โควิดปลิดชีวิตแพทย์อินโด 26 คน เกือบครึ่งฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 โดสแล้ว

โควิดพ่นพิษทุกชีวิตไม่เลือกหน้า โดยเฉพาะด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามโควิดโดยตรงเช่นบุคลากรทางการแพทย์ที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดและน่าจะป้องกันตัวได้ดีที่สุดก็ยังต้องจบชีวิตลงเพราะโควิดด้วย ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่าแพทย์ที่อินโดนีเซียติดโควิดกว่า 350 คนแม้ส่วนใหญ่จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว ตอนนี้รายงานล่าสุดพบว่ามีแพทย์เสียชีวิตกว่า 20 ราย

Indonesia Covid

สมาคมการแพทย์อินโดนีเซีย ระบุว่า ในรอบเดือนมิถุนายนนี้มีแพทย์ในอินโดนีเซียเสียชีวิตเพราะติดโควิด-19 ราว 26 คน มีแพทย์ 10 คนที่รับวัคซีน Sinovac แล้ว 2 โดส ส่วนอีก 16 คนที่เหลือกำลังตรวจสอบสถานะการฉีดวัคซีนอยู่ ภายในรอบห้าเดือนนี้มีแพทย์อย่างน้อย 20 คนที่ฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 โดสเสียชีวิตเพราะโควิด-19 เรื่องนี้นักระบาดวิทยาระบุว่า การเสียชีวิตดังกล่าวจะต้องมีการตรวจสอบให้ได้ว่า ปัจจัยในการเสียชีวิตมาจากสาเหตุใดบ้าง อาจจะมาจากสาเหตุที่โรงพยาบาลดูแลได้ไม่ดีนักหรือว่ามีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุหลัก ข้อมูลที่จำเป็นต้องพิจารณาเพิ่ม มีทั้งเรื่องแพทย์ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมดติดเชื้อโควิดจำนวนเท่าไร

ด้านสมาคมการแพทย์อินโดนีเซีย ระบุว่า แพทย์ชาวอินโดนีเซียราว 90% หรือประมาณ 1.6 แสนคนได้รับการฉีดวัคซีน Sinovac แล้ว ถ้าเทียบอัตราการเสียชีวิตของแพทย์อินโดนีเซียที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่น้อย ซึ่ง Paul Hunter ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จาก University of East Anglia ในอังกฤษระบุว่า ไม่น่าแปลกใจหรอก ที่จะมีแพทย์บางรายเสียชีวิตเพราะโควิดแม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว อาจจะมีปัจจัยหลายด้านประกอบกันทั้งเรื่องวัคซีน Sinovac ที่มีประสิทธิภาพไม่สูงพอถ้าเทียบกับวัคซีนตัวอื่นๆ ในตลาด และยังมีเรื่องโรงพยาบาลในประเทศที่ไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือหรือศักยภาพมากเพียงพอที่จะรับมือกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งก็รวมทั้งเรื่องระบบการรักษาพยาบาลที่อาจจะมีไม่เท่าประเทศอื่นๆ ที่มีความสามารถในการจัดการมากกว่า

อินโดนีเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่พึ่งพาวัคซีน Sinovac ค่อนข้างมาก แม้ Sinovac จะได้รับการอนุมัติให้ใช้เพื่อการฉุกเฉินจาก WHO (องค์การอนามัยโลก) แล้วก็ตาม แต่ระดับประสิทธิภาพ รวมถึงผลการทดลองทางคลินิกที่ดูคลุมเครือ ขาดความโปร่งใส ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขส่วนมากมีความกังวลต่อการใช้งานวัคซีนดังกล่าว

ผลการศึกษาจากบราซิลระบุว่า วัคซีน Sinovac ป้องกันการติดเชื้อระดับต่ำราว 50% แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรงจากการติดโควิด-19 ก็ตาม ขณะที่ชิลี ระบุไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า Sinovac มีประสิทธิภาพป้องกันโควิดไม่ทำให้เสียชีวิตราว 80% หลังฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 โดสแล้ว 2 สัปดาห์ ขณะที่ทางการอินโดนีเซียเผยผลการศึกษาเมื่อเดือนที่ผ่านมา เปรียบเทียบระหว่างแพทย์ที่ได้รับวัคซีนและยังไม่ได้รับวัคซีน พบว่า วัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพสูงป้องกันไม่ให้เกิดการติดโควิด-19 จนเสียชีวิตได้ แต่ผลการศึกษาดังกล่าวทำการศึกษาก่อนที่จะมีการติดเชื้อโควิดรอบล่าสุด ที่ส่วนใหญ่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์ Delta (เดลตา) ที่กำลังระบาดอย่างหนักหน่วงในอินเดีย นอกจากเป็นผลการศึกษาที่ไม่ใช่สถานการณ์ปัจจุบันแล้วยังไม่รู้ด้วยว่าแพทย์ที่เสียชีวิตในอินโดนีเซียเดือนนี้ส่วนใหญ่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่จำนวนเท่าไรด้วย

Indonesia Covid

ด้านโฆษกรัฐบาลระบุว่า การเสียชีวิตของแพทย์จะต้องมีการตรวจสอบเพื่อที่จะสรุปสาเหตุของการเสียชีวิต ทั้งนี้ พื้นที่ที่ถูกโควิดระบาดอย่างหนักหน่วงเช่น Kudus ในจังหวัดชวากลางส่วนใหญ่บุคลากรทางการแพทย์ก็ได้รับวัคซีนแล้วนับร้อยรายแต่ก็ยังติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งก็มีอาการเล็กน้อยและยังฟื้นตัวได้เร็ว เรื่องนี้ก็ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่าวัคซีน Sinovac นั้นเป็นวัคซีนยอดเยี่ยมไร้ที่ติ ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมการแพทย์แสดงให้เห็นว่า การเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์มีอัตราลดลงหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว มีผู้เสียชีวิตราว 60 คนในรอบสองเดือน จนกระทั่งเดือนมิถุนายนล่าสุดที่มีแพทย์เสียชีวิตมากถึง 26 คน

ที่มา – Wall Street Journal

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา