โรงงานจีนขาดแคลนคน แรงงานรุ่นใหม่ไม่นิยม ทางรอดคือทำโรงงานอัจฉริยะ ลดการใช้แรงงานมนุษย์

แม้จีนจะเป็นประเทศที่ประชากรมากที่สุดในโลก กว่า 1.4 พันล้านคน แต่ปัญหาขาดแคลนคนในโรงงานก็ยังเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ปัญหาคนไม่เพียงพอ แรงงานรุ่นใหม่ไม่ทำงานในโรงงาน

Shirley Zhou ผู้อำนวยการด้านไอทีของ Midea แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติจีน (เข้ามาทำตลาดในไทยจริงจังปี 2016) ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในโรงงานจีนเป็นเรื่องใหญ่ คนจีนรุ่นใหม่ไม่นิยมทำงานในโรงงานอีกต่อไป หลายโรงงานประสบปัญหาในปัจจุบัน และมีท่าทีว่าหนักขึ้นในอนาคต

ทางออกคือระบบอัตโนมัติ (automation)

วิกฤตโควิดยิ่งทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในโรงงานรุนแรงขึ้น

Bloomberg รายงานไว้ตั้งแต่ปี 2020 ว่า บริษัทสหรัฐอเมริกาที่ตั้งโรงงานในจีนประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานหนักมาก เกือบ 80% ไม่สามารถกลับการดำเนินการได้เต็มกำลัง ส่วนบริษัทจากประเทศอื่นๆ ในจีนก็มีปัญหาทำนองนี้คล้ายกัน

ทางออกของเรื่องนี้คือการทำ “โรงงานอัจฉริยะ” หรือ Smart Factory ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่ระบบอัตโนมัติ

สำหรับ Midea บอกว่า มีแผนเตรียมนำเอาระบบอัจฉริยะและหุ่นยนต์เข้าไปเสริมในโรงงานช่วง 3 ปีนับจากนี้ในโรงงานกว่า 34 แห่งที่มีอยู่ หรืออย่าง BMW ที่ตั้งโรงงานในจีนร่วมทุนกกับ Brilliance Auto มีแผนเพิ่มหุ่นยนต์กว่า 2,000 ตัวในโรงงานที่กำลังจะสร้างใหม่ ส่วนหุ่นยนต์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีประมาณ 4,000 ตัว

ทั้งหมดนี้คือแผนการเปลี่ยนผ่านของบริษัทต่างๆ เพื่อพึ่งพาแรงงานคนให้น้อยลง

JIUJIANG CHINA-March 17, 2018: workers on the production line of electrical appliances company, Jiujiang, Eastern China. Workers can’t relax for a minute, like robots in Chaplin’s movie modern times.

Upskill ผู้สูงวัย หนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ

เอาเข้าจริง ปัญหาการขาดแคลนคน(รุ่นใหม่)ในโรงงานคือเรื่องใหญ่

แต่ถ้ามองในอีกด้านของสังคม หลายประเทศทั่วโลกเกิดปรากฏการณ์เดียวกันคือ สังคมสูงวัย (Aging Society)

Junsong Peng รองประธานและผู้บริหารฝ่ายไอทีของ SAP China บอกว่า โรงงานในโลกแห่งอนาคตนอกจากจะทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังสามารถย่นย่อเวลาการทำงานลงได้ถึง 1 ใน 3 ของเดิม และอุปสรรคใหญ่อยู่ที่ทักษะและความรู้ของแรงงานในการเข้ามาทำงานในโรงงานอัจฉริยะ อย่างไรก็ดี ต้องเน้นว่า อุปสรรคเป็นเรื่องของทักษะ ไม่ใช่อายุ

Peng ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยบอกว่า “If an older employee can learn, a job in the auto industry today is no longer one that requires a lot of physical strength.” แปลแบบเก็บความได้ว่า ถ้าผู้สูงอายุยุคนี้สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะดิจิทัล ทักษะเทคโนโลยีเบื้องต้น การเข้าใจระบบอัตโนมัติ ผู้สูงอายุจะทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพราะงานในโรงงานแห่งโลกอนาคต ไม่ต้องใช้แรงหรือพละกำลังอะไรมากมายอีกต่อไป

พูดง่ายๆ คือผู้สูงวัยยุคนี้สามารถเป็นแรงงานแห่งโลกอนาคตได้ เพราะผู้สูงวัยจำนวนมากยังแข็งแรงและสามารถทำงานได้ หลายคนพร้อมที่จะทำงาน หากมีการอบรมทักษะ เสริมทักษะ ก็สามารถทำงานได้ เพราะถึงที่สุด การอยู่เฉยๆ ในยามแก่เฒ่าคือความเหี่ยวเฉาของชีวิต ในขณะที่การทำงานคือการสร้างความหมายและคุณค่า

  • ตัวอย่างหน้าตาโรงงานอัจฉริยะในจีนของ Alibaba

  • Brand Inside TALK เคยชวนคุยในประเด็น เมื่อจีนไม่อยากเป็นโรงงานโลก การเปลี่ยนผ่านจาก Made in China สู่ Created in China

อ้างอิง – CNBC, Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา