เตรียมเฮ! รัฐบาลจ่อคุมค่ายา-เวชภัณฑ์-บริการทางการแพทย์ กระทบหุ้นรพ.ตกวูบ

ไม่ว่าจะเกิด แก่ เจ็บ หรือตาย คนก็ต้องไปโรงพยาบาลกันทั้งนั้น แต่ค่าบริการรพ.เอกชนที่แพงขึ้นทุกวัน ส่วนรพ.รัฐก็คิวแน่นจนไม่ไปหมด เลยเป็นเหตุให้รัฐเล็งควบคุมค่ารักษาพยาบาลแล้ว

ภาพจาก shutterstock

กกร.เตรียมเสนอครม. คุมค่ายา-เวชภัณฑ์-บริการทางการแพทย์

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เล่าหลังการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่าการประชุมครั้งนี้มีมติให้เพิ่ม ยาและเวชภัณฑ์ เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม และถอดสินค้า 4 รายการออกจากบัญชีสินค้าควบคุม ได้แก่ น้ำตาลทราย เยื่อกระดาษ เม็ดพลาสติก และแบตเตอรี่รถยนต์ โดยผลการประชุมครั้งนี้จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้เพื่อการดูแลสินค้าจำพวกยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ เลยจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่ทำหน้าที่ศึกษา และหาข้อสรุปว่ามาตรการดูแลเรื่องเหล่านี้ต้องเป็นอย่างไร โดยในคณะกรรมการฯ จะมีตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมประกันภัย ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาช่วยกันหาทางออก

“ยังตอบไม่ได้ว่ามาตรการที่จะทำออกมา จะทำให้ราคายาและเวชภัณฑ์ รวมถึงบริการทางการแพทย์ ราคาลดลงหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับข้อสรุปของคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้น นี่ถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงพาณิชย์นำรายการสินค้ากลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม เพื่อดูแลอย่างจริงจัง”

ภาพจาก Shutterstock

รัฐคุมค่าหมอ-ค่ายากระทบหุ้นรพ.ตกวูบ-ผลดีธุรกิจประกัน

วันที่ 9 ม.ค. 2562 หลังผลการประชุมกกร. ออกมาส่งผลให้หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลราคาตกลงภายในระหว่างวัน ได้แก่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวช (BDMS) ราคาร่วงลง 7.69% มาอยู่ที่ 22.80 บาทต่อหุ้น  โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ราคาร่วงลง 7.01% มาอยู่ที่ 179 บาทต่อหุ้น บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ราคาร่วงลง 3.66% มาอยู่ที่ 15.80 บาทต่อหุ้น

โดยนักวิเคราะห์มองว่ามาตรการที่อาจออกมาควบคุมค่ายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ อาจส่งผลลบกับหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลในกลุ่ม Premium

ตรงข้ามกับแหล่งข่าวจากสมาคมประกันชีวิตไทย ที่สนับสนุนการที่รัฐจะควบคุมราคาค่ายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ซึ่งในต่างประเทศเช่น สิงคโปร์ และมาเลเซียเริ่มดำเนินการไปแล้ว ไทยควรศึกษาแนวทางเพื่อมาพัฒนามาตรการในประเทศ

นอกจากนี้หากรัฐบาลสามารถควบคุม สินค้ากลุ่มนี้ได้จะทำให้ ต้นทุนในการรักษาพยาบาลต่ำลง ส่งผลต่อเนื่องให้ประชาชนภาระน้อยลง และมีกำลังซื้อมากขึ้น รวมถึงมีเงินเพียงพอเพื่อวางแผนทำประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนการรักษาพยาบาลถูกลง ก็สามารถออกแบบประกันภัยให้ราคาถูกลงได้ด้วย

สรุป

กลายเป็น Pain Point ของคนไทยมาเนิ่นนาน เพราะราคาค่ายา ค่าหมอ แพงขึ้นทุกวันเฉลี่ยปีละ 8-10% แต่ตอนนี้รัฐบาลจะเข้ามาคุมธุรกิจการแพทย์มากขึ้น เรียกว่าเป็นข่าวดีของประชาชน แต่จะเป็นข่าวร้ายของโรงพายาลหรือเปล่า?

ที่มา สยามรัฐ, กรุงเทพธุรกิจ, มิติหุ้น, Posttoday

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา