ก็รู้ว่ารักมันแย่ ทำไมไม่เลิกซะล่ะ: เปิดเหตุผลทางจิตวิทยา เหตุใดผู้คนจึงจมปลักกับความรักที่มัน Toxic?

รู้ก็รู้ว่ารักแล้วมันแย่ รักแล้วเจ็บปวด แต่ความสัมพันธ์แบบ Toxic เช่นนั้น ทำไมจึงหอมหวาน ทำให้ติดใจจนไม่สามารถละทิ้งได้..เรื่องนี้ เจอคำตอบได้ที่ Forbes โดย Mark Traver ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาระดับ Ph.D จากรั้วมหาวิทยาลัย Cornell มาช่วยไขคำตอบให้ 

conflict

Traver เล่าว่า ผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาพบเขาเพื่อหาทางบำบัด ต่างมีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบคู่รัก และก็มีคำถามมากมาย ประมาณนี้..

ฉันคิดว่าคน Toxic เป็นสเปคของฉัน มันน่าสับสนเหมือนกันว่า ทำไมฉันไม่สามารถตื่นเต้นหรือมีความสุขกับคนที่ทำให้ความสัมพันธ์ดีหรือพัฒนาความสัมพันธ์ไปในทิศทางที่บวกได้

ฉันติดกับอยู่ในความสัมพันธ์ที่ Toxic บางทีคนรักก็ทำร้ายฉัน ฉันก็รู้นะว่าการจากเขาไปได้น่าจะดีต่อตัวเอง แต่ฉันก็ไม่สามารถดึงตัวเองออกมาได้

ฉันเพิ่งได้พบคนที่ทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นอีกคนหนึ่ง ฉันรักที่จะอยู่ใกล้ๆ พวกเขาและไม่ต้องการพลาดจากสิ่งนี้ แม้ว่าเพื่อนหรือใครก็ตามที่เตือนฉันเกี่ยวกับอดีตของพวกเขาแล้ว

เหล่านี้คือคำถามของพวกที่จมอยู่กับความสัมพันธ์แบบ Toxic ต่างหาคำตอบไม่ได้ ซึ่งความสัมพันธ์ที่เป็นพิษหรือ Toxic Relationship ก็มักจะมีลักษณะที่ขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ขาดความเคารพต่อกัน และยังขาดการสื่อสารที่ดีที่มีคุณภาพด้วย ความสัมพันธ์เช่นนี้ เอาเข้าจริงแล้ว มันสามารถทำลายสุขภาพจิตและสุขภาพกายของคุณได้ ที่สำคัญก็คือ คนบางคนยังถูกดึงดูดให้พบเจอกับคนรักที่เป็นพิษซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับว่าพวกเขาเกิดมาเพื่อคน Toxic เหล่านี้โดยเฉพาะ

conflict
ทีนี้ Traver ก็เลยชี้แจงเหตุผลว่า ทำไม เราถึงถูกดึงดูดให้ติดอยู่กับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเช่นนี้ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า

หนึ่ง ความรักของคุณอาจจะเป็นอาการของคนเสพติดความรัก?

แรงปรารถนาในความรักเป็นเรื่องที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกผู้ทุกคนอยู่แล้ว มันเป็นรากฐานของความสัมพันธ์แบบโรแมนติกที่เจริญงอกงามได้ แต่บางคนอาจจะชอบความรักแบบต้องการครอบงำ มันจึงทำให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์ได้นั่นเอง ทั้งนี้ มันก็มีการศึกษาพบว่า การเสพติดความรัก (Pathological love) คือการเสพติดพฤติกรรมที่บุคคลหนึ่งมอบการดูแลเอาใจใส่ให้บุคคลหนึ่งซ้ำๆ และนำไปสู่การบีบบังคับ การเรียกร้องความสนใจ เหล่านี้มันเชื่อมโยงกับอาการหุนหันพลันแล่น

คนบางคนจะรู้สึกว่าพวกเขาสมบูรณ์พร้อมก็ต่อเมื่อพวกเขามีคนที่พวกเขารักและพวกเขาได้รับความรัก บ่อยครั้งก็มักจะเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์แบบโรแมนติกแบบหุนหันพลันแล่น โดยไม่พิจารณาก่อนว่าพวกเขาจะเป็นคู่รักที่เข้ากันได้หรือไม่ จากงานศึกษาพบว่า ผู้คนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะชอบอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นสุขเหล่านี้แม้จะรู้ว่าตัวเองก็ไม่ได้มีความสุขกับความสัมพันธ์แบบนี้ก็ตาม

สอง คุณอาจติดกับความสัมพันธ์แบบยึดติด

มีงานศึกษาที่เผยแพร่ใน Journal of Social and Personal Relationships พบว่า หากคุณเห็นพ่อแม่ตนเองทะเลาะกันบ่อยๆ ตั้งแต่ยังเด็ก มันอาจส่งผลต่อทัศนคติต่อผู้คนเหล่านี้ในมิติของความสัมพันธ์แบบโรแมนติกเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทั้งนี้ การศึกษาพบว่า เด็กที่เติบโตท่ามกลางครอบครัวที่มีแต่ความขัดแย้ง มันจะพัฒนาในสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “insecure attachment styles” หรือรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย

ความสัมพันธ์รูปแบบนี้มันทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกับผู้อื่นในลักษณะที่มีคุณค่า มีความหมายและเติมเต็มให้กันและกันได้ค่อนข้างยาก ซึ่งความสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยนี้เอง งานศึกษาพบว่ามันเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์เชิงขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ ดังนี้

  • เป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบกังวล (Anxious attachment style) ก็คือ ผู้คนรู้สึกกลัวที่จะถูกทอดทิ้งหรือถูกพลัดพรากจากไป
  • เป็นความสัมพันธ์ที่ยึดติดการหลีกเลี่ยง (Avoidant attachment style) มันคือความรู้สึกที่ต้องกดข่มความรู้สึกที่แท้จริงเอาไว้ กลัวว่าจะเปิดเผยความอ่อนแอหรือความรู้สึกไร้ค่าของตัวเองออกไป

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณตกอยู่ในความสัมพันธ์แบบกังวล คุณอาจจะตีค่าหรือประเมินผิดว่าสิ่งที่คนรัก Toxic กระทำต่อคุณนั้นคือความห่วงใย แต่จริงๆ แล้วเขาพยายามควบคุมหรือบงการชีวิตคุณอยู่ หรือหากคุณตกอยู่ในความสัมพันธ์แบบยึดติดการหลีกเลี่ยง คุณก็จะไม่กล้าเผชิญกับปัญหา ไม่กล้าพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหากับเขาตรงๆ เพราะคุณกลัวความขัดแย้งจะเกิดขึ้น กลัวว่าในที่สุดแล้วคุณจะต้องถูกทอดทิ้ง

สาม คนรักที่มีลักษณะ Toxic อาจมีอาการผิดปกติทางบุคลิกภาพ

ถ้าในอดีตคุณมีความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความ Toxic มาก่อน คุณอาจจะต้องทบทวนตัวเองให้มากขึ้น คนบางคนอาจมีบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder: BPD) เป็นภาวะที่มีความผิดปกติทางจิตและส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก ทำให้มีอารมณ์แปรปรวน มีปัญหาในการรักษาความสัมพันธ์กับผู้คน ผู้คนเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์แบบไม่มั่นคง ความสัมพันธ์แบบมีความเสี่ยง ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้แบ่งออกเป็นสองระยะ

  • ระยะแรก แบบอุดมคติ (Idealization) ในช่วงที่คุณคิดว่าคู่รักของคุณเป็นคนที่สมบูรณ์แบบในสมบูรณ์แบบ
  • ระยะที่สอง แบบลดคุณค่า (Devaluation) ในช่วงที่คุณคิดว่าคู่รักของคุณคือคนที่ไม่สมบูรณ์แบบอย่างสมบูรณ์แบบ

คนที่เป็น BPD มักจะมีอาการดังต่อไปนี้ มีความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งและมีปฏิกิริยามากเกินไปเมื่อถูกปฏิเสธ, มีความรู้สึกว่างเปล่า, มีทัศนคติมองตนเองในแง่ลบและมีการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองค่อนข้างรุนแรง, มีความไม่มั่นคงทางอารมณ์, มีความหุนหันพลันแล่น, มีพฤติกรรมเสี่ยง รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเอง

โดยสรุปก็คือ รูปแบบของความ Toxic ในความสัมพันธ์แบบโรแมนติกนั้นสามารถสร้างความสับสนและทำให้ผู้คนเจ็บปวดได้ แต่…อย่างไรก็ดี ก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง หากเรียนรู้ที่จะตระหนักรู้ถึงรูปแบบความสัมพันธ์แบบนี้ ก็จะต้องพยายามสร้าง self-esteem และขอความช่วยเหลือบ้างเมื่อจำเป็น หากคุณอยากมีสุขภาพจิตที่ดีซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายด้วย คุณจำเป็นต้องทำลายลูปหรือวงจรแห่งความ Toxic นี้ เพื่อจะได้พบความรักที่มันยั่งยืน ส่งเสริมกันและกันมากกว่าจะทำร้ายกันและกันเป็นวัฏจักรต่อไปเรื่อยๆ

ที่มา – Forbes, Pobpad

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา