จับตาดีลลงทุนครั้งใหญ่ของ KBank ใน Grab ลุยแพลตฟอร์ม Mobile Wallet

เทคโนโลยีพัฒนาไปทุกวัน จึงทำให้บริการใหม่ๆ ที่นำเทคโนโลยีมาทำให้ชีวิตประจำวันเราง่ายขึ้น มีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตในธุรกิจบริการนั้นได้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่น่าสนใจคือบริษัทที่เคยเริ่มธุรกิจด้วยการเป็นสตาร์ทอัพเมื่อ 6 ปีที่แล้วอย่าง Grab ที่เป็นแพลตฟอร์ม offline – to – online ให้บริการตั้งแต่การเดินทาง การจัดส่งสินค้า ส่งอาหาร ฯลฯ วันนี้มีธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล และมีบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกสนใจจะร่วมทุนด้วย

ล่าสุดธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank เห็นโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตของ Grab จึงตัดสินใจลงทุนกับพันธมิตรที่มีธุรกิจหลักนอกประเทศไทยเป็นครั้งแรกด้วยดีลสูงถึงกว่า 1,600 ล้านบาท เรื่องนี้จึงไม่น่าจะใช่เรื่องธรรมดา

คุณพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (ฝั่งขวา) คุณธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย (ฝั่งซ้าย)

ทำไม KBank และ Grab เลือกเป็น Partner กัน?

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ธนาคารเข้าไปลงทุนใน Grab Holding ที่สิงค์โปร์ผ่าน บริษัท  บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC)  (บริษัทในกลุ่มของธนาคารกสิกรไทย) เพราะเป้าหมายหลักของธนาคารต้องการเป็น “แพลตฟอร์มที่ลูกค้าเลือกใช้เพื่อตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิตในทุกวัน” ดังนั้นจะมีแค่เรื่องธุรกรรมการเงินไม่ได้ KBank เมื่อจับมือกับ Grab ที่มีฐานลูกค้า 125 ล้านผู้ใช้งาน จะทำให้แบงก์สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ   

คุณพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
คุณพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

“พอมีฟินเทคเกิดขึ้น เราไม่ได้มองเขาเป็นคู่แข่ง แต่มองว่าศักยภาพสามารถเสริมต่อยอดกันได้ เราเลยต้องเชื่อมโยงกับ Platform อื่นๆ ซึ่งช่วยเพิ่มฐานลูกค้า และเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มคนที่มากขึ้น เราร่วมมือกับ Grab ให้เกิด Digital Lifestyle Ecosystem ที่จะทำให้ลูกค้าใช้บริการบนแพลตฟอร์มของทั้งธนาคาร และ Grab ได้ไหลลื่น และเชื่อมโยงผู้คนทั้งระบบให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ”

เปิดตัว 3 บริการใหม่เมื่อ KBank ร่วมมือกับ Grab

ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย บอกว่า ปีนี้ Grab เข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว มีผู้ใช้งานทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 125 ล้านคน และมีผู้ประกอบการ (คนขับรถแท็กซี่ จักรยานยนต์ และร้านค้า ร้านอาหาร) ประมาณ 8-9 ล้านราย ซึ่งเมื่อเชื่อมแพลตฟอร์มกับธนาคารกสิกรไทยจะมีบริการเพิ่มขึ้นจากความเชี่ยวชาญของธนาคารอีก ในระยะแรกจะมี 3 เรื่องได้แก่

  1. GrabPay by KBank เป็น e-wallet (กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์) ที่ในอนาคตสามารถเติมเงินเข้าไปเพื่อใช้จ่ายในบริการของ Grab และในชีวิตประจำวัน (ต่างกับ Grab Pay ที่ปัจจุบันใช้เป็นช่องทางเชื่อมบัตรเครดิตมาชำระค่าสินค้าและบริการ)  โดยธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาแพลตฟอร์ม e-Wallet จะเป็นผู้พัฒนาระบบ และให้บริการหลังบ้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
  2. พัฒนาแอปพลิเคชัน K PLUS และ Grab ให้ใช้งานร่วมกันได้ และลูกค้าสามารถใช้บริการทั้งฝั่ง          K PLUS และ Grab ได้ราบรื่น เรื่องนี้น่าจะเห็นความชัดเจนปลายไตรมาส 4 นี้
  3. ทั้ง KBank และ Grab จะเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ในฐานลูกค้าทั้ง 2 บริษัท เช่น คนขับของ Grab สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารกสิกรไทยได้ หรือเสนอบริการ Grab for Business ให้ลูกค้า SME ของแบงก์ใช้บริการเพื่อช่วยจัดการธุรกิจได้ง่ายขึ้น

“ธนาคารกสิกรไทยถือเป็นผู้นำเรื่องลูกค้า SME อยู่แล้ว ดังนั้น Grab จะเข้าไปเสนอบริการที่จะช่วยเสริมธุรกิจให้กับลูกค้าของ KBank ได้ด้วย”

คุณธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ Grab Thailand
คุณธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ Grab Thailand

แก้ Pain Point : ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มี Statement ก็ขอสินเชื่อได้

พัชร บอกว่า คนที่ไม่มีรายได้ประจำ เช่น คนขับแท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอร์ไซด์ มักขอสินเชื่อจากธนาคารยากเพราะไม่มี Statement หรือหลักฐานการเงินใดๆ ที่จะอ้างอิง แต่เมื่อ KBank ร่วมมือกับ Grab เราจะเอาข้อมูลที่ Grab เห็นอยู่ในระบบมาเป็นตัวช่วยให้กลุ่มคนขับรถมีหลักฐานยืนยันกับธนาคารได้จากหลังบ้านของ Grab เลย ทำให้เรามีฐานข้อมูลลูกค้า ทั้งเรื่องพฤติกรรมการเงิน รายรับลูกค้ากลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำมากขึ้น หรือไม่มีบัญชีธนาคารได้มากขึ้น (มีอยู่กว่าล้านคนทั่วประเทศไทย) เช่น ผู้ขับรถของ Grab พ่อค้าแม่ค้า สามารถขอสินเชื่อเพื่อหมุนเวียน ฯลฯ  ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารประเมินความเสี่ยงลูกค้า และมีโอกาสปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

“วินในกรุงเทพฯ มีเกือบแสนคัน พอเขาไม่มี Statement เขาก็ขอสินเชื่อยากขาดโอกาสในการซื้อเครื่องมือทำมาหากิน หรือความจำเป็นอื่นๆ ในชีวิต เลยต้องไปนอกระบบกันหมด ซึ่งสินเชื่อที่เราจะปล่อยก็วงเงินไม่สูง แต่ไม่ใช่ว่าเราเน้นปล่อยสินเชื่อย่างเดียว เราต้องพยายามไม่ให้มีหนี้เสีย (NPL) ข้อมูลที่มีจะช่วยประเมินความเสี่ยงลูกค้าก่อนปล่อยสินเชื่อได้”

จากทั้งหมดนี้ความร่วมมือครั้งนี้จึงไม่ใช่ความร่วมมือธรรมดา แต่เป็นการร่วมกันพัฒนาทั้งแพลตฟอร์มที่จะขยายต่อไปได้เรื่อยๆ และจะสร้างโอกาสของลูกค้าทั้งวงจรของ KBank และ Grab ให้ก้าวไปพร้อมกับโอกาสที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา