มนุษย์กับ AI อยู่ร่วมกันได้: มอง AI กับงานสร้างสรรค์ผ่านสายตาคนสายครีเอทีฟในงาน ADFEST TALK

เปิดประเด็นและข้อถกเถียงเกี่ยวกับ AI ทั้งการใช้ จริยธรรมในการใช้ ผลกระทบของ AI ผ่านสายตาคนสายครีเอทีฟในงาน ADFEST TALK

ผ่านการบรรยายพิเศษจาก ดร. การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ จำกัด, สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทลสกอร์ จำกัด และ ทสร บุณยเนตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างสรรค์ บีบีดีโอ แบงค๊อก

Emotion Recognition

ดร. การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ จำกัด พูดถึงขีดความสามารถของ AI เทียบกับมนุษย์ โดยเล่าถึงการศึกษาของเว็บไซต์ Indeed ที่วิเคราะห์ว่าสายงานไหนบ้างที่ AI มีขีดความสามารถในระดับที่เทียบเท่ากับมนุษย์ ปัจจุบัน สิ่งที่ AI ทำได้ดีเทียบเท่าหรือดีกว่ากลับเป็นเรื่องของงานสร้างสรรค์ที่รวมถึงด้านการตลาดและการสื่อสาร ในทางตรงกันข้าม AI กลับทำงานที่ต้องใช้เหตุผลและการตัดสินใจหลายขั้นตอนยังไม่ดี

ความสามารถของ AI ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้และจะพัฒนาจนถึงขีดสูงสุดในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ทำให้ AI เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่มาเร็วกว่าที่คาดการณ์ 10-20 ปีเหมือนกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ก่อนหน้านี้

การพัฒนาของ AI ที่กำลังชัดเจนในช่วงนี้ คือ เรื่อง Emotion Recognition หรือการตรวจจับและรับรู้อารมณ์ความรู้สึกที่ก่อนหน้านี้ AI ยังไม่สามารถทำได้ ปัจจุบัน มีบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งที่พยายามสร้าง AI เพื่อตรวจจับอารมณ์และความรู้สึก ทำให้การแสดงอารมณ์ของมนุษย์และเทคโนโลยีเริ่มเข้าถึงกันมากขึ้น

ยกตัวอย่าง แบรนด์เสื้อผ้า Uniqlo ในออสเตรเลียที่สร้างเครื่องมือ UMood ในปี 2015 เป็นเครื่องมือตรวจจับอารมณ์ ความรู้สึกของลูกค้าผ่านสีหน้าเพื่อสร้างเสื้อเชิ้ตที่เหมาะกับอารมณ์ นอกจากนี้ ยังมีตู้กดน้ำอัตโนมัติ (Smart Cooler) ในสหรัฐอเมริกาที่วิเคราะห์การกวาดตาหาสินค้าในตู้น้ำเพื่อเสนอสินค้าได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า แต่กลับถูกฟ้องเพราะมีประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวข้อมูลหรือ PDPA

AI ในที่ทำงานและภาษี AI

AI ได้รับการพัฒนาให้เหมือนมนุษย์และทำในสิ่งที่มนุษย์ทำได้มากขึ้นอย่างการนำ AI ไปใช้ในที่ทำงาน กลายเป็นเครื่องมือที่สร้าง Productivity และลดการทำงานของมนุษย์ลง รวมทั้งยังทำให้เกิดการเพิ่ม GDP แต่ก็ทำให้เกิดความกังวลว่ามนุษย์จะไม่มีพื้นที่ในตลาดแรงงาน ทำให้มีการพูดถึงการเก็บภาษี AI หรือ AI/ Robot Tax 

AI Tax คือการเก็บภาษีจากการใช้ AI มาสร้างสาธารณูปโภคให้กับมนุษย์ เพราะเมื่อมนุษย์ทำงานก็ต้องเสียภาษี ถ้า AI ทำงานและทำรายได้เพิ่มให้บริษัทก็ต้องเสียภาษีด้วย ประเทศที่กำลังในเรื่องนี้มีทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตของเทคโนโลยีกับความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์

AI ในฐานะเพื่อนของมนุษย์

ในปัจจุบัน มีการใช้และพัฒนา AI หรือหุ่นยนต์ให้มีทักษะการเป็นผู้ดูแล (Caregiver) ที่มีทั้งความสามารถในการคิดและการใช้กำลังทางร่างกาย เช่น การยกของ

การพัฒนาหุ่นยนต์ผู้ดูแลเกิดจากที่ทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 70% ของคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมองหาการดูแลในระยะยาว ทำให้มี AI ถูกออกแบบมาให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้และเป็นเพื่อนให้ได้ด้วย ทำให้ AI เหมือนมนุษย์มากขึ้นรวมถึงการแสดงออกทางสีหน้า

มนุษย์และ AI มีความเป็นเพื่อนกันมากขึ้น ในปัจจุบันใน AI Assistant ในแอปพลิเคชัน อย่างเช่น ChatGPT ที่สามารถคุยได้ พอได้รับเทรนแล้วฉลาดขึ้นไปเรื่อย ๆ ทำให้คนจำนวนมากเริ่มกังวลความสัมพันธ์ของมนุษย์กับ AI อย่างเช่น การที่มีคนประกาศแต่งงานกับบอทจนทำให้บริษัทต้องยกเลิกบอทนั้น

สิทธิของ AI ควรมีไหม?

สิทธิของ AI (AI Rights) เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอยู่ รวมถึงสิทธิที่จะคิดอย่างมีอิสระ มีสิทธิที่จะรับรู้ตัวตน ยกตัวอย่างสถานการณ์เช่น  ถ้าผู้ใหญ่คุยกับหุ่นยนต์ตามห้าง ผู้ใหญ่จะเชื่อฟัง ขณะที่เด็กจะเกิดการแกล้งหรือเอาไปใช้ในทางที่ผิด อย่างการใช้กำลัง การเก็บไปทิ้ง ซึ่งกลายเป็นข้อถกเถียงว่าควรจะให้ AI มีสิทธิเพื่อการปกป้อง AI หรือไม่ 

Deep Fake หรือการรับข้อมูลผิด ๆ 

การได้รับข้อมูลผิดจากการใช้ AI ที่สามารถเลียนแบบน้ำเสียงและท่าทางของมนุษย์โดยที่มนุษย์คนนั้นไม่รับรู้และยินยอมเป็นความกังวล โดยเฉพาะในปี 2024 นี้ที่จะมีการเลือกตั้งใน 70 ประเทศทั่วโลก ทำให้การรับข้อมูลผิดมีผลต่อการตัดสินใจ การรับข้อมูล อย่างไรก็ตาม การใช้ Deep Fake ก็สามารถนำมาใช้สร้างมูลค่าได้ทางธุรกิจได้เช่นเดียวกันโดยเฉพาะในบริษัท SMEs

ในบริษัทใหญ่มีงบประมาณเพียงพอต่อการทำการตลาดและโฆษณา ขณะที่บริษัท SMEs มีงบประมาณน้อยกว่าทำให้มีข้อจำกัดเรื่องการโฆษณา แต่ได้มีกรณีที่ SMEs ขออนุญาติอินฟลูเอนเซอร์เพื่อนำวิดีโอที่มีอยู่แล้วมาเทรนให้ AI สร้างวิดีโอใหม่ขึ้นมาเพื่อการโฆษณา อินฟลูเอนเซอร์ที่ต้องการช่วยธุรกิจอยู่แล้วก็ได้อนุญาติให้นำมาใช้เพื่อประหยัดงบประมาณของบริษัท และไม่ได้ถือเกิดการละเมิดสิทธิของคนนั้น ๆ ด้วย

AI และจริยธรรมการใช้

สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ได้เล่าถึงการสร้างความสมดุลระหว่างการนำ AI มาใช้เพื่อสร้าง Productivity กับจริยธรรมในการใช้ รวมถึงความสมดุลของการนำ AI มาใช้งานและความรับผิดชอบต่อการใช้ พร้อมตั้งคำถามชวนคิดอยู่หลายข้อ 

อย่างเช่น กรณีที่เกิดการถกเถียงกรณีการใช้ AI ช่วยทำงาน เช่น ใช้ AI ช่วยทำ Portfolio ยื่นเข้าสมัครงานควรจะรับเข้าทำงานไหมในวงการสร้างสรรค์ แล้วฐานเงินเดือนจะให้เท่ากับคนที่ไม่ใช่ AI หรือไม่ หรือให้มากกว่าเพราะถือว่าเป็นคนที่ใช้เทคโนโลยีได้

ยังมีคำถามอื่น ๆ อีกอย่างคนที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อัตโนมัติถือว่าเหมาะสมไหม ถือว่ามีทักษะในการขับขี่ไหม? วิดีโอที่ทำจาก AI ทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ควรจะมีการหมายเหตุอย่างเปิดเผยไหม?

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน AI ยังมีประเด็นเรื่องความเท่าเทียมและความยุติกรรม เช่น การป้อนคำสั่งให้ AI สร้างรูปหมอและวิศวะ ผลออกมามีแต่เพศชายเพราะ AI บางเจ้ายังมีความเน้นผู้ชายเพราะได้รับการพัฒนาและการเทรนมาจากผู้ชาย

AI แย่งงานมนุษย์จริงไหม?

ทสร บุณยเนตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างสรรค์ บีบีดีโอ แบงค๊อก ได้ปิดท้ายด้วยคำถามว่า AI จะแย่งงานมนุษย์จริงไหม

ในปัจจุบัน มีการพัฒนา AI ให้ทำงานหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น AIJE เป็น AI Jury หรือเป็นคณะกรรมการตัดสินในงานประกาศรางวัล ที่ทำงานด้วยการที่มนุษย์ป้อนคำอธิบายหรือบริบทการแข่งขันลงไป พร้อมลงรายละเอียดว่ามีรางวัลอะไรบ้าง ระบุระดับของการให้คะแนน และถามคะแนน 10 รอบแล้วนำคะแนนที่ AI ให้มาคำนวณเป็นค่ากลาง

นอกจากนี้ ยังมี AI ที่เป็น Creative Director ชื่อ AI-CDß  ในบริษัทญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี 2015 ถูกสร้างขึ้นเพราะทีมงานไม่มี Creative Director แต่จำเป็นต้องใช้งานเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า AI นี้ถูกเทรนด้วยงานที่เคยทำมาแล้วของบริษัท 

อย่างไรก็ตาม ทสร บุณยเนตร ให้ข้อสรุปไว้ว่า สิ่งที่กำลังจะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ไม่ใช่ AI แต่เป็นมนุษย์ที่มี Human Intelligence มีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัวในโลกที่ AI กำลังมาแรง เช่น คนที่สามารถนำ AI มาใช้เพื่อสร้างรายได้

งาน ADFEST 2024

นอกจากประเด็นการใช้ AI กับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในงาน ADFEST TALK แล้ว ผู้ที่สนใจสามารถเข้าฟังบรรยายพิเศษในงาน ADFEST 2024 ภายใต้ธีม “HI” Human Intelligence หรือปัญญามนุษย์ ที่เน้นหัวข้อการปรับตัวและการอยู่ร่วมกันของ AI และมนุษย์ได้

สมาคมโฆษณาเอเชียแปซิฟิกเปิดตัวงาน ADFEST 2024 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 21-23 มีนาคมนี้ ภายใต้ธีม “HI” Human Intelligence ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ โอเท็ล กรุ๊ป พัทยา

ภายในงานจะมีการบรรยายพิเศษในธีม HI จากวิทยากร 3 คนที่กล่าวไปข้างต้น พร้อมงานประกาศรางวัลผลงานโฆษณาและความสร้างสรรค์ ADFEST Lotus Awards ใน 21 หมวด ที่ในปีนี้จะมีการเพิ่มหมวด Sustainable Lotus และเพิ่มรางวัล Regional Agency of the Year แบ่งออกเป็น 6 ภูมิภาค คือ อเมริกากลางและเหนือ เอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง โอเชียเนีย  เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาจากวิทยากรทั่วโลก Workshop 6 หัวข้อย่อย พร้อมกับโปรแกรมสำหรับคนรุ่นใหม่ผ่าน Young Lotus Workshop จาก Ogilvy และ Fabulous Five New Directors ที่ให้ผู้กำกับรุ่นใหม่เปิดตัวหนังสั้นบนเวที ADFEST

ที่มา – ADFEST 

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา