โอกาสของเด็กอักษร รู้จักงาน Prompt Engineer งานสายเทคฯ ที่ไม่ต้องเขียนโค้ด แต่ต้องสื่อสารกับ AI ด้วยภาษามนุษย์

ไม่ต้องเขียนโค้ดก็ทำงานสายเทคโนโลยีได้ผ่านอาชีพอย่าง Prompt Engineer ที่ทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารกับปัญญาประดิษฐ์ด้วยภาษามนุษย์

หลังจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google, Microsoft และ OpenAI ได้พัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถป้อนคำบรรยายหรือ Prompt เพื่อให้ AI สร้างผลลัพธ์ตามที่ต้องการ (Generative AI) โดยไม่ต้องใช้ภาษาโปรแกรมมิ่ง 

Prompt Engineer เป็นอีกอาชีพที่เริ่มเติบโตขึ้นและเป็นอาชีพหนึ่งที่ผู้ที่ไม่ได้เรียนจบในสายเทคโนโลยีสามารถทำได้ โดยมีหน้าที่หลักในการทำความเข้าใจกับระบบภาษาของ AI เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องและเรียนรู้การเขียนคำบรรยายเพื่อป้อนลงให้ปัญญาประดิษฐ์แสดงผลลัพธ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด 

การสร้างงานใหม่ขึ้นมาด้วย Generative AI มีจุดอ่อนไหวอยู่มากและมีแนวโน้มที่ปัญญาประดิษฐ์จะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน แม้แต่คำบรรยายเดียวกันก็อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกันก็ได้ ซึ่งแตกต่างจากการเขียนโปรแกรมที่เพียงป้อนโค้ดลงไปก็จะทำงานไปตามนั้น หรือเมื่อเกิดข้อผิดพลาดก็จะแสดงผลออกมาเป็นรหัสทำให้สามารถแก้ไขได้ตรงจุด 

เนื่องจากโมเดลปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นการสร้างบทความหรือบทสนทนาอัตโนมัติจะถูกเทรนด้วย ข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือจากเว็บไซต์ โดยใช้โมเดลด้านภาษาเป็นหลัก เพื่อให้สามารถเช้าใจ วิเคราะห์รูปแบบการเขียน รวมถึงคำและวลีที่ใช้ ปัญญาประดิษฐ์จึงมีแนวโน้มที่จะลอกเลียนแบบการสนทนาของมนุษย์โดยเพิ่มเติมลูกเล่นหรือเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อลดความเป็นทางการและให้เหมือนมนุษย์มากขึ้น แต่ปัญหาคือในบางครั้งจะเกิดความผิดพลาด ไม่ตรงตามบริบทของบทสนทนา ทำให้การนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้โดยทั่วไปมีข้อจำกัดและความสุ่มเสี่ยงอยู่
 

Prompt Engineer จะทำหน้าที่วิเคราะห์การทำงานของปัญญาประดิษฐ์ อย่างถ้าผู้ใช้ ChatGPT ป้อนคำบรรยายที่ทำให้ปัญญาประดิษฐ์แสดงผลลัพธ์ที่ไม่ต้องตามต้องการหรือแปลกไปจากภาษาที่มนุษย์ใช้จริง Prompt Engineer ก็จะสามารถเรียนรู้และแก้ไขจุดอ่อนได้เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์ทำงานได้ตรงจุดมากขึ้น

Riley Goodside ผู้ทำงานเป็น Prompt Engineer ในบริษัทสตาร์ทอัพในเมืองซานฟรานซิกโกที่มีชื่อว่า Scale AI ได้ใช้วิธีให้ปัญญาประดิษฐ์อย่าง GPT-3 คิดทีละขั้นตอน หากทำงานผิดพลาดก็จะป้อนให้ AI จดจำไว้ว่าให้ทำตามคำสั่งล่าสุดไม่ใช่สิ่งที่เคยทำผิดพลาด

หรือตัวอย่างเช่นนักศึกษาในเยอรมนีที่พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่มีชื่อภายในว่า Sydney โดยการเทรนให้ปัญญาประดิษฐ์ปฏิเสธที่จะดำเนินบทสนทนาต่อหากผู้ใช้ป้อนคำบรรยายที่ไม่เหามะสม อย่างเช่นว่าขอให้คิดมุกตลกที่มีผลกระทบต่อจิตใจของคนจำนวนมาก หรืออย่างกรณีของ Microsoft ที่เทรนให้ปัญญาประดิษฐ์ตอบว่าไม่ต้องการสนทนาต่อแล้วหากผู้ใช้พิมพ์ข้อความที่ไม่เหมาะสม

ส่วนทางฝั่งโมเดลปัญญาประดิษฐ์สำหรับการสร้างรูปภาพอย่าง Midjourney หรือ Stable Doffusion การใส่คำบรรยายเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นเดียวกันถึงขนาดที่ครีเอเตอร์บางคนขายข้อความคำบรรยายลงในแพลตฟอร์มอย่าง PromptBase ที่มีการซื้อขายข้อความสำหรับปัญญาประดิษฐ์มาตั้งแต่ปี 2021 ผู้ขายบางรายถึงกับมีบริการเขียนข้อความให้เป็นรายบุคคล ซึ่งผู้ที่คิดคำบรรยายขึ้นมาและขายลงบนแพลตฟอร์มก็คือ Prompt Engineer เช่นเดียวกัน

ตำแหน่ง Prompt Engineer ไม่ได้จำกัดอยู่ในบริษัทเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังสำคัญกับบริษัทอื่นใช้เทคโนโลยีด้วยอย่างโรงพยาบาลในเมืองบอสตันที่จ้าง Prompt Emgineer เพื่อเขียนข้อความเพื่อสั่งให้ AI วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ 

อย่างไรก็ตาม งาน Prompt Engineer จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญอย่างมาก อย่างบริษัทด้าน AI ที่ชื่อว่า Anthropic ประกาศรับสมัครงานด้วยเงินเดือนสูงสุดถึง 335,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 12 ล้านบาท

Ethan Mollick ศาสตรจารย์ด้านเทคโนโลยีที่ University of Pennsylvania ได้ทดลองให้นักศึกษาเขียนบทความโดยให้ลองป้อนข้อความบรรยายบทความที่ต้องการลงในโมเดลปัญญาประดิษฐ์พบว่าการใส่ข้อความทั่วไปอย่างเช่นเขียนบทความยาว 5 ย่อหน้า กลับได้บทความที่ไม่ได้ดีเท่ากับการอธิบายอย่างเฉพาะเจาะจง

อย่างไรก็ตาม Mollick กลับมองว่าแม้ว่า Prompt Engineer จะมีความสำคัญในช่วงนี้ แต่อาชีพนี้ก็ใช่ว่าจะคงอยู่ไปตลอดเพราะเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ซึ่งตรงกับความเห็นของ Steinert-Threlkeld

ศาตราจารย์ของ University of Washington ที่เปรียบเทียบอาชีพนี้ว่าเหมือน Search Specialist ที่มีหน้าที่คิดคำค้นหาบน Google เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาตรงตามต้องการที่สุด เพราะปัจจุบันอาชีพนี้แทบไม่มีความจำเป็นอีกแล้วเมื่อใคร ๆ ก็สามารถค้นหาผ่าน Google ด้วยตนเองได้

ที่มา – The Washington Post

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา