มายาคติเรื่อง Generation Rent คนรุ่นใหม่ไม่ได้อยากเช่าบ้านอยู่ แต่ไม่มีเงินจะซื้อ

คำถามของฝ่ายอสังหาฯ ที่เขาสนใจกันยุคนี้คือ เทรนด์การซื้อบ้านของคนยุคใหม่ คนกลุ่มนี้มีความคิดเห็นยังไงในการซื้อบ้านปัจจุบัน ?

รายงานจาก Coldwell Bank วิเคราะห์เทรนด์การซื้อบ้านของคนกลุ่มนี้ เขาบอกว่า คนยุคนี้เติบโตมาในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้น การสั่งสมทุนสำหรับตัวเองก็จะดำเนินไปอย่างเชื่องช้า สิ่งที่พวกเขาสนใจก็จะแตกต่างจากคนรุ่นก่อน 

เขาจะไม่สนใจเรื่องการแต่งงานมีลูก และยังมีบ้านเป็นของตัวเองค่อนข้างช้า เขาเรียกคนยุคนี้ว่า “Rent Generation” หรือ “Generation Rent” เราขอเรียกสั้นๆ ว่า Gen Rent คือคนที่เน้นแต่เช่า เช่าเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องครอบครองเป็นเจ้าของด้วยการซื้อหา 

ภาพจาก Pixabay

Coldwell Banker เขาระบุว่า การแต่งงานช้าของคนยุคนี้ไม่ได้หมายความว่าจะครองตัวเป็นโสดไปตลอดชีวิต เอาเข้าจริงแล้ว คนรุ่นนี้แต่งงานไปแล้ว 67% ถ้าเทียบสัดส่วนตามช่วงวัยก็ถือว่าคนวัยนี้แต่งงานไปแล้ว 40% (ที่เหลืออีก 60% เป็นคนรุ่นอื่น) 

นอกจากนี้ คนรุ่นนี้โดยเฉลี่ยแล้ว มักจะมีลูกคนเดียว ถ้าแบ่งเป็นสัดส่วนสำหรับการซื้อหาอสังหาริมทรัพย์เป็นของตัวเอง เขาก็พบว่า 63% มีบ้านเป็นของตัวเอง 

ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีฐานะร่ำรวย มักจะซื้อบ้านเป็นของตัวเองในลักษณะบ้านเดี่ยวอยู่ที่ 92% และยังสนใจบ้านที่ต่อเติมได้ตลอดเวลาอยู่ที่ 77%

คนมิลเลนเนียลนี้ (คนที่มีช่วงวัย 20 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 40 ปี) ส่วนใหญ่แล้วเน้นเช่าบ้านมากกว่าซื้อบ้านเป็นของตัวเอง เพราะการเช่าบ้านมีราคาที่ต้องจ่ายน้อยกว่า 

ประเด็นนี้ CNBC ก็รายงานว่า คนรุ่นนี้มีบ้านน้อยกว่าคนรุ่นก่อน ผลกระทบทางเศรษฐกิจและราคาบ้านที่สูงเกินไป ทำให้พวกเขาพร้อมจ่ายค่าเช่ามากกว่าจะซื้อหาบ้านอยู่เป็นของตัวเอง 

จากนั้นเขาก็เทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายของคนยุคนี้ว่า คนมิลเลนเนียลหมดเงินไปกับค่าใช้จ่ายเพื่อการเช่าที่อยู่อาศัยในอัตรา 35.7% ขณะที่คนรุ่น Baby boomers นี้มีค่าใช้จ่ายในส่วนของการเช่าที่อยู่อาศัย 38.1% ส่วนคน Gen X มีค่าใช้จ่ายค่าเช่าบ้านในอัตรา 35.9% 

นอกจากนี้ เขายังพบข้อมูลอีกว่า คนมิลเลนเนียลส่วนใหญ่ย้ายบ้านบ่อยกว่าคนรุ่นอื่นๆ โดยเฉลี่ยแล้ว ย้ายบ้านใหม่ทุกๆ 2 ปี ขณะที่คนรุ่นก่อนจะย้ายบ้านทุกๆ 6 ปี

ภาพจาก Pixabay

ทำไมต้องซื้อ ในเมื่อแค่ “เช่า” ก็ได้เป็นเจ้าของแล้ว ?

ประเด็นเรื่อง Generation rent นี้ Metro เคยหยิบมาพูดถึงช่วงสองปีที่แล้วว่า ช่วงนี้มันเป็นยุคสมัยที่ผู้คนเข้าถึงการเป็นเจ้าของหรือครอบครองบ้านได้ยากเย็น เพราะราคาบ้านมันโหด ผลวิจัยจาก PwC เคยเปิดเผยข้อมูลว่า ปี 2025 ลอนดอนจะกลายเป็นเมืองที่มีแต่คนเช่าบ้านอยู่ และมีคนเป็นเจ้าของบ้านจริงๆ อยู่แค่ 40% เท่านั้น 

PwC เคยคาดการณ์ว่าปี 2015 คนอังกฤษที่มีช่วงวัย 20 – 39 ปีจะเน้นเช่าบ้านอยู่ส่วนตัวมากกว่าจะซื้อหาบ้านจับจองเป็นของตัวเอง 

ในอังกฤษ เขาก็พูดถึงเงินเดือนที่คนจะมีบ้านเป็นของตัวเองได้ในปี 2020 ควรจะมีรายได้ต่อเดือนเท่าไร ? รายได้ต่อเดือนที่ประเมินว่าน่าจะสามารถมีบ้านเป็นของตัวเองในปี 2020 ก็คือ 106,000 ปอนด์ หรือประมาณ 4,125,794.54 บาท (4.1 ล้านบาทต่อเดือน) 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอังกฤษพยายามแก้ปัญหาบ้านราคาแพงด้วยการออกโครงการช่วยซื้อบ้าน (Help to Buy) คือโครงการสินเชื่อที่ใช้บ้านปลอดจำนองเป็นหลักประกัน มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา โดยเสนอสินเชื่อบ้านที่อัตรา 20-40% ครอบคลุมมูลค่าบ้านสูงสุดอยู่ที่ 600,000 ปอนด์ หรือประมาณ 23.3 ล้านบาท ประชาชนวางมัดจำแค่เพียง 5% ของราคาบ้าน เพียงเท่านี้ก็ได้เป็นเจ้าของบ้านแล้ว

แต่ท้ายที่สุด ก็พบว่า แม้จะมีความพยายามช่วยเหลือในหลากหลายด้าน อัตราการซื้อบ้านในลอนดอนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ภาพจาก Pixabay

มายาคติเรื่อง Generation Rent คนรุ่นใหม่ไม่ได้อยากเช่าบ้านอยู่ แต่ไม่มีเงินจะซื้อ

ประเด็นเรื่องการเช่า คนมิลเลนเนียลถูกแปะป้ายว่าเป็น คน Gen Rent แต่เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าคนมิลเลนเนียลหรือคนยุคใหม่ต้องการเป็น คน Gen Rent หรือต้องการเช่าเท่านั้น แต่สาเหตุที่แท้จริงคือพวกเขาไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อเป็นของตัวเองต่างหาก 

ข้อมูลจากงานวิจัยของ Coldwell Banker ชี้ให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ก็ยังนิยมซื้อบ้านอยู่ แต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ร่ำรวย และชอบซื้อบ้านที่มีพื้นที่เชื่อมโยงกับพื้นที่สันทนาการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ายิม ทำงาน หรือสถานที่ที่มีบรรยากาศดีๆ และไปชอปปิงสะดวก เหล่านี้คือเทรนด์ซื้อบ้านที่คนรุ่นใหม่ชอบ 

ประเด็นนี้ The Conversation เขาก็ชี้ว่า คนมิลเลนเนียลนี้ มีระยะเวลาในการเช่าบ้านนานกว่าคนรุ่นพ่อแม่ของตัวเองเสียอีก ถ้าเป็นครอบครัวที่ร่ำรวย ลูกๆ ก็จะเบิกเงินจากพ่อแม่มาซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง 

แต่ถ้าพ่อแม่รายได้น้อย มีหนี้การศึกษาเยอะ มีความเครียดจากการมีเงินไม่พอใช้ ปัจจัยเหล่านี้ก็ทำให้พวกเขาต้องเช่าอยู่มากกว่าจะขอเงินพ่อแม่มาซื้อบ้านเป็นของตัวเอง 

ที่มา – Coldwell Banker, CNBC, Metro, Help to Buy, The Conversation

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา