป็นเรื่องของใครของมัน
การผ่อนและการเป็นหนี้สร้างภาระอันหนักอึ้งในใจของใครหลายคน แต่เรายอมเสียต้นทุนค่าเสียโอกาสเพื่อคว้าโอกาสที่ดีกว่ามา
ต้นทุนค่าเสียโอกาส หมายถึง มูลค่าของผลตอบแทนจากกิจกรรมที่สูญเสียโอกาสในการทำเพื่อไปเลือกทำกิจกรรมอีกอย่างหนึ่ง เพราะต้องการเลือกทำทั้ง 2 ตัวเลือกแต่ไม่สามารถทำพร้อมกันได้
ในกรณีของการผ่อนบ้าน เรามีความต้องการ 2 อย่าง คือ 1) เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคต 2) สภาพคล่องทางการเงินที่จะสามารถใช้จ่ายได้ในแต่ละเดือน แต่สุดท้ายทั้ง 2 อย่างนี้ไม่สามารถไปด้วยกันได้ เราเลยต้องยอมเสียสภาพคล่องทางการเงินที่จะเอาไปใช้จ่ายกับสิ่งอื่น ๆ เพื่อนำเงินมาผ่อนชำระบ้าน
ถ้าพิจารณาตามหลักต้นทุนค่าเสียโอกาส คนจำนวนมากเลือกที่จะผ่อนบ้านแล้วเสียดอกเบี้ยแทนที่จะรอเวลาเก็บเงินให้ครบแล้วซื้อเงินสดเพราะเรามองแล้วว่าหากรอเวลาที่จะซื้อบ้าน ต้นทุนก็จะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ค่าที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว ดัชนีราคาก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ในปีเดียวกัน และนับว่าเพิ่มขึ้นถึง 6.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 เพราะภาวะเงินเฟ้อ หลายคนจึงเลือกรัดเข็มขัดประหยัดเงินแต่ละเดือนเพื่อนำเงินส่วนนั้นมาผ่อนบ้านแทน
การกระจายความเสี่ยงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคิดเพราะรายได้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน รายจ่ายก็ต่างกัน ความมั่นคงของแหล่งรายได้ก็เป็นตัวแปรสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นมนุษย์เงินเดือนที่นำเงินเก็บมาทุ่มกับการโปะหนี้บ้านแต่อีกไม่กี่เดือนต่อมาถูกปลดออกจากงาน ในกรณีนี้ การทุ่มเงินทั้งหมดที่มีเพื่อเลี่ยงดอกเบี้ยอาจทำให้ชีวิตด้านอื่น ๆ ล้มครืนลงมาด้วย
บางคนยังเลือกนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นอย่างกองทุนรวมหรือหุ้นแทนที่จะเอาเงินก้อนใหญ่ไปจมกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพราะมีแนวโน้มว่าดอกเบี้ยหรือผลกำไรที่ได้จากการลงทุนจะมากกว่าดอกเบี้ยผ่อนบ้านเสียอีก หรืออาจจะมีการรีไฟแนนซ์เป็นระยะ ๆ การคำนวณว่าในระยะเวลา 20-30 ที่ทำสัญญาผ่อนเท่ากับราคาบ้านจะเพิ่มเป็น 2 เท่าเป็นแค่การคำนวณตามระยะเวลาโดยไม่ได้นำปัจจัยอื่นมาคิดร่วมด้วย
การผ่อนไม่ใช่ “นิสัย” แต่คือ “ความจำเป็น”
คนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่ำ แต่ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงลิบลิ่ว
นอกจากในแง่การบริหารรายได้และหนี้แล้ว การผ่อนยังมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วย การมองแค่ว่าทำไมคนไทยถึงไม่ซื้อของโดยใช้เงินสดเป็นการมองข้ามข้อจำกัดในชีวิตของปัจเจกบุคคล ทุกคนต่างรู้ว่าจะเสียเงินน้อยกว่าหากซื้อเงินสด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะซื้อเงินสดได้ การผ่อนจึงไม่ใช่แค่ “นิสัย” แต่คือ “ความจำเป็น”
สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยว่าในปี 2022 ครัวเรือนไทยมีรายจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 18,145 บาท ขณะที่คนไทย 40% มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 16,852 ซึ่งน้อยกว่ารายจ่ายเสียอีก
คนไทยยังต้องเผชิญสภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2014 จากคสช. ลากยาวมาจนถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจุบันยังมีเรื่องสงครามยูเครน-รัสเซียยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจซบเซา
ในปี 2021 ผลสำรวจของ DDProperty เผยว่าคนไทยมากกว่าครึ่ง (58%) ไม่มีแผนจะย้ายออกจากบ้านพ่อแม่เพื่อไปซื้อที่อยู่อาศัยของตัวเองในช่วง 1 ปี ข้างหน้าเพราะมีหนี้ครัวเรือนและค่าใช้จ่ายมากขึ้นที่ต้องแบกรับ
CNBC ยังรายงานว่าคนรุ่นใหม่หรือรุ่นมิลเลนเนียลมีแนวโน้มที่จะมีบ้านน้อยกว่าคนรุ่นก่อนเพราะต้องเจอผลกระทบการเศรษฐกิจและราคาบ้านที่พุ่งสูง คนกลุ่มนี้จึงมักจะเช่าที่อยู่อาศัยมากกว่า จนถูกเรียกว่า “Generation Rent” คนที่เช่าบ้านอยู่จึงไม่ใช่ว่าไม่อยากซื้อบ้านแต่เป็นเพราะไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อต่างหาก ดังนั้นหากอยากซื้อบ้านท่ามกลางเศรษฐกิจแบบนี้ การซื้อเงินสดแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะแค่การผ่อนแต่ละเดือนก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว
การจะเลือกผ่อนหรือซื้อเงินสดเป็นทั้งปัจจัยที่เราควบคุมได้และไม่ได้ในเวลาเดียวกันเพราะแต่ละคนต่างมีข้อจำกัดทางการเงินต่างกัน การเชื่อมั่นในวิจารณญาณและการตัดสินใจของแต่ละบุคคลไปพร้อมกับการมองปัญหาเชิงโครงสร้างให้ลึกซึ้งจะช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างกันโดยไม่เหมารวมและตัดสินกันแบบฉาบฉวย
อ้างอิง – Krungsri 1, Krungsri 2, REIC, The Balance
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา