มารู้จักกับบริการของ Go-Jek สตาร์ทอัพจากอินโดนีเซีย ที่พร้อมท้าชน Grab

ถึงแม้ว่าสตาร์ทอัพประเภทเรียกรถในประเทศไทยจะโดนควบรวมกิจการจนเหลือเจ้าเดียวอย่าง Grab แต่ล่าสุด Go-Jek เตรียมเปิดให้บริการในประเทศไทยแล้ว ซึ่ง Brand Inside ยังไม่ทราบว่าธุรกิจอะไรจะเปิดให้บริการในไทยเป็นอย่างแรก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ บริการที่หลากหลายของ Go-Jek

ภาพจาก Shutterstock

สตาร์ทอัพระดับ Unicorn มูลค่าพันล้านเหรียญสหรัฐจากอินโดนีเซียรายนี้ก่อตั้งในปี 2010 โดย Nadiem Makarim โดยคิดว่าจะแก้ปัญหาการจราจรอันติดขัดยังไงในกรุงจาการ์ตา ซึ่งตอนแรกนั้นให้บริการ Call Center เรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือที่ภาษาอินโด เรียกว่า Ojek ซึ่งมีจักรยานยนต์รับจ้างอยู่ 20 คัน ซึ่งความคล่องตัวของมอเตอร์ไซค์สร้างความได้เปรียบเวลารถติดมากๆ ไม่ต่างจากประเทศไทย

ปัจจุบัน Go-Jek ให้บริการในอินโดนีเซีย 50 เมือง และเตรียมขยายมาในกลุ่มอาเซียนซึ่งไทยก็อยู่ในเป้าหมายนั้นด้วย โดยการประกาศขยายออกนอกประเทศนี้เกิดหลังจากการลงทุนรอบล่าสุดที่มี Google และ Temasek ยังรวมไปถึงบริษัทในประเทศอินโดนีเซียอย่าง Astra International ก็ได้ลงทุนไปด้วยมูลค่า 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

และล่าสุดบริษัทยังมีแผนที่จะนำบริษัทเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์จาการ์ต้าอีกด้วย สร้างความคึกคักให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก

บริการของ Go-Jek ในปัจจุบันแยกได้ 3 ประเภท ได้แก่ Go-Jek, Go-Pay และ Go-Life บริการทั้ง 3 ด้านนี้ถือว่าตอบโจทย์ผู้ใช้ที่ต้องการความสะดวกสบายในชีวิตเพราะว่าบริการทั้งหมดอยู่ใน Application เดียว

บริการ Go-Jek

โดยบริการนี้ถือเป็นหลักของสตาร์ทอัพรายนี้ โดยจะเน้นไปที่การขนส่ง ประกอบไปด้วย

  • Go-Ride บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
  • Go-Car บริการเรียกรถยนต์ เหมือนกับ Uber และ Grab
  • Go-Food บริการส่งอาหาร เหมือนกับ Uber Eats, LINE Man และ GrabFood
  • Go-Mart บริการส่งของจาก Supermarket เหมือนกับ HappyFresh และ Honestbee
  • Go-Send บริการส่งของพัสดุเล็กๆ น้อยๆ ที่เน้นสะดวกหรือเร่งด่วน เหมือนกับ Grab
  • Go-Box บริการส่งของที่ใหญ่ขึ้นมาอีก โดยใช้รถปิ๊กอัพหรือ รถบรรทุก
  • Go-Tix บริการซื้อตั๋ว ไม่ว่าจะเป็นตั๋วหนัง ตั๋วการแสดง คอนเสิร์ต ฯลฯ
  • Go-Med บริการซื้อยาจากร้านขายยาที่ถูกต้อง โดยบริการนี้ร่วมมือกับ Halodoc

บริการ Go-Pay

บริการเหล่านี้ถือว่าเป็นหนึ่งใน Ecosystem ของทาง Go-Jek เพราะว่าสามารถจ่ายจบครบด้วย Application เดียวได้ หรือแม้แต่ยังทำธุรกรรมใน Application ของทาง Go-Jek ได้อีกหลายอย่างมากๆ

  • Go-Pay บริการจ่ายเงินโดยใช้โทรศัพท์มือถือ เช่น เวลาไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ สามารถจ่ายเงินผ่าน Go-Pay ได้เลย
  • Go-Bills บริการจ่ายบิล ค่าบริการต่างๆ
  • Go-Points สะสมแต้มการใช้บริการ Go-Pay โดยนำคะแนนไปแลกเป็นของรางวัลต่างๆ
  • Go-Pulsa บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ

บริการกลุ่มนี้เราจะเห็นได้ว่ามีคู่แข่งที่หลากหลายบริษัทในประเทศไทยมากๆ ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารเอง แต่ถ้าหาก Go-Jek มาให้บริการในประเทศไทยก็จะถือว่าเป็นตัวเลือกใหม่ๆ อีกหนึ่งบริการเลยทีเดียว

ภาพจาก Shutterstock

บริการ Go-Life

บริการด้านความสะดวกสบาย และรวมไปถึงผ่อนคลาย! ด้วย และยังรวมไปถึงบริการที่ช่วยแก้ปัญหาหากรถยนต์เกิดปัญหาด้วย

  • Go-Massage บริการจองร้านนวด โดยสามารถเลือกระยะเวลา หรือประเภทการนวดได้ด้วย
  • Go-Clean บริการจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาดบ้าน
  • Go-Auto บริการซ่อมและดูแลรถ และยังรวมไปถึงบริการลากรถ หรือแม้แต่พ่วงแบตเตอรี
  • Go-Glam ใช่แล้วครับ มันคือบริการแต่งหน้า ทำผม ทำเล็บให้กับสาวๆ ถึงบ้าน!

บริการของ Go-Jek มีความหลากหลายมากๆ ต้องมารอดูว่าบริการไหนที่จะเปิดบริการในประเทศไทยบ้าง รับรองว่าการแข่งขันดุเดือดแน่นอน และคู่แข่งหลักก็หนีไม่พ้น Grab ที่สร้างฐานลูกค้าไว้ก่อนแล้ว แต่ตลาดนี้ถ้าอัดโปรโมชั่นกันหนักๆ คุมคุณภาพดีๆ ลูกค้าก็พร้อมจะย้ายมาใช้บริการได้ไม่ยาก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ