สำรวจมนุษย์สุดโต่ง 2 ประเภทในที่ทำงาน: บ้าหลักการจนขาดความเห็นใจ หรือขี้เกรงใจจนงานไม่เดิน

เพื่อนร่วมงานที่ยึดมั่นในหลักการจนไม่แคร์ใคร กับเพื่อนร่วมงานที่ยอมคนอื่นมากเกินไปจนงานไม่ได้คุณภาพ แบบไหนที่ทำให้ปวดหัวมากกว่ากัน หรือเราเองที่กำลังเป็นคนแบบนี้เหมือนกัน

หลายคนมี ‘หลักการ’ และ ‘อารมณ์’ ในที่ทำงาน คนแรกยึดแต่ความถูกต้อง คิดว่าสิ่งไหนตรงตามหลักการก็ต้องเลือกสิ่งนั้น มองงานเป็นคณิตศาสตร์ที่ 1+1 ต้องเท่ากับ 2 โดยไม่สนใจใคร คนอย่างหลังไม่กล้าออกความเห็น ไม่กล้าพูดสิ่งที่อยากได้เพราะกลัวจะไปทำให้ใครไม่พอใจจนงานไม่เดินหน้าไปไหน

ถ้าเปรียบเทียบ 2 คนนี้เป็นหัวหน้า คนนึงก็คงเป็นหัวหน้าที่สั่งงานไม่หยุดเพราะคิดว่าเป็นเวลางานจะสั่งงานแค่ไหนก็ได้ ไม่สนใจซักนิดว่าเราจะยุ่งแค่ไหน จะมีเรื่องเครียดเท่าไหร่ ส่วนอีกคนนึงก็คงเป็นหัวหน้าที่ไม่กล้าสั่งอะไรใครเพราะกลัวว่าเขาจะไม่พอใจ จนอาจจบลงด้วยงานไม่เดินหน้า หรือไม่ตัวเองก็เอาไปทำเองจนงานล้นมือ ที่ต้องพูดถึงมนุษย์ประเภทนี้ก็เพราะเป็นคนที่เจอได้ทั่วไปและทำให้เราต้องใช้พลังงานมหาศาลในการรับมือ 

ปัญหาของมนุษย์ 2 ประเภทนี้ คืออะไร?

จริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำให้คนบ้าหลักการและคนขี้เกรงใจอาจกลายเป็นความท็อกซิกในที่ทำงาน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ ‘ความสุดโต่ง’ อีกคนก็ตึงเกินอีกคนก็หย่อนไปทั้งที่จริงแล้วคนเรามีหลักการและแคร์ความรู้สึกคนอื่นได้พร้อมกัน ความสุดโต่งนี้เองทำให้ทั้ง 2 คนมีมุมมองเรื่องความถูกต้องแตกต่างกัน การตัดสินใจในเรื่องเดียวกันก็อาจไปคนละทิศคนละทาง

เริ่มจากคุณหลักการ ปัญหาอยู่ที่การยึดมั่นหลักการและความจริงเป็นความถูกต้องแบบที่สะกดคำว่า “ประนีประนอม” ไม่เป็น มุมมองและการตัดสินใจของมนุษย์ประเภทนี้เลยเป็นเด็ดขาด ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเหมือนที่บอกว่า 1+1 ต้องเท่ากับ 2 ยกตัวอย่างแบบง่ายที่สุดก็อย่างเพื่อนร่วมงานที่คุยงานเสียงดังสุด ๆ จนเราไม่มีสมาธิทำงาน แต่เขาเหล่านั้นก็ถือว่าตัวเองไม่ผิด ไม่ยอมลดเสียงลงเพราะมองว่าก็คุยเรื่องงานใครจะทำไม

เพื่อนร่วมงานประเภทนี้มักเลือกทางที่จะได้ประโยชน์สูงสุดกับงาน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ดี แต่อย่าลืมว่าเราเป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่ใช่หุ่นยนต์ทำงาน เรายังเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก ความเครียด และต้องการการปฏิบัติจากคนอื่นแบบที่ดีด้วยเหมือนกัน

ส่วนคุณอารมณ์ก็เป็นบุคคลประเภทที่เวลาต้องตัดสินใจอะไรก็เอาความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานเป็นที่ตั้งไว้ก่อน ผลงานเอาไว้ทีหลัง พร้อมยอมประนีประนอมเรื่องหลักการและเหตุผลเพื่อเอาใจทุกคน พอสุดโต่งเกินไปก็จะออกมาเป็น People Pleaser แบบที่ไม่กล้าปฏิเสธและขัดใจใครแม้ในเวลาที่จำเป็นเพราะกลัวว่าจะไม่เป็นที่รักของทุกคน 

คุณอารมณ์ที่เป็น People Pleaser อาจเป็นมิตร พร้อมช่วยเหลือทุกคน เป็นคนที่มีคำพูดดี ๆ ให้กำลังใจคนอื่นอยู่เสมอ แต่คนแคร์คนอื่นมากเกินไปจะพยายามทำให้ทุกคนพอใจจนงานไม่เดินหน้าไปไหน ถ้าต้องทำงานร่วมกันอาจพบว่าคนแบบนี้เป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง งานไม่เสร็จสักที ไม่ใช่เพราะขี้เกียจแต่เพราะมัวแต่เอาเวลาไปทำงานของคนอื่นเพราะอยากทำให้คนอื่นพอใจด้วย แถมจะยิ่งไปกันใหญ่ถ้าเราเป็นคนที่ต้องรับงานจากเขามาทำต่อ หรือถ้าเป็นหัวหน้าก็เป็นหัวหน้าที่ไม่กล้าปกป้องลูกน้องจากหัวหน้าฝ่ายอื่นหรือผู้บริหารระดับสูง ๆ 

เมื่อเราเป็นมนุษย์สุดโต่งซะเอง

แล้วถ้ามนุษย์สุดโต่งไม่ได้อยู่ไหนไกลแต่เป็นตัวเราซะเองจะเปลี่ยนยังไงดี

สิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างมนุษย์สุดโต่งทั้ง 2 แบบก็คือมนุษย์ที่ใช้เหตุผล (Reasonable People) งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Sciences Advances คนที่ยึดมั่นในหลักการ (Rational People) มักจะถูกมองว่าเป็นคนที่ทำเพื่อตัวเอง ทำตามความต้องการของตัวเองมากกว่า ขณะที่คนที่ใช้เหตุผลจะถูกมองว่าเป็นคนที่เอาใจเขามาใส่ใจเรามากกว่า

Richard Eibach ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Waterloo และผู้ร่วมการทำการวิจัยกล่าวว่า คนทั่วไปจะมองคนที่ยึดแต่หลักการว่าเป็นคนเด็ดขาดและรักษาผลประโยชน์สูงสุดที่จะได้ ขณะที่คนที่มีเหตุผลจะถูกมองว่าใส่ใจในเรื่องที่เฉพาะเจาะจงและรักความยุติธรรม

สิ่งที่ต้องทำเพื่อทำให้ตัวเองเริ่มเข้าสู่เส้นทางของการเป็นคนที่มีเหตุผลก็คือการเอาทั้งหลักการและความรู้สึกคนอื่นเข้าเป็นในสมการการตัดสินใจ เพราะการเป็นคนมีเหตุผลไม่ได้ทำให้เสียจุดยืน แต่แค่รักษาจุดยืนไว้ในขณะที่ใส่ใจความรู้สึกคนอื่นไปด้วย 

เมื่อเพื่อนร่วมงานเป็นมนุษย์สุดโต่ง

ถ้าเราเป็นมนุษย์สุดโต่งซะเองก็คงพอปรับเปลี่ยนได้แต่ถ้าคนที่สุดโต่งเป็นคนรอบตัวก็คงจะไปบอกให้เขาเหล่านั้นช่วยเป็นคนที่มีเหตุผลก็คงไม่ได้ หรือถึงบอกได้ก็อาจเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้อยู่ดี แล้วจะรับมือยังไงดี

คีย์เวิร์ดสำคัญ ก็คือ การกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนและกันมนุษย์สุดโต่งไม่ให้ล้ำขอบเขต กำหนดให้ชัดเจนว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่รับได้ เรื่องไหนรับไม่ได้ไม่ว่าจะกับมนุษย์สุดโต่งประเภทไหน อย่างถ้าเพื่อนร่วมงานคุยงานเสียงดังจนทำให้งานเราไม่เดินเพราะไม่มีสมาธิทำงาน สิ่งหนึ่งที่ทำได้ คือ บอกและอธิบายไปตามตรงว่าการกระทำของเขาเหล่านั้นกระทบงานเรายังไงบ้าง 

หรือถ้าต้องทำโปรเจคร่วมกับคนที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นหลัก คนที่เกรงใจคนอื่นไปหมด ก็ให้ตั้งธงให้ชัดเจนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มไว้เลยว่าเป้าหมายของโปรเจคนี้คืออะไร ตารางงานเป็นแบบไหน ในช่วงเวลาเท่านั้นเท่านี้งานจะต้องคืบหน้าไปกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วเขาคนนั้นจะต้องส่งงานในวันไหนบ้าง 

หากกำหนดขอบเขตไว้แล้วชัดเจนแล้วมักจะโดนล้ำเส้นอยู่บ่อย ๆ ทางสุดท้ายที่จะทำได้ ก็คือการตัดขาดจากความสัมพันธ์ที่ท็อกซิก หรืออย่างน้อยถ้ายังต้องทำงานร่วมกัน ก็สานสัมพันธ์ให้น้อยที่สุด

ที่มา – Psychology Today, Psychology Today 2, The Swaddle 

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา