งานวิจัยที่ศึกษายาวนานเกือบ 100 ปี ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ที่ดีคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีความสุข

ผลการศึกษาวิจัยที่ยาวนานเกือบ 100 ปีนี้ ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุของความสุขในชีวิตคนนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่อง “ความสัมพันธ์”

Relationship, Happiness

การศึกษาวิจัยชิ้นนี้เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 1938 นับถึงวันนี้ก็ราวๆ 85 ปีแล้ว CNBC ได้หยิบข้อมูลจาก Harvard ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งพูดถึงงานวิจัยชิ้นนี้มาเผยแพร่ต่อ จากนั้นก็แจกแจงให้เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ชัดเจนขึ้น จากข้อมูลพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนมีความสุข ไม่ใช่เรื่องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน การเงิน การออกกำลังกาย หรือแม้แต่การทานอาหารที่ส่งเสริมให้สุขภาพดี แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ต่างหากล่ะ

งานวิจัยชิ้นนี้ ศึกษาโดยนักวิจัยจาก Harvard เป็นโครงการที่ติดตามชีวิตผู้คนรวม 724 คนจากหลายประเทศทั่วโลก แต่ละคนมีพื้นฐานชีวิตที่แตกต่างกันทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม พวกเขาต้องตอบข้อมูลที่เป็นรายละเอียดที่เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาทุกๆ สองปี ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพจิต ความสุขในการใช้ชีวิต รวมถึงการสัมภาษณ์ไปยังสมาชิกครอบครัวด้วย

ความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญ ต้องเลือกคนเข้ามาเกี่ยวพันในชีวิตดีๆ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม

จากงานศึกษาพบว่า ความสัมพันธ์เชิงบวกทำให้ผู้คนมีความสุขมากขึ้นและยังทำให้อายุยืนยาวมากขึ้นด้วย นั่นหมายความว่า ถ้าคุณต้องพบเจอผู้คนจากหลากหลายรูปแบบ แล้วต้องอดทนอยู่ในวังวนความสัมพันธ์ที่ Toxic หรือเสี่ยงที่จะทำให้คุณรู้สึกแย่ การตัดสินใจเลี่ยงออกมาจากข่ายความสัมพันธ์นั้นๆ ย่อมดีกว่าอดทนอยู่ต่อไป

ความสัมพันธ์เชิงกายภาพนี้เองที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณจะมีความสุขในชีวิตหรือไม่ สิ่งนี้ต้องอาศัยปัจจัยหลายด้านประกอบกัน อาทิ มีความสนใจคล้ายกัน มีความใส่ใจกัน มีความเมตตาต่อกัน มีความเคารพซึ่งกันและกัน เหล่านี้ล้วนประกอบสร้างและส่งเสริมให้ความสัมพันธ์พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีรายละเอียดลงลึกมากกว่านี้อีก เช่น ต้องมีความซื่อตรงต่อกัน ไปจนถึงรู้จักที่จะแบ่งปันเวลาให้ความสัมพันธ์นั้นๆ ด้วย

นอกจากนี้ สิ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนเติบโตนั้น เรารู้กันอยู่แล้วว่ามันไม่สามารถพัฒนาได้จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่ทั้งสองฝ่ายต้องช่วยกันสนับสนุน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งความสัมพันธ์ในชีวิตมักจะมี 7 มิติหลักๆ ที่ผู้คนต้องการ ดังนี้

หนึ่ง คนที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่มั่นคง รู้สึกปลอดภัย สอง คนที่พร้อมเรียนรู้และสนับสนุนให้เติบโตขึ้นทั้งสองฝ่าย สาม คนที่เป็นทึ่พึ่งทางใจหรือเป็นที่พึ่งทางความรู้สึกได้ พูดง่ายๆ ก็คือทำให้รู้สึกอบอุ่น เมื่อรู้สึกหมดแรง หมดกำลังใจ ก็สามารถทำให้อีกฝ่ายมีพลังมากกว่าจะซ้ำเติมหรือส่งพลังลบกลับมา

สี่ คนที่สามารถแบ่งปันประสบการณ์และช่วยส่งเสริมให้เกิดความแข็งแกร่งขึ้นได้ ห้า หากมีความสัมพันธ์แบบความรักใกล้ชิด ผูกพัน มีความรู้สึกพึงพอใจในความสัมพันธ์นั้นๆ หรือไม่ หก การให้ความช่วยเหลือทั้งในเชิงข้อมูลข่าวสารและในทางปฏิบัติ เช่น ถ้าขาดความเชี่ยวชาญหรือความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง สามารถหาคนมาช่วยสนับสนุนหรือเติมเต็มเรื่องดังกล่าวได้หรือไม่

เจ็ด คนที่สร้างความสนุกสนาน อยู่ด้วยแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ให้ถามตัวเองว่า ในชีวิต มีใครที่ทำให้คุณหัวเราะได้บ้าง ใครที่คุณโทรหาเพื่อชวนเขาไปดูหนังหรือท่องเที่ยว ใครที่ทำให้คุณรู้สึกสบายใจบ้าง

บทความจาก CNBC ชิ้นนี้ ยังแนบตารางมาด้วย เพื่อให้คุณระบุว่า ความสัมพันธ์ 7 แบบที่ว่านี้ ใครในชีวิตคุณ ถูกบรรจุไว้ในโหมดไหนบ้าง แน่นอนว่า มันไม่เป็นปัญหาเท่าไรนัก ถ้าคุณจะมีคนที่เกี่ยวข้องในชีวิตไม่ครบทั้ง 7 มิตินี้ แต่ก็จะทำให้เห็นได้ว่าผู้คนที่อยู่ในข่ายความสัมพันธ์ของชีวิตคุณนั้นส่งเสริมให้คุณได้มีความสุขในชีวิตมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ รายงานที่เผยแพร่ใน Harvard ยังบอกว่า 40% ที่เป็นความสุขของผู้คนนั้นส่วนใหญ่มาจากเส้นทางหรือการตัดสินใจที่พวกเขาเลือกเอง จากการศึกษาพบว่า ยิ่งผู้คนเติบโตมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับตัวเองมากขึ้น ไม่เสียเวลากับสิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิตอีกต่อไป

ยิ่งผู้คนเติบโตมากขึ้น อายุมากขึ้น ก็เรียนรู้ที่จะทำใจ ปล่อยวางกับอดีตและความล้มเหลวมากขึ้น

Dr. Robert Waldinger ระบุว่า งานวิจัยชิ้นอื่นๆ เผยให้เห็นว่า วิธีคิดของคนที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่จะรู้สึกปล่อยวางกับอดีตที่ล้มเหลวมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ เพราะพวกเขาตระหนักดีว่า ช่วงเวลาชีวิตนั้นแสนสั้น สิ่งที่พวกเขาควรให้ความสนใจมากขึ้นก็คือสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุขในปัจจุบัน

เขายกตัวอย่างกิจกรรมที่ทำให้ผู้คนมีความสุขในช่วงวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว อาจจะเป็นการร้องเพลง การเล่นเกม ไปจนถึงงานอดิเรกต่างๆ เมื่อผู้คนมีอายุเพิ่มขึ้น พวกเขาก็มีโอกาสที่จะหวนกลับไปทำกิจกรรมที่ทำให้ตัวเองมีความสุขในวัยเด็กมากขึ้นไปด้วย ขณะเดียวกัน พวกเขาก็พร้อมที่จะหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ มากกว่าจะต้องฝืนทนอยู่ในสภาพความสัมพันธ์ที่ทำให้ความรู้สึกแย่ลงต่อไป

ที่มา – CNBC, Health Harvard, News Harvard, Adult Development Study 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา