ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดธุรกิจ Food Delivery ปี 2023 หดตัวจากคนใช้จ่ายระมัดระวัง-ปริมาณการสั่งลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2023 นี้ มูลค่าตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (ธุรกิจ Food Delivery) น่าจะอยู่ที่ประมาณ 86,000 ล้านบาท หรือลดลง 0.6% จากปี 2022  เนื่องจากแม้ว่า ค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งอยู่ที่ 183 บาท จะเพิ่มขึ้นถึง 8.6% จากค่าเฉลี่ยในปี 2022 แต่กลับพบว่าปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะหดตัวลง 11.3% เมื่อเทียบกับปี 2022 โดยมีการหดตัวรุนแรงจากกลุ่มเครื่องดื่ม เช่น ชานม/กาแฟ และเบเกอรี่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมาจากการปรับตัวจากฐานสูงที่เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 และเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และรายได้ยังไม่กลับมาปกติ ทำให้ผู้บริโภคยังระมัดระวังในการใช้จ่าย

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคพบว่า Food Delivery คงมีความสำคัญเห็นได้จากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (44%) ยังมีการสั่งอาหารแต่ความถี่ในการสั่งลดลง เพราะมีการเปลี่ยนมาทานอาหารนอกบ้าน หรือทำเอง รวมถึง ไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการสั่งอาหาร 

โดยอีก 42% มองว่ายังมีการใช้บริการ Food Delivery เท่าเดิม รองลงมาเป็นกลุ่มตัวอย่างราว 8% ที่ไม่ใช้บริการ และอีก 6% เป็นกลุ่มที่ใช้งานมากขึ้น

ทั้งนี้ปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคใช้แอปพลิเคชั่น Food Delivery น้อยลง หรือปัจจัยที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างหลีกเลี่ยงการสั่งอาหารในระยะข้างหน้า ได้แก่

  • ค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารปรับตัวสูงขึ้นทั้งราคาอาหารและค่าขนส่ง
  • ปัญหาอาหารที่สั่งแล้วไม่ตรงปกจากร้านอาหาร 
  • ปริมาณอาหารที่ได้รับรู้สึกไม่คุ้มกับค่าเงินที่เสียไป 
  • ปัญหาความล่าช้าในการส่งอาหาร
  • ปัญหาความผิดพลาดและอาหารเสียหาย 
  • อื่นๆ เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ส่ง/การใช้งานแอปฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นเหล่านี้ดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นสะสมมานาน ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์คงต้องทำงานร่วมกับผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ใช้บริการ

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

นอกจากนี้ ธุรกิจ Food Delivery ยังอยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ภายใต้ตลาดที่จำกัด โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (80%) ใช้บริการ Food Delivery มากกว่า 1 แอปพลิเคชั่น และโดยกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างใช้แอปพลิเคชั่นในการสั่งอาหารประจำอยู่ 2 แอปพลิเคชั่น เพื่อเปรียบเทียบราคา ความคุ้มค่า โปรโมชั่น ฯลฯ 

ดังนั้นธุรกิจ Food Delivery จำเป็นต้องมีการปรับคุณภาพการให้บริการ ร้านอาหารที่มีคุณภาพและทางเลือกที่หลากหลาย และตอบโจทย์ลูกค้าลงระดับ Sub-segment เช่น ใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอ Customized loyalty program หรือโปรโมชั่นที่ดึงดูด เป็นต้น เพื่อรักษายอดการใช้บริการของกลุ่ม Gen Y-X และเพิ่มรายได้จากลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่าง Gen Z ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุน

ทั้งนี้ จากกลุ่มตัวอย่างพบว่า ผู้บริโภคที่ใช้บริการสั่งอาหารจัดส่งไปยังที่พักส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y (58%) รองลงมา เป็นกลุ่ม Gen X (28%) ซึ่งเป็นกลุ่มในวัยทำงานที่มีกำลังซื้อ 

ขณะที่กลุ่มผู้บริโภค New generation หรือ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาและวัยเริ่มทำงาน แม้จากผลสำรวจสะท้อนว่ามีสัดส่วนผู้ใช้งานน้อยกว่าแต่กลับพบว่ามีค่าเฉลี่ยความถี่ในการใช้งานสูงกว่ากลุ่มอื่น

ขณะที่ในระยะข้างหน้า ธุรกิจ Food Delivery ยังมีโจทย์ท้าทาย จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงการเติบโตของแต่ละแพลตฟอร์มยังมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ การดูแลต้นทุนทางธุรกิจ และสร้างผลกำไรให้กลับมาเป็นบวก โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ต้นทุนการทำธุรกิจยังมีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งต้นทุนในการดำเนินงาน (ค่าการตลาด ค่าจ้างและค่าบริหารจัดการระบบไอที เป็นต้น) และต้นทุนทางการเงิน ขณะที่ภาวะตลาดเงินและตลาดทุนยังมีแนวโน้มผันผวนสูงซึ่งอาจสร้างข้อจำกัดในการจัดหาเงินทุน ทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารไปยังที่พักคงต้องปรับสมดุลในการทำธุรกิจ

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา