คนจีนไม่สนของนอก: JD.com เปิดสถิติการขาย 70% ของแบรนด์ยอดขายสูง เป็นแบรนด์ท้องถิ่น

ชาวจีนหันกลับมาอุดหนุนแบรนด์ท้องถิ่นมากขึ้น คนรุ่นใหม่เองก็เมินแบรนด์ต่างชาติอีกด้วย รายได้เซลล์กลางปีของ JD.com มากกว่า 70% เป็นแบรนด์จีนเป็นตัวบ่งบอกที่ชัดเจนของเทรนด์นี้

อีคอมเมิร์ซ: แบรนด์จีนมาแรงที่สุด

ในเทศกาลช้อปปิ้ง 6.18 ของ JD.com ประจำปี 2021 มีมูลค่าการซื้อขายมากถึง 3.44 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.74 ล้านล้านบาท) โดย JD.com เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับที่สองของจีน และพบว่ามีเทรนด์ใหม่ที่น่าสนใจเกิดขึ้น

จาก 236 แบรนด์ที่สร้างรายได้เกิน 100 ล้านหยวน (ประมาณ 505 ล้านบาท) เป็นแบรนด์จีนไปแล้วจำนวนกว่า 70% โดยเฉพาะสินค้าหรูหรา (luxury) มีรายได้สูงขึ้นในช่วงเทศกาลจากลูกค้าที่มีรายได้สูงในประเทศ 

ทาง Alibaba ที่เป็นผู้นำตลาดเองก็ไม่ละเลยเทรนด์นี้ จึงสร้างหมวดหมู่สำหรับแบรนด์จีนเท่านั้นขึ้นมาเป็นครั้งแรกในเทศกาล 6.18 โดยเทศกาล 6.18 เป็นเทศกาลช้อปปิ้งที่มียอดขายเป็นอันดับสองรองจากวันคนโสด (11 พ.ย.) และเป็นวันที่บริษัท JD.com ที่ก่อตั้งขึ้น (18 มิ.ย.)

ในด้านการจัดอันดับของสินค้าแต่ละหมวดหมู่ในแพลตฟอร์ม Alibaba ก็แสดงให้เห็นเทรนด์ของแบรนด์จีนที่ได้รับความนิยมมากกว่าแบรนด์ต่างชาติ อย่างเช่น ในหมวดกีฬา รองเท้าจากแบรนด์ Anta Sports Products และ Li-Ning อยู่ในสิบอันดับแรก เป็นคู่แข่งของแบรนด์ต่างชาติอย่าง Nike

แม้แต่แบรนด์เก่าก็ปรับตัวและเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์

ประเทศจีนมีแบรนด์มากกว่า 1,100 แบรนด์ที่ถูกรองรับโดยรัฐบาลด้วยตรา “Time-honored Brands” ที่บ่งบอกถึงความขลังของบริษัทนั้นๆ

โดยบริษัทที่จะได้รับตรานี้ต้องก่อตั้งก่อนปี 1965 และยังดำเนินธุรกิจอยู่ ณ ปัจจุบัน เป็นสินค้าที่แสดงถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมจีนได้ดี โดยแบรนด์ที่ได้รับตรานี้จากรัฐบาลกว่า 700 แบรนด์มีการวางขายอยู่ใน Alibaba

ปรากฎการณ์ China Chic

เทรนด์การสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นในจีนถูกเรียกว่า China chic โดยกล่าวถึงลูกค้าที่กลับมาสนใจแบรนด์ท้องถิ่นที่ตัวเองเคยมองข้ามไป ซึ่งเทรนด์นี้เริ่มมาแรงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 18-30 ปี

เทรนด์ดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแนวคิดอย่างสิ้นเชิงต่อแบรนด์จีน จากที่เคยมีข่าวเสียด้านคุณภาพของสินค้าท้องถิ่นในอดีต

ในยุค 2010 เป็นต้นมา ความสำเร็จของบริษัทสมาร์ทโฟนอย่าง Huawei และ Xiaomi ทำให้คนจีนและชาวโลกหันกลับมามองสินค้าจีนที่มีคุณภาพด้วยราคาที่สมเหตุสมผลอีกครั้ง ซึ่งแนวคิดนี้กำลังถูกนำมาใช้กับสินค้าประเภทอาหารและสินค้าทั่วไปแล้ว

คนยุค Gen Z ได้เติบโตขึ้นมากับแบรนด์ท้องถิ่น และไม่ได้ยกยอแบรนด์ต่างชาติเหมือนที่คนรุ่นเก่าส่วนใหญ่ทำ

คนจีนรุ่นใหม่บางส่วนเป็นส่วนหนึ่งของ Lie flat movement ที่เลือกไม่ใช้ชีวิตในการแข่งขันที่เคร่งเครียดของภาคธุรกิจจีน การใช้ชีวิตแบบ 996 หรือการศึกษาที่กดดันเกินไป โดยคนกลุ่มนี้มักจะเลือกใช้ชีวิตอย่างไม่เกินตัว และเลือกใช้ของที่มีราคาและคุณภาพเหมาะสม

สรุป

แบรนด์ต่างชาติกำลังสูญเสียฐานลูกค้ารุ่นใหม่ไป การหาวิธีใหม่ๆ ในการดึงดูดลูกค้าในจีนถือเป็นปัญหาหลักต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชาวจีนกำลังแบนแบรนด์ต่างชาติบางรายอยู่

ที่มา – Asia Nikkei

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา