เปิดเบื้องหลังระบบ “เช่าซื้อ” รถมอเตอร์ไซค์ และแผนเข้าทำตลาดรูปแบบใหม่ด้วยระบบ Mobile

ยอดขายรถจักรยานยนต์ หรือ มอเตอร์ไซค์ ในประเทศไทยปีที่ผ่านมาประมาณ 1.75 ล้านคัน โดยระบบการซื้อขายมอเตอร์ไซค์ในไทยส่วนใหญ่เป็นการ “เช่าซื้อ” หรือ Hire Purchase ซึ่ง ผู้ที่ปล่อยสินเชื่อในการเช่าซื้อ คือ ร้านขายมอเตอร์ไซค์ นั่นเอง นี่คือระบบเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ของไทย

“เช่าซื้อ” หัวใจสำคัญสร้างยอดขายมอเตอร์ไซค์

แตกต่างจากรถยนต์ ที่เจ้าของแบรนด์ เช่น Toyota, Honda หรือแบรนด์อื่นๆ จะมีบริษัท Leasing ของตัวเอง ทำหน้าที่ดูแลการเช่าซื้อ ให้ดอกเบี้ยในอัตราที่แข่งขันกันในตลาด หลังๆ เริ่มมีธนาคารให้ความสนใจอยู่บ้างเช่นกัน ซึ่งต่างจากรถมอเตอร์ไซค์

ระบบที่ผ่านมา ร้านขายมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์แบรนด์ต่างๆ จะซื้อรถจำนวนหนึ่งจากผู้ผลิต โดยชำระเป็นเงินสด หรือแบ่งจ่ายเป็นงวด จากนั้นจึงนำมาขายต่อให้กับผู้ซื้อแบบ “เช่าซื้อ” ได้กำไรจากดอกเบี้ย ค่าความเสี่ยง และค่าปรับชำระผิดกำหนด ซึ่งจะใช้เวลาคุ้มทุนประมาณ 3 ปี

จึงไม่น่าแปลกใจที่ มียอดขายรถมอเตอร์ไซค์ในไทย 1.75 ล้านคัน และคนซื้อเป็นชาวบ้านที่ไม่ต้องมีเครดิตกับธนาคาร ก็สามารถซื้อได้ เพราะการส่งยอดรายเดือนจะมาจ่ายที่ร้านโดยตรง หรือโอนผ่านธนาคาร หรือมีคนมาเก็บถึงบ้าน

ดังนั้นสิ่งที่ร้านขายมอเตอร์ไซค์ต้องการคือ ระบบที่ช่วยในการตัดสินใจปล่อยเช่าซื้อให้ดีขึ้น

ระบบ H-Meter วัดผลก่อนปล่อยเช่าซื้อ

สมเกียรติ อึงอารี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเนียร์ คอม บอกว่า ร้านขายมอเตอร์ไซค์ทั่วประเทศประมาณ 1,500 แห่ง มีประมาณ 400 แห่งที่เป็นลูกค้าของซีเนียร์คอม จากข้อมูลโดยเฉลี่ย มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเช่าซื้อ 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปี หากรวมทุกร้านค้าทั่วประเทศน่าจะมากกว่านี้ 2-3 เท่าตัว ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก

ซีเนียร์คอม มองเห็นว่าระบบเช่าซื้อของร้านค้า ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการประเมินลูกค้า การปล่อยเช่าซื้อ และการตามเก็บเงิน ซึ่งสามารถนำระบบ Big Data เข้ามาใช้ได้ จึงพัฒนาแอพพลิเคชั่น H-Meter ขึ้นมาช่วยให้ระบบบริหารจัดการได้ดีขึ้น

“ร้านค้าเป็นผู้บริหารระบบเช่าซื้อด้วยตัวเอง เพราะทำให้การซื้อขายรถมอเตอร์ไซค์มีกำไรดีขึ้น แต่ก็ต้องเสี่ยงกับหนี้เสียที่อาจเกิดเช่นกัน ดังนั้นถ้ามีการประเมินความเสี่ยง ประเมินลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพน่าจะลดหนี้เสียได้”

สำหรับระบบของ H-Meter สามารถวัดผลได้ 5 ส่วน

  1. Policy Score คือ ร้านค้าสามารถกำหนดคุณลักษณะเพื่อให้คะแนนกับผู้ซื้อ เช่น เพศ อายุ อาชีพ รายได้ ภูมิลำเนา ประวัติทางการเงิน การค้ำประกัน เพื่อคำนวณออกมาเป็นคะแนนของผู้ซื้อ
  2. Business Intelligence คือ ซีเนียร์คอม จะนำข้อมูลประชากรศาสตร์ในแต่ละท้องที่ มาช่วยในการพิจารณา ร่วมกับ Policy Score เพื่อให้คะแนนผู้ซื้อ รวมถึงดูว่าตลาดมีความต้องการมากน้อยแค่ไหน
  3. Credit Approval ระบบจะช่วยพิจารณา ก่อนให้ร้านค้าตัดสินใจว่าจะอนุมัติการให้เช่าซื้อหรือไม่
  4. Bill Collector and Bank Payment ระบบจะช่วยแจกงานให้กับผู้ตามเก็บเงิน รู้ว่าต้องไปเก็บเงินที่ไหนบ้าง หรือถ้าผู้ซื้อสะดวกกับการจ่ายเงินผ่านธนาคาร ระบบสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการชำระเงินแล้ว
  5. A/R Over 360 Days ดูภาพรวมบัญชีลูกหนี้ทั้งหมด เพื่อประเมินสถานการณ์ หรือการติดตามหนี้

 

สมเกียรติ บอกว่า นี่คือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับพฤติกรรมผู้บริโภค และนำ Big Data มาช่วยวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจ และมีระบบบริหารจัดการหนี้ จัดเก็บหนี้ และยังเก็บประวัติของลูกค้าได้ด้วยว่า ใครมีการชำระหนี้ที่ดี

เติมเต็มด้วย MotorDeal สร้างช่องทาง Digital

สมเกียรติ บอกว่า เพื่อตอบสนองพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ ได้พัฒนาระบบ MotorDeal ขึ้นมาอีกตัว เพื่อให้ผู้ที่สนใจซื้อรถมอเตอร์ไซค์มาลงทะเบียน แสดงความต้องการ และร้านค้าที่อยู่ในระบบ จะสามารถเสนอข้อเสนอให้ผู้ซื้อได้เปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อ ช่วยให้ผู้ซื้อมีตัวเลือกและร้านค้ามีลูกค้ามากขึ้น

 

 

เมื่อมีการกรอกข้อมูลของผู้ซื้อ อาจเลือกร้านค้าที่อยู่ใกล้ภูมิลำเนาเพื่อให้สะดวกกับการซื้อขาย เพื่อเสนอข้อเสนอเข้ามาแข่งขันเปรียบเทียบ แต่ในอนาคตถ้าการขนส่ง และการชำระเงินไม่ใช่อุปสรรค เราอาจซื้อรถมอเตอร์ไซค์จากร้านค้าไหนก็ได้ในประเทศ รอรับสินค้าอยู่บ้านและชำระค่าเช่าซื้อผ่านระบบจ่ายเงินของธนาคาร

ทั้งนี้ ซีเนียร์คอม คาดว่า จะมีร้านค้าประมาณ 30% ของฐานสมาชิกเดิม ที่นำระบบ H-Meter มาใช้งาน ส่วนระบบ MotorDeal คาดว่าจะเริ่มเปิดให้ใช้งานต้นปีหน้า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา