อนาคตของ Co-Working Space อยู่ที่ไหน ในยุคหลังโรคระบาด

Co-Working Space ที่กำลังเปลี่ยนไปในโลกยุคหลังโควิด

Co-Working Space
Co-Working Space Photo: Shutterstock

Co-Working Space 2.0 แบ่งปันพื้นที่คือหัวใจของการทำงาน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รูปแบบออฟฟิศที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ Co-Working Space

โดยหลักการแล้ว Co-Working Space คือการแบ่งปันพื้นที่ในการทำงาน มีพื้นที่ส่วนกลางให้ใช้ร่วมกัน ออกแบบด้วยแนวคิดออฟฟิศแบบเปิด (open office) ที่เชื่อว่าทำให้คนทำงานสื่อสารกันมากขึ้น ไม่มีกำแพงกั้นเหมือนยุคก่อนที่ต่างคนต่างทำงานในพื้นที่ของตนเอง

อันที่จริงแล้ว ในตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจให้เช่าพื้นที่ทำออฟฟิศแบบเปิดจำนวนมากเติบโตขึ้นมากมาย ที่โดดเด่นคือ WeWork สตาร์ทอัพให้เช่าพื้นที่ที่(เคย)มาแรงที่สุดในโลก มูลค่ากิจการหลักล้านล้านบาท ซึ่งแนวคิดของ WeWork คือการสร้างชุมชน (community) ของคนทำงานด้วยพื้นที่แบบ Co-Working Space แต่ทว่า หลังจากยุครุ่งเรือง WeWork ก็พบจุดจบที่ IPO ไม่สำเร็จและเกือบล้มละลาย

โควิดกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ส่วนกลาง

อย่างไรก็ตาม เมื่อโควิดมาถึง ยุคสมัยแห่งโรคระบาดได้เปลี่ยนหน้าตาของการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง พื้นที่ส่วนกลางกลายเป็นพื้นที่อันตราย การเว้นระยะห่างทางสังคมคือมาตรฐานใหม่ของการใช้ชีวิต และที่สำคัญ คนทำงานเริ่มเรียนรู้ว่า การทำงานที่มีประสิทธิภาพอาจไม่ได้เกิดขึ้นในออฟฟิศอีกต่อไป เพราะมันสามารถเกิดขึ้นจากในบ้านของพนักงานได้ นั่นก็คือ Work From Home

แน่นอนว่า หลายคนตั้งคำถามไปไกลถึงขั้นว่า หากโรคระบาดยังอยู่กับมนุษย์ไปอีกสักระยะ แล้ว Co-Working Space ยังมีอนาคตอยู่หรือไม่

คำตอบที่น่าสนใจคือ Co-Working Space ยังอยู่ แต่ต้องแปลงโฉม เพราะเทรนด์โลกการทำงานนับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป จะเหลือแก่นแกนอยู่ที่การเชื่อมต่อ สัมพันธ์ และทำงานร่วมกันของคนทำงานผ่านทางออนไลน์ ไม่ได้เน้นความสัมพันธ์ทางกายภาพเป็นหลักเหมือนในยุคก่อนหน้านี้

WeWork
WeWork

Co-Working Space 3.0 ไม่สนใจพื้นที่ เน้นความสัมพันธ์ที่แนบแน่น

หนึ่งในสตาร์ทอัพที่เข้ามาตอบโจทย์เรื่องนี้ชื่อว่า Caveday

Caveday คือชุมชนออนไลน์ที่มีเป้าหมายเพื่อการทำงานจากบ้าน (หรือจากที่ไหนก็ได้ ขอแค่มีอินเทอร์เน็ต) โดยจุดประสงค์คือมาช่วยทำให้การทำงานจากที่บ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากแต่ละคนมีปัญหาของการทำงานจากบ้านที่แตกต่างกัน บางคนมี productivity มากขึ้น แต่ขาดความรู้สึกร่วมของการทำงาน (engagement) ขาดความคิดสร้างสรรค์ บางคนขาดแรงจูงใจในการทำงาน เพราะไม่มีใครมากระตุ้น หรือที่หนักกว่านั้นคือบางคนขาดสมาธิในการทำงาน

สิ่งที่ Caveday ทำคือเข้ามาอุดรอยรั่วตรงนี้ทั้งหมดผ่านชุมชนออนไลน์ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือสร้างพื้นที่แห่งสมาธิและการจดจ่อเพื่อทำงานอย่างมีคุณภาพ รวมถึงแบ่งปันเวลาไปเสริมสร้างชีวิตในส่วนอื่นๆ ให้มีคุณภาพที่ดี

วิธีการทำงานโดยหลักของ Caveday มีดังนี้

  • ให้สมาชิกเข้า Zoom โปรแกรมประชุมออนไลน์
  • จากนั้นปิดโทรศัพท์มือถือ
  • วางแผนว่าจะทำอะไรต่อรอบ (กำหนดเวลาเองได้ อาจจะรอบละ 40 นาที หรือ 1 ชั่วโมงแล้วพักก็ได้)
  • ทักทายเพื่อนๆ และเปิดกล้องตลอดเวลาทำงาน Caveday บอกว่า วิธีนี้คือการเปิดเผยตัวตนว่า เรากำลังทำงานอยู่ ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบว่าจะไม่อู้งานและทำงานที่วางแผนไว้ให้สำเร็จ
  • เมื่อทำงานเสร็จต่อรอบ ทุกคนก็จะฉลองความยินดีด้วยกัน ลองดูคลิปวิดีโอด้านล่างนี้ประกอบ

เมื่อทุกคนทำงานเสร็จต่อรอบ สิ่งสำคัญของชีวิตการทำงานจากบ้านก็คือการพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ ในชุมชนของ Caveday จะส่งเสริมให้แต่ละคนทำในสิ่งที่ชอบนอกเหนือจากงานเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

ปรัชญาของ Caveday คือความเชื่อที่ว่า วัฒนธรรมของการทำงานสร้างได้โดยไม่ต้องอาศัยพื้นที่ เพราะสิ่งสำคัญและเป็นหัวใจของวัฒนธรรมการทำงานคือ “ความสัมพันธ์” ที่สร้างขึ้นจากคนในชุมชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่เดียวกันด้วยซ้ำ

Jeremy Redleaf ผู้ก่อตั้ง Caveday บอกว่า ในโลกยุคหลังโควิด การทำงานต้องเป็น Co-Working Space 3.0 ซึ่งอาจเรียกว่ายุคแห่ง “We Work Together” (ล้อกับยุคสมัยของ WeWork) หมายความนับจากนี้ว่า เราต้องหันมาโฟกัสกับการทำงานร่วมกันมากขึ้น ในแง่ของความสัมพันธ์กับคนและงานที่ทำ ไม่ใช่สัมพันธ์กันในแง่ของพื้นที่อีกต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา