ย้อนรอย Facebook แบรนด์ยอดแย่ปี 2020: ข่าวปลอม โฆษณาการเมือง ทำความน่าเชื่อถือตกต่ำ

ในปี 2020 ที่ผ่านมายังคงเป็นปีที่หนักหน่วงของ Facebook แพลตฟอร์ม Social Network ชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ที่ภาพลักษณ์ที่ Facebook ต้องการนำเสนอสู่สายตาชาวโลก ต่างจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2020 ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น Facebook ได้ทำการเผยแพร่โฆษณาชิ้นหนึ่งเพื่อสื่อถึงสถานการณ์ดังกล่าว ภายใต้สถานที่สาธารณะ ถนน โรงเรียน รถเมล์ที่ไร้ผู้คน โรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยคนไข้จำนวนมาก แต่ผู้คนกลับสื่อสารถึงกันได้บน Facebook พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 บน Facebook

อย่างไรก็ตามแม้ Facebook จะต้องการเพิ่มช่องทางการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่มีความถูกต้อง แต่ในความจริงแล้ว Facebook กลับเป็นพื้นที่สำหรับการเผยแพร่ข่าวปลอม และข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับโควิด-19 เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอีกด้วย

ในช่วงเดือนสิงหาคม 2020 ที่ผ่านมา Avaaz ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของทนายความในสหรัฐอเมริกา เคยทำการเก็บข้อมูลพบว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการแพทย์ และสาธารณสุขแบบผิดๆ มียอดการรับชมกว่า 3.8 พันล้านครั้ง จากแหล่งข้อมูลเพียง 10 แห่ง จนเหมือนเป็น Superspreader แห่งการแพร่ข้อมูลแบบผิดๆ

ในทางตรงกันข้ามเพจที่ให้ข้อมูลด้านการแพทย์ และสาธารณสุขที่ถูกต้อง จำนวน 10 เพจ เช่น องค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมโลกติดต่อสหรัฐฯ (CDC) กลับมียอดการรับชมที่น้อยกว่าถึง 4 เท่า

ปี 2019-2020 Facebook กับประเด็นความน่าเชื่อถือของแบรนด์

อย่างไรก็ตามปี 2020 ไม่ใช่ปีที่แย่สำหรับ Facebook เพราะย้อนกลับไปในปี 2019 Mark Zuckerberg เคยถูก คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนด้านบริการทางการเงินของสหรัฐอเมริกา (House Financial Services Committee) สอบสวนเรื่องการจัดการกับข่าวปลอม โฆษณาทางการเมือง และกรณี Cambridge Analytica ในอดีต โดย Alexandria Ocasio-Cortez ถาม Mark Zuckerberg ว่า เธอสามารถเลือกลงโฆษณาที่ไม่มีข้อเท็จจริง โดยหวังผลด้านการเมืองได้หรือไม่ ซึ่ง Mark Zuckerberg ยืนยันว่า “อาจทำได้” โดยให้เหตุผลเรื่องความเป็นธรรมทางการเมืองกับทุกๆ ฝ่าย

ซึ่งในกรณีนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือของ Facebook ในการจัดการกับข่าวปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับข่าวปลอมที่อาจส่งผลต่อการเมือง และการเลือกตั้ง

หลังจากนั้นไม่นาน Facebook ก็ได้รีแบรนด์ภาพลักษณ์บริษัทใหม่ โดยพยายามแยกความเป็นแพลตฟอร์ม Social Network ของ Facebook ออกจาก Facebook ที่เป็นบริษัท ด้วยการเปลี่ยนโลโก้ใหม่ทั้งหมด

George Floyd จุดฉนวน Hate Speech บน Facebook

หลังจากเหตุการณ์ในปี 2019 ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2020 การเสียชีวิตของ George Floyd ไม่นาน Facebook ถูกโจมตีจากวุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกาว่า Facebook กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่เหยียดสีผิว โดยที่ Facebook มีมาตรการดูแลไม่เพียงพอ รวมถึงมีข้อความ Hate Speech จำนวนมากโดยที่ Facebook เอง ไม่ได้มีการจัดการตามคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเชื้อชาติอย่างที่ได้อ้างไว้

จากเหตุการณ์ของ George Floyd นี้เอง ทำให้แบรนด์ดังระดับโลกกว่า 900 แบรนด์ ทั้ง Unilever, Adidas, Ford, และ Lego เป็นต้น ประกาศงดการลงโฆษณาบน Facebook ตามแคมเปญ #StopHateForProfit ที่ตั้งขึ้นโดยกลุ่มสิทธิพลเมือง อาทิ NAACP และ Anti-Defamation League

ในที่สุด Facebook ก็มีความพยายามที่จะควบคุมและจัดการข้อความที่มี Hate Speech แล้วด้วยการติดป้ายให้รู้ว่าข้อความดังกล่าวของ users มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรง

Facebook
ภาพจาก Shutterstock

ความเป็นส่วนตัว ประเด็นระหว่าง Facebook, Apple และพาร์ทเนอร์โฆษณา

นอกจากเรื่องการเผยแพร่ข่าวปลอม และข้อความ Hate Speech ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ Facebook ดูแย่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว Facebook ยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน เมื่อ Apple ออกอัพเดทซอร์ฟแวร์ iOS 14 ที่ให้ผู้ใช้งานอนุญาตการเก็บข้อมูลการโฆษณาบนตัวเครื่องที่จำเป็นต่อการทำ Target Ad ซึ่งเมื่อผู้ใช้งาน iOS 14 สามารถเลือกที่จะให้ข้อมูลหรือไม่ให้ก็ได้ ย่อส่งผลต่อการทำโฆษณาที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะของ Facebook

โดย Facebook ได้แจ้งเตือนไปยังพาร์ทเนอร์โฆษณาของตัวเองว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่น่าจะเลือกไม่อนุญาตให้ Facebook เก็บข้อมูลโฆษณาบนตัวเครื่องนั่นเอง ซึ่ง Facebook ก็ได้แสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยด้วยกับ Apple ด้วยการลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ 1 หน้าเต็มๆ ว่านโยบายควาเป็นส่วนตัวแบบใหม่ของ Apple จะเป็นการฆ่าธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ลำบากมากขึ้นไปอีก

Social Network ที่อาจผูกขาดทางการค้า?

นอกจากกรณีความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานที่ไม่ลงรอยกับ Apple แล้ว Facebook ยังจะโดนเล่นงานเรื่องการผูกขาดทางการค้าด้วยเช่นกัน เพราะ Facebook ถูกกล่าวหาว่าพยายามสกัดคู่แข่งในวงการ Social Network ด้วยการไล่ซื้อคู่แข่งรายอื่นๆ ที่มีลักษณะการบริการแบบเดียวกัน

ซึ่งที่ผ่านมา Facebook เคยทำการเข้าซื้อแพลตฟอร์ม Social Network อื่นๆ มาแล้วหลายครั้ง ได้แก่ Instagram เมื่อปี 2012 ด้วยมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ WhatsApp ในปี 2014 ด้วยมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท

ในช่วงปี 2019 และ 2020 ที่ผ่านมา Facebook นับว่าต้องประสบกับปัญหาหลากหลายด้าน ทั้งการเป็นช่องทางในการเผยแพร่ขาวปลอม Hate Speech เรื่องโรคระบาด เรื่องการเมือง ประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน และประเด็นด้านการผูกขาดทางการค้า ก็ต้องรอดูกันต่อไปในอนาคตว่า Facebook จะหาวิธีในการจัดการกับประเด็นต่างๆ อย่างไร เพื่อเรียกความ “น่าไว้วางใจ” ของตัว Facebook เองให้กลับมาได้

ที่มา – Fastcompany, nymag, cleveland, vice

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา