จีนเร่งพัฒนาคนรุ่นใหม่เป็นแรงงานระดับสูง ส่วนแรงงานรายได้ต่ำ หาพึ่งจาก Belt & Road

ทฤษฎีกับดักประชากรของมัลธัส (Malthusian population trap) โดย Thomas Malthus ที่เคยเผยแพร่ไว้ 200 กว่าปีมาแล้ว พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของประชากรและการพัฒนาเศรษฐกิจ ในยุคสมัยนั้นเขามองว่า อัตราประชากรเติบโตเร็วกว่าการผลิตอาหาร

Thomas Malthus // Wikimedia

ก้าวให้ข้ามทฤษฎีกับดักประชากร

ถ้าอัตราประชากรมีจำนวนที่มากเกินไป โดยปราศจากการควบคุมการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ขณะเดียวกันก็มีศักยภาพในการผลิตอาหารในจำนวนที่ไม่มากพอ หรือมีทรัพยากรในการยังชีพที่จำกัด เมื่อนั้นความอดอยาก ยากจนข้นแค้น สงคราม และโรคระบาดจะเป็นปัจจัยที่จะเป็นตัว preventative check หรือยับยั้งการขยายตัวของจำนวนประชากรเอง (มัลธัสเป็นทั้งนักประชากรศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และยังเป็นนักจริยธรรม การคิดทฤษฎีนี้ ทำให้เขาถูกเรียกขานว่าเป็นบิดาแห่งการคุมกำเนิด)

ทฤษฎีกับดักประชากรของมัลธัสที่เสนอมากว่า 200 ปีแล้วถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างถึงบ่อยครั้ง แต่ทฤษฎีดังกล่าวก็มีข้อโต้แย้งที่ว่า มัลธัสไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามาทดแทนแรงงานคนในปัจจุบันมากขึ้น อีกทั้งอัตราประชากรที่เกิดใหม่ก็มีจำนวนลดลงต่อเนื่อง ดังนั้น การกำหนดนโยบายโดยอิงตามทฤษฎีของมัลธัสอาจไม่ทันสถานการณ์ ไม่เข้ากับยุคสมัยแล้ว

ในโลกยุคใหม่ รัฐไม่ใช่แค่เพียงต้องก้าวข้ามทฤษฎีกับดักประชากรของมัลธัสให้ได้ แต่ยังต้องคำนึงหรือนำปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงของประชากรเข้ามาวิเคราะห์เพื่อออกนโยบายที่สอดรับกันด้วย บทความจาก The Diplomat หยิบปัญหาที่เกี่ยวพันกับความอดอยากหิวโหยของผู้คนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ มี 2 เรื่องที่สำคัญ คือความเป็นเมือง (Urbanization) และความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change)

Photo by Mystical Mumbai on Unsplash // อินเดีย

เลิกกระจุกความเจริญไว้ที่เมืองหลวง หัวเมืองใหญ่

ประเด็นปัญหาเรื่องความเป็นเมือง (Urbanization) ถูกให้น้ำหนักมากกว่าสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยและถี่มากแล้วถึงความไม่สมดุลระหว่างคนที่มีมหาศาลและทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดรวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้นต่อเนื่องยาวนานจึงส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างยิ่ง

ขณะที่ Urbanization คือความเป็นเมืองส่วนใหญ่ที่มีลักษณะไม่กระจายตัว กระจุกความเจริญไว้กับความเป็นเมืองในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมากจนเกินไป ทำให้ประเทศที่ยากจนต้องประสบปัญหายากจนหนักกว่าเดิม การมีสัดส่วนความเป็นเมืองที่ไม่สมดุลกับจำนวนประชากรหรืออัตราประชากรที่เปลี่ยนแปลง ทำให้คนในชนบทไหลเข้าเมืองเพื่อหางานทำเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ดำรงชีวิตอยู่ในตัวเมืองเพื่อหารายได้ในการเลี้ยงชีพต่อไป

ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลกใบนี้อาศัยอยู่ในตัวเมือง และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นถึง 70% ในช่วงปี 2045 เฉพาะแค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีคนชนบทไหลเข้าสู่เมือง ศูนย์กลางของประเทศรวมๆ ราว 250-300 ล้านคน ในอินเดียจะมีคนชนบทอพยพเข้าสู่ตัวเมืองราว 300 ล้านคนภายในปี 2050 ขณะที่จีนคนจะอพยพเข้าเมืองในอีก 20 ปีข้างหน้าราว 350 ล้านคน

การไหลทะลักเข้าสู่เมืองของคนชนบทเหล่านี้ ทำให้ปัญหาที่คั่งค้างอยู่ในตัวเมืองจะยังคงอยู่ต่อไปตราบเท่าที่ไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเมืองต่างๆ เพิ่มเติม ทำให้คนท้องถิ่นต้องเข้ามาหางานทำในเมืองต่อไป ผู้คนราว 1 พันล้านคนทั่วโลกอาศัยอยู่ในสภาพบ้านเรือนหรือที่พักซึ่งมีลักษณะเสื่อมโทรม ขณะที่อีก 2 พันล้านคนใช้ชีวิตอยู่ในเมืองซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาอาชญากรรม

Photo by Michu Đăng Quang on Unsplash // เวียดนาม

แม้เรื่องการขาดแคลนอาหารอาจยังสำคัญอยู่บ้างในบางภูมิภาคของโลกนี้ เช่น เอเชียใต้ที่ยังมีปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ราว 281 ล้านคนประสบภาวะลำบากจากความหิวโหย ขาดสารอาหาร ซึ่งทั่วทั้งเอเชียราว 537 ล้านคนก็ตกอยู่ในภาวะอาหารไม่เพียงพอด้วย แต่อีกหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับปัญหาโรคอ้วนเช่นกัน

ปรับนโยบายตามอัตราการเกิดที่ลดลง-คนอายุยืนมากขึ้น

อัตราการเกิดที่ลดลงสวนทางกับช่วงอายุของคนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการพึ่งพิงของคนสูงวัยเพิ่มขึ้นตาม ประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงวัยมากกว่าคนหนุ่มสาวจึงประสบปัญหาแรงงานขาดแคลน และเผชิญกับความกดดันในการจัดสรรงบประมาณสำหรับบำนาญ เบี้ยเลี้ยง การดูแลสุขภาพแก่ผู้สูงวัยจำนวนมาก

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างจีนกับญี่ปุ่นแล้วพบว่า จีนในยุคปัจจุบันเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน ขณะที่ประชากรในจีนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1950-1960 (อายุระหว่าง 60-70 ปี) นโยบายลูกคนเดียวของจีน (one-child policy) ทำให้เด็กเกิดน้อยลง ขณะที่รายได้เฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ 

Photo by Jixiao Huang on Unsplash

จีนมีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่อง อีกทั้งสัดส่วนของคนรุ่นหนุ่มสาวของจีนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษามากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน จึงถูกจัดให้เป็นแรงงานระดับสูง ขณะเดียวกันกำลังแรงงานหรือบุคคลที่อยู่ในวัยทำงานก็มีจำนวนที่ลดลง

จีนเร่งพัฒนาทุนมนุษย์ คนรุ่นใหม่จีนขยับเป็นแรงงานระดับสูง

แม้จีนจะมีจำนวนคนสูงวัยในประเทศจำนวนมาก แต่ด้วยความที่ก่อนหน้านี้มีระดับรายได้ต่ำอีกทั้งค่าครองชีพต่ำ จึงทำให้จีนไม่ประสบปัญหาจากอัตราประชากรสูงวัยมากนัก ขณะเดียวกัน แรงงานจีนในปัจจุบันยังได้รับการศึกษาระดับสูงจนผันเปลี่ยนเป็นแรงงานระดับสูงไปแล้ว อีกทั้งจีนก็ยังสามารถหาประโยชน์จากแรงงานที่มีรายได้ต่ำนอกประเทศได้ผ่านโครงการ Belt and Road Initiative ภาระทางด้านเศรษฐกิจที่จีนต้องทำให้สมดุลสำหรับประเด็นคนสูงวัยก็คือ การจัดการเรื่องบำนาญและการดูแลด้านสาธารณสุข 

ขณะที่ญี่ปุ่นมีภาระก้อนใหญ่ที่ต้องจัดการ คือประชากรสูงวัยที่มีจำนวนมากและค่าใช้จ่ายสำหรับการให้ความดูแลก็ค่อนข้างสูงเช่นกัน เมื่อเทียบกันระหว่างญี่ปุ่นกับจีนแล้ว พบว่า จีนประสบปัญหาน้อยกว่าสำหรับวัยที่ต้องรับบำนาญ เนื่องจากเป็นประเทศที่เติบโตมาจากระดับรายได้ต่ำมาก่อนและยังไม่ใช่กลุ่มผู้บริโภครายใหญ่ด้วย

ภาพจาก Pixabay

ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังประสบปัญหานี้ อิตาลีก็ต้องรับมือกับการเตรียมเงินบำนาญจำนวนมากเช่นกัน

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา อิตาลีต้องจัดเตรียมเงินสำหรับบำนาญมากกว่าเงินด้านการศึกษามากถึง 4 เท่า คนสูงวัยมีอายุยืนมากขึ้น คนหนุ่มสาวมีจำนวนลดลงเพราะคนเกิดใหม่น้อยลง ทำให้หลายประเทศต้องรับมือกับการจัดการเงินบำนาญมหาศาล 

ในทศวรรษ 1970 ประชากรญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 28 ปี แต่ปัจจุบันอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ปี ของไทยเองก็มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 39 ปี อัตราการเกิดของประชากรไทยอยู่ที่ 10.7 คนต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 8.3 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเติบโตของประชากรไทยอยู่ที่ 0.25% (ประเมินปี 2020) 

ดังนั้น เมื่อเราเห็นค่าเฉลี่ยอายุส่วนใหญ่ของประเทศว่าอยู่ที่เท่าไร การปรับนโยบายทางการเงินเพื่อให้สอดรับกับอายุเฉลี่ยของประชากรส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนหนุ่มสาวที่มีรายได้ที่มั่นคงและกำลังต้องการหาซื้อบ้านหลังแรกในชีวิต แต่แย่สำหรับคนสูงวัยที่ต้องอาศัยอัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อเป็นรายได้ในช่วงเกษียณ 

ระบบเศรษฐกิจจึงควรปรับเปลี่ยนตามลักษณะอัตราประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะประเทศที่กำลังประสบปัญหาจากภาวะประชากรสูงวัยที่มีอยู่จำนวนมาก รัฐบาลก็ควรใส่ใจและตระหนักถึงความสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มากกว่าจะยึดตามทฤษฏีแต่ไม่ยึดโยงกับความเป็นไปที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

ที่มา – Nikkei Asia, BOI, The Diplomat

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา