นักวิจัยเผย ตั้งนาฬิกาปลุกเสียงดนตรี ช่วยกระตุ้นความตื่นตัวรับมือกับวันใหม่ได้ดีกว่า

เชื่อหรือไม่ว่าการเริ่มต้นวันใหม่ เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักธุรกิจหรือบุคคลสำคัญในระดับโลกหลายๆ คน โดยเฉพาะการตื่นแต่เช้าจนเป็นนิสัย

ภาพโดย chuttersnap จาก Unsplash

Tim Cook CEO ของ Apple บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 ของทุกๆ วัน และใช้เวลาในช่วงเช้าไปกับการอ่านความคิดเห็นของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์ Apple รวมถึงออกกำลังกายในทุกๆ เช้าด้วย เช่นเดียวกับบุคคลที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ทั้ง Oprah Winfrey, Mark Zuckerberg และ Richard Branson ที่ชอบออกกำลังกายในตอนเช้าเช่นกัน

หรือบางคนอาจต้องการปรับนิสัย เปลี่ยนเวลาตื่นนอนให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เพื่อทำ Morning Routine ที่จะช่วยพัฒนาอารมณ์ และพัฒนาตัวเอง ให้พร้อมรับมือกับเรื่องที่ต้องเจอในวันใหม่

 

แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ บางครั้งการตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อตื่นแต่เช้ามาทำกิจกรรม Morning Routine อาจไม่ใช่สิ่งที่น่าทำมากเท่าไหร่ ด้วยความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ทำให้การเริ่มต้นวันใหม่เป็นเรื่องยาก เพราะเราอาจมีความรู้สึกเพลีย และอยากนอนต่อ ไม่อยากลุกจากเตียง จนตื่นสายในที่สุด

ความจริงแล้วนักวิจัยชาวออสเตรเลีย จาก Royal Melbourne Institute of Technology เคยทำการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตื่นนอนของเรา พบว่า “เสียงนาฬิกาปลุก” เป็นสิ่งกำหนดการเริ่มต้นวันใหม่ของเรา คือ คนที่ใช้เพลง หรือเมโลดี้ตั้งเป็นเสียงนาฬิกาปลุก จะตื่นขึ้นมาสดชื่นกว่าคนที่ใช้เสียงปิ๊บๆ ของนาฬิกาปลุกธรรมดา

นักวิจัยให้เหตุผลว่า เสียงเพลง หรือเสียงเมโลดี้ จะช่วยกระตุ้นทำให้เรารู้สึกตื่นตัว เพิ่มการรับรู้ และความสนใจมากกว่าเสียงปิ๊บๆ จึงทำให้เรารู้สึกสดชื่น ไม่รู้สึกมึนหัวหลังตื่นนอน โดยนักวิจัยคาดการณ์ว่า เสียงเพลง และเมโลดี้ มีโน๊ตสูง-ต่ำ แตกต่างกัน จะช่วยกระตุ้นการทำงานภายในร่างกาย จึงช่วยลดอาการมึนหัวหลังตื่นนอนได้ เหมือนการวอร์มร่างกายของนักกีฬา ร่างกายจึงพร้อมที่จะตื่นนอนมากกว่าคนที่ตั้งเสียงนาฬิกาปลุกเป็นเสียงปิ๊ป

ภาพโดย Kinga Cichewicz จาก Unsplash

การตื่นนอนอย่างมีคุณภาพ เรื่องสำคัญที่ต้องหาทางค้นพบ

ความจริงแล้วการตื่นนอนอย่างมีคุณภาพ ไม่ได้มีความสำคัญกับคนทั่วๆ ไป ที่อยากเริ่มต้นวันใหม่อย่างสดชื่นเท่านั้น เพราะความจริงแล้ว มีอีกหลายอาชีพที่สามารถใช้ประโยชน์จากการตื่นนอนที่มีคุณภาพได้ เช่น นักบินอวกาศของ NASA ที่อาจต้องตื่นนอนอย่างกระทันหันมาทำภารกิจฉุกเฉิน หรือหมอในโรงพยาบาลที่ถูกปลุกขึ้นมาทำการผ่าตัดให้คนไข้อย่างกระทันหัน

เพราะโดยปกติแล้ว เวลาหลังตื่นนอนจะมีช่วงเวลาหนึ่ง ที่เรายังรู้สึกว่ายังไม่พร้อม ไม่สดชื่น หรืออยากนอนต่อ โดยช่วงเวลานี้สามารถกินเวลาอยู่ในช่วง 30 นาที หรือบางครั้งอาจกินเวลา 2-4 ชั่วโมงก็ได้ ซึ่งหากเราสามารถลดเวลาในช่วงนี้ เราก็จะสามารถทำกิจกรรมต่างๆ หลังตื่นนอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา – cnbc

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา