การแข่งขันระหว่าง จีน และ สหรัฐ มีให้เห็นอยู่ตลอด โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งจีนมองว่าเป็นเขตอิทธิพล เป็นสวนหลังบ้านของจีนเพราะมีความสำคัญในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ และยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในอนาคต
เราเห็นได้ชัดจากการที่เส้นทางการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนคาดผ่านพื้นที่แห่งนี้พอดิบพอดี นั่นหมายความว่าประเทศเหล่านี้จะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนซึ่งเสริมสร้างความเกี่ยวโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันและในขณะเดียวกันก็เป็นการยอมรับอิทธิพลของจีนไปด้วย
หนึ่งในสาเหตุที่สำคัญของการแผ่ขยายอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของจีนคือการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับตนเองในเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ซึ่งเป็นกรณีที่จีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นคู่กรณีกันเองโดยตรง
วันนี้ Brand Inside จะพาไปดูพลวัตรทางเศรษฐกิจ จับตาดูความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนในการลงทุนในภูมิภาคนี้
จีน ลงทุนทุกมิติ ครอบคลุมทั้งภูมิภาค
จีนมีการลงทุนมหาศาลในแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน ดังนี้
มาเลเซีย
กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมมาเลเซียประกาศเมื่อปลายเดือนมิถุนายนว่า Risen Energy บริษัทเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ จะลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งหลักๆ จะเป็นการสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนโซลาร์เซลล์ภายใต้งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.2 แสนล้านบาท)
ประจวบเหมาะกับที่ 1 วันก่อนหน้านี้เพิ่งจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีแบบเสมือนจริง (ออนไลน์) ว่าด้วยโครงการ BRI โดยจีนตกลงที่จะช่วยลงทุนเพื่อช่วยให้มาเลเซียเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้คาร์บอนลดลง และยังตกลงที่จะมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 อีกด้วย
อินโดนีเซีย
ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน จีนเพิ่งจัดประชุมระดับรัฐมนตรีกับประเทศอาเซียน ณ นครฉงชิ่ง ในการประชุมดังกล่าว Wang Yi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวกับ Luhut Binsar Pandjaitan รัฐมนตรีกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลของอินโดนีเซียว่า จะช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานและจะนำเข้าสินค้าเพิ่ม
ก่อนหน้านี้ จีนก็ให้ความช่วยเหลือในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางทะเล เช่น ท่าเรือ ให้อินโดนีเซียไม่น้อย เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างทะเลและบกภายใต้ BRI แบบไร้รอยต่อ และเป็นการสร้างอิทธิพลในทะเลจีนใต้และแปซิฟิก
กัมพูชา
เป็นที่ทราบกันดีว่ากัมพูชาคือประเทศที่ชนชั้นนำทางการเมืองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน กรณีที่เห็นได้ชัดที่สุดว่าจีนเข้ามาลงทุนในกัมพูชามหาศาลคือ สีหนุวิลล์ เมืองท่องเที่ยวติดทะเลที่ทุนจีนหอบเงินกันมาลงทุนมหาศาลจนกลายเป็นเมืองศูนย์รวมความบันเทิงครบวงจร แต่ในทางกลับกันชาวกัมพูชาก็แทบจะไม่มีที่ยืนในเมืองเกิดของตัวเอง
ล่าสุด เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา จีนเพิ่งตกลงที่จะเร่งความร่วมมือในการยกระดับระบบขนส่ง โดยทางการจีนจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานเข้ามาช่วยเหลือ
ลาว
ต้นเดือนที่ผ่านมา จีนตกลงที่จะช่วยเหลือลาวในการสร้างไฮเวย์ระยะทางรวมกว่า 580 กิโลเมตร ภายใต้งบประมาณกว่า 5.1 พันล้านดอลลาร์ (1.67 แสนล้านบาท)
เวียดนาม
สำนักข่าวท้องถิ่นของเวียดนามระบุเองว่าตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเมษายน จีนเข้ามาลงทุนในเวียดนามถึง 61 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนโดยรวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ (3.2 หมื่นล้านบาท) ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะเวียดนามเป็นประเทศที่ไม่ถูกกับจีน (เห็นได้ชัดจากการลังเลที่จะรับวัคซีนจีน) และมีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้โดยตรงเพราะมีพรมแดนประชิดกัน จีนจึงมุ่งหมายที่จะเข้ามาลงทุนสร้างอิทธิพลเพิ่มเติม
ไม่ใช่แค่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วัคซีนคืออีกหนึ่งเครื่องมือ
หลังจากโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก จีนพยายามทำ ‘การทูตวัคซีน’ สวมบทมิตรประเทศที่ดีแจกจ่ายวัคซีนให้กับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือแม้แต่สิงคโปร์ที่ฉีดวัคซีน mRNA เป็นหลัก รวมถึงเวียดนามที่รับวัคซีนจีนด้วยท่าทีลังเล
อย่างไรก็ตามการทูตวัคซีนดูเหมือนจะไม่ได้ผลมากนักเพราะในขณะที่จีนพยายามเล่นบทดี จีนกลับมีท่าทีแข็งกร้าวในเวทีโลก ทั้งกรณีซินเจียง การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง ท่าทีก้าวร้าวต่อไต้หวัน รวมถึงเรื่องอื่นๆ ทำให้นานาประเทศยังมองจีนด้วยความระแวดระวังมากกว่าไว้ใจ
นอกจากนี้ วัคซีนจีนทั้ง Sinovac และ Sinopharm ยังมีผลลัพธ์ในการป้องกันโควิด-19 ที่ยังด้อยกว่าวัคซีนตัวท็อปอย่าง Pfizer และ Moderna ทั้งในงานวิจัยและกรณีศึกษาในโลกจริง โดยเฉพาะเมื่อโควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาด จีนที่ฉีดวัคซีนของตัวเองเป็นหลักถึงกับต้องใช้มาตรการเข้มงวดอีกครั้ง รวมถึงพยายามหาวัคซีนอื่นเข้ามาใช้
- ผลสำรวจพบ จีนล้มเหลวด้านการทูตวัคซีนต่ออาเซียน
- แพทย์อินโดนีเซียติดโควิดเพิ่ม แม้จะฉีดวัคซีน Sinovac แล้ว
- โควิดปลิดชีวิตแพทย์อินโด 26 คน เกือบครึ่งฉีดวัคซีน Sinovac
ตะวันตกสู้ทุกทาง ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานยันวัคซีน
โจ ไบเดน พาสหรัฐกลับมาสู่ความร่วมมือในเวทีโลกเพื่อต้านจีนอีกครั้ง อย่างในกรณีล่าสุดก็ผลักดันโครงการ Blue Dot Network โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชน โปร่งใส และยั่งยืน ร่วมกับประเทศในกลุ่มอินโดแปซิฟิกทั้งญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ท้าชน BRI โดยตรง
เท่านั้นไม่พอ สหรัฐยังผลักดันแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกกรอบชื่อ Build Back Better World (B3W) ร่วมกับพันธมิตรในกลุ่ม G7 (แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, อังกฤษ, และสหรัฐอเมริกา)
B3W ไม่ใช่ความร่วมมือเดียวที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศประชาธิปไตยในการประชุม G7 ครั้งล่าสุด ณ เมือง Cornwall ประเทศอังกฤษเท่านั้น เพราะยังมีการตกลงร่วมกันว่าจะบริจาควัคซีน 1 พันล้านโดส ผ่านโครงการ COVAX ให้กับประชากร 80% ของโลก โดยมีประเทศยากจนเป็นเป้าหมายหลัก
ที่มา – Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา