Blue Dot vs. Belt Road ไบเดนประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ต้านอิทธิพลจีนในต่างประเทศ

Biden Blue Dot Network
สหรัฐดัน Blue Dot Network ต้าน Belt Road Initiative ของจีน

รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เตรียมผลักดันแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาในนาม Blue Dot Network ร่วมกับประเทศพันธมิตรทั้งญี่ปุ่นและออสเตรเลีย

เบื้องต้นมีการพูดคุยกับผู้บริหารกลุ่มบริษัทผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้วในการประชุมที่จัดขึ้นโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ณ กรุงปารีส

นี่คือการประชุมที่มีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทระดับโลกกว่า 150 คนจาก 96 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม ไล่ไปตั้งแต่สถาบันทางการเงินชั้นนำอย่าง JPMorgan และ Citi ไปจนถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญของประเทศไทย

Blue Dot Network เกิดขึ้นเพื่อต่อกรกับ Belt Road Initiative (BRI) แผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของจีนที่ตอนนี้มีการลงทุนครอบคลุมตั้งแต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ไปจนถึงแอฟริกา

Blue Dot Network เน้นความยั่งยืน ความโปร่งใส ให้เอกชนนำการลงทุน

ที่จริงแล้ว Blue Dot Network คือแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประกาศออกมาตั้งแต่วาระการดำรงตำแหน่งของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในงาน Indo-Pacific Business Forum 2019 ที่จัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้มีการสานต่อจนกระทั่งถูกหยิบมาปัดฝุ่นอีกครั้งในยุคของไบเดน

ภาพจาก Shutterstock

แผนการนี้เน้นการลงทุนที่มีความยั่งยืนและโปร่งใส โดยให้บริษัทเอกชนหัวเรือหลักในการลงทุน แตกต่างจาก BRI ของจีนที่รัฐเป็นผู้ตัดสินใจในการลงทุน และไม่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนและโปร่งใส

นี่คือความร่วมมือของสหรัฐและพันธมิตรในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยมี OECD องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะเป็นผู้สนับสนุนทั้งทางด้านเทคนิคและด้านการดำเนินงาน เพื่อรับรองว่าโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุนจะผ่านมาตรฐานด้านความยั่งยืนและความโปร่งใสระดับโลก

ด้านหนึ่งคือการแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ อีกด้านคือการสู้เรื่องภาพลักษณ์

แน่นอนว่าด้านหนึ่งของการปะทะกันผ่านการแจกจ่ายความสนับสนุนทางการเงินก้อนโตไปยังประเทศกำลังพัฒนา คือการแข่งกันแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสองมหาอำนาจ 

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประกาศอย่างชัดเจนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า Blue Dot Network จะเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลกว่าเป็นสัญลักษณ์ของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาด โปร่งใส และยั่งยืน 

เห็นได้ชัดว่า ในอีกด้านหนึ่ง นี่คือความพยายามของสหรัฐในการต่อสู้ด้านภาพลักษณ์กับจีน เพราะการส่งเสริมภาพลักษณ์ว่าการลงทุนผ่าน Blue Dot Network เป็นการลงทุนที่โปร่งใสและยั่งยืน นัยหนึ่งเป็นการบอกว่าการลงทุนแบบอื่นๆ รวมถึง BRI ไม่โปร่งใสและไม่ยั่งยืน

solar
Solar Farm // ภาพจาก Shutterstock

Matthew Pottinger ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติในรัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ วิพากษ์ BRI ของจีนอย่างชัดเจนโดยว่า การลงทุนที่มีภาคเอกชนเข้าร่วมจำนวนมากจะยิ่งขับเน้นให้เห็นว่าบางโครงการ (เช่น BRI) ขาดความโปร่งใสและถูกควบคุมโดยทางการเป็นหลัก

[opinion] นี่คือจังหวะที่เหมาะสมของสหรัฐในการเล่นเกมแย่งชิงภาพลักษณ์ เพราะตอนนี้จีนถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ร้ายในเวทีโลก เป็นต้นทางของการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่กลับมีท่าทีไม่โปร่งใส และนับวันก็ยิ่งดำเนินนโยบายระหว่างประเทศสร้างศัตรู เช่น กรณีในทะเลจีนใต้ ฮ่องกง ไปจนถึงไต้หวัน

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา