รู้น้อยแต่มั่นมาก รู้จัก Dunning-Kruger Effect สาเหตุที่ทำให้คนเราคิดว่าตัวเองรู้มากกว่าความเป็นจริง

คนรู้น้อยแต่คิดว่าตัวเองรู้มาก กับคนรู้มากที่ไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง เราเป็นแบบไหน ที่จริงแล้ว เราอาจเป็นคนทั้ง  2 แบบได้ในช่วงเวลาที่ต่างกัน

ตั้งแต่ป้าข้างบ้านที่ชอบโชว์เหนือ คนที่พ่นคำยาก ๆ บนโซเชียลมีเดียแล้วภูมิใจเพราะคิดว่าคนอื่นจะไม่เข้าใจ ไปจนถึงเพื่อนร่วมงานที่มั่นใจว่าตัวเองรู้สารพัดแต่ทำงานพลาดอยู่บ่อย ๆ คนประเภทนี้เจอได้ทั่วไปในสังคม แม้แต่ตัวเราเอง บางครั้งคิดว่ารู้เรื่องต่าง ๆ ดีแล้วแต่พอต้องอธิบายถึงเพิ่งรู้ว่าเราไม่ได้รู้ดีขนาดนั้น

อาการรู้น้อยแต่มั่นมากมีชื่อเรียกว่า “Dunning-Kruger Effect” มาจากการศึกษาในปี 1999 ของ David Dunning และ Justin Kruger นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ทั้ง 2 ทำการทดลองให้นักศึกษาปริญญาตรี 45 คนตอบคำถามด้านตรรกะ 20 ข้อโดยก่อนที่จะทำข้อสอบได้ให้นักศึกษาคาดการณ์คะแนนของตัวเองไว้ก่อน

Dunning และ Kruger ให้นักศึกษาคาดคะเนคะแนนที่ตัวเองจะได้เป็น 2 แบบ แบบแรกคือให้ประเมินว่าจะตอบคำถามถูกกี่ข้อ กับแบบที่  2 ให้ประเมินคะแนนเทียบกับนักศึกษาคนอื่นที่ทำแบบทดสอบด้วยกัน ผลโดยรวมพบว่า คนส่วนใหญ่ประเมินตัวเองสูงกว่าค่าเฉลี่ย

จากผลทดลองยังได้แบ่งนักศึกษาเป็น 2 กลุ่มตามช่วงคะแนน กลุ่มที่ได้คะแนนต่ำสุด มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 10 จาก 20 คะแนน ขณะที่กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด มีคะแนนเฉลี่ย 17 คะแนน แต่ทั้ง 2 กลุ่มประเมินก่อนทำข้อสอบว่าตัวเองจะได้ 14 คะแนน หมายความว่ากลุ่มที่ได้คะแนนต่ำประเมินตัวเองสูงเกินไป ขณะที่กลุ่มที่ได้คะแนนสูงประเมินตัวเองต่ำเกินไป

นอกจากนี้ การให้เปรียบเทียบกับเพื่อนยังพบว่า กลุ่มที่ได้คะแนนต่ำสุดคาดว่าตัวเองจะทำได้ดีกว่า 62% ของคนที่ทำข้อสอบทั้งหมด ขณะที่กลุ่มที่ได้คะแนนสูงที่สุดคาดว่าตัวเองจะทำได้ดีกว่า 68% ของคนที่ทำข้อสอบ 

การทดลองเลยให้ข้อสรุปว่าคนเรามีอคติทางความคิด คนที่มีความรู้และประสบการณ์น้อยมีแนวโน้มที่จะคิดว่าตัวเองรู้มากกว่าคนอื่น 

Dunning-Kruger Effect ให้ข้อสรุปเหมือนในหนังสือ The Knowledge Illusion ของ  Steven Sloman ศาสตรจารย์ด้าน Cognitive Science ที่มหาวิทยาลัยบราวน์ และ Philip Fernbach ผู้ร่วมเขียนหนังสือ ที่บอกว่า คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าตัวเองรู้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันเสมอแต่ที่จริงแล้วเราแค่คิดไปเองว่าเรารู้

ลองตอบคำถามง่าย ๆ ที่เป็นสิ่งที่เราใช้อยู่ทุกวันอย่างเช่น “ตู้เย็นทำงานยังไง” หรือ “ชักโครกทำงานยังไง” คนส่วนใหญ่อาจรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ตัวเองรู้มาตลอด แต่พอให้ลองอธิบายหลายคนก็อธิบายไม่ได้หรืออธิบายผิด หรือจะเป็นคำถามที่ยากขึ้นอีกนิด อย่าง “เราควรต้องจ่ายภาษีเท่าไร” ถ้าลองโพสต์บนโซเชียลมีเดีย แน่นอนว่าคงมีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น แต่จะมีสักกี่คนที่รู้เรื่องนี้อย่างลึกซึ้งจริง ๆ 

แล้วอะไรเป็นสาเหตุให้รู้น้อยแต่มั่นมาก?

อาการรู้น้อยแต่มั่นใจมากเกิดจากที่เวลาเราเรียนรู้สิ่งใหม่จะต้องผ่านช่วงที่เรียกว่า Mount Stupid หรือยอดเขาของความโง่เขลา เป็นช่วงที่เริ่มมีความรู้ในเรื่องนั้นขึ้นมาเล็กน้อย จากเดิมที่รู้ 0 เพิ่มมาเป็น 10 จากทั้งหมด 100 การรู้ 10 นี้เองที่ทำให้เข้าใจไปว่าตัวเองรู้มากแล้ว เพราะไม่รู้ว่ามีอีกตั้ง 90 ที่ตัวเองยังไม่รู้ ทำให้ช่วงนี้กราฟความมั่นใจพุ่งสูงจนฉุดไม่อยู่เลยกล้าแสดงความเห็นในเรื่องนั้นอย่างเต็มที่

แต่ความมั่นใจเกินเหตุนี้จะลดลงเมื่อมาถึงช่วง “Valley of Despair” เป็นหุบเขาแห่งความสิ้นหวังที่ความมั่นใจดิ่งลงเหวเมื่อเรียนรู้ว่าจริง ๆ เรื่องที่คิดว่ารู้อยู่แล้วซับซ้อนกว่าที่คิด จนพาลทำให้รู้สึกว่าเราโง่เกินไปที่จะเข้าใจสิ่งนี้ เป็นช่วงที่ตระหนักได้ว่าตอนที่อยู่บน Mount Stupid เราอ่อนด้อยความรู้แค่ไหน ขณะที่ความรู้จริงที่มีอยู่ในช่วงนี้จะเกินค่าเฉลี่ยคนทั่วไปที่รู้เพียงผิวเผินไปแล้ว

ถ้ายังไม่ถอดใจจนหยุดเรียนรู้ไปซะก่อน จากหุบเขาที่สิ้นหวังจะเข้าสู่ช่วง “Slope of Enlightenment” ที่กราฟความมั่นใจจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอีกครั้งแต่ไม่ได้เพิ่มแบบกะทันหันอย่างในช่วง Mount Stupid และคราวนี้ความรู้ในเรื่องนั้นก็จะเพิ่มขึ้นด้วย และเป็นช่วงที่ต่อยอดจนเข้าสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ๆ ได้ จึงเป็นช่วงที่ความรู้และความมั่นใจเพิ่มขึ้นไปพร้อมกันอย่างเหมาะเจาะ

เมื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ต้องผ่านช่วง Mount Stupid ทำให้ไม่ว่าจะเขาหรือเราต่างเคยพูดเรื่องที่ไม่รู้จริงกันทั้งนั้นทั้งเรื่องทั่วไป เรื่องงาน หรือแม้แต่เรื่องจริงจังอย่างการเมือง เศรษฐกิจ ในวงสนทนาหนึ่งเลยมีทั้งคนที่รู้จริงกับคนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ และคนที่รู้น้อยมักเป็นผู้พูดมากกว่าผู้ฟังเสมอ 

การคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ฉลาดแล้ว ไม่ได้ทำให้เราอาจเป็นตัวตลกของคนเป็นร้อยเป็นพันคนบนโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อเรื่องใหญ่ ๆ อย่างการทำงานได้เหมือนกันเพราะความมั่นใจว่ารู้มากทำให้เผลอทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว แถมการมั่นใจว่าเก่งกว่าคนอื่นยังทำให้ตัดสินใจผิดพลาด เอาตัวเองและงานไปเสี่ยงแบบไม่จำเป็น

วิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองกลายเป็นคนอวดฉลาดที่น่าขบขันในชีวิตใครคงต้องปรับเปลี่ยนเป็นผู้ฟังและตั้งคำถามมากกว่าการพูด เมื่อไหร่ก็ตามที่มั่นอกมั่นใจเกินไปก็คงต้องลองฟังความเห็นที่แตกต่างก่อนที่จะสรุปเองเออเอง ก่อนที่จะพูดอะไรออกไปก็ให้ถามตัวเองก่อนว่าสิ่งที่กำลังจะพูดเป็นเรื่องที่รู้จริงหรือเป็นแค่ความเห็นต่อเรื่องที่เราไม่รู้อะไรเลย

นอกจากการรักษาหน้า ถ้าอยากรู้จริงและออกจากช่วง Mount Stupid ให้ได้ การเรียนรู้จากแหล่งที่ลึกซึ้งเป็นคำตอบที่ดี อย่างเปลี่ยนมาอ่านหนังสือแทนข้อความสั้น ๆ บนโซเชียลมีเดียแทน จะได้เข้าสู่ช่วง Slope of Enlightenment ได้ ส่วนถ้าเพื่อนหรือคนรอบข้างกำลังอยู่ในช่วง Mount Stupid และเขาเหล่านั้นเป็นคนที่ยังเตือนได้ ก็อาจจะลองสะกิด ๆ เพื่อนหน่อย เพื่อนจะได้ไม่ต้องมารู้สึกอับอายทีหลัง

ที่มา – CBC, Psychology Unlocked, Scientific American, Psychology Today, Kristian Magnus

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง Work-Life

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา