โอกาสทองของแบรนด์จีน: หลังปมอุยกูร์พ่นพิษ คนจีนบางส่วนรุมคว่ำบาตรแบรนด์ดัง H&M, Nike, Adidas

หลังจากที่แบรนด์ตะวันตกประกาศแถลงการณ์คว่ำบาตรการใช้ฝ้ายจากซินเจียงที่มีการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์ เหตุเพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังข้อความนี้เผยแพร่ในเว็บไซต์ออนไลน์จึงนำมาสู่การโต้กลับของคนจีนบางส่วนที่ต้องการหันมาคว่ำบาตรแบรนด์ตะวันตกด้วยการไม่ซื้อสินค้าบ้าง

รวมถึงเหล่าบรรดาเซเลบ คนดังที่มีสัญญาเป็นทั้งพรีเซนเตอร์หรือแบรนด์เอมบาสเดอร์กับแบรนด์สินค้า ถึงกับต้องระงับหรือยกเลิกสัญญาชั่วคราวเพื่อเป็นการแสดงจุดยืน ขณะที่มีการคว่ำบาตรกันไปมาระหว่างแบรนด์ตะวันตกและผู้บริโภคชาวจีน ก็สร้างโอกาสให้แบรนด์แฟชั่นสัญชาติจีนได้ด้วย

China

ตัวอย่างจากแบรนด์แฟชั่นสัญชาติจีน Li-Ning มีการนำสนีกเกอร์มาขายอีกครั้งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีน Dewu รองเท้ารุ่น Way of Wade 4 ที่มีซุปเปอร์สตาร์จากวงการบาสเกตบอลอย่าง Dwyane Tyrone Wade เป็นพรีเซนเตอร์ เป็นรองเท้าที่ออกแบบโดย Li-Ning ร่วมกับสมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติ โดยราคารองเท้าที่ขายจากเดิมอยู่ที่ 1,499 หยวนหรือประมาณ 7,189 บาท ขึ้นราคาเพิ่มอีก 30 เท่า เป็น 48,889 หยวนหรือประมาณ 2.34 แสนบาท

ยังไม่จบเท่านี้ ยังมีการขายสนีกเกอร์รุ่นลิมิเต็ดรุ่น wow7 The Moment ราคาก็พุ่งขึ้นอีกจาก 1,699 หยวนเป็น 30,000 หยวน นอกจากนี้แบรนด์ Anta สัญชาติจีนที่มีในธีมโดเรมอนก็มีราคาพุ่งขึ้นจาก 499 หยวน เป็น 4,599 หยวนด้วย 

เรื่องซื้อขายรองเท้าเพื่อเก็งกำไรในจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ส่วนใหญ่คนจะให้ความสนใจกับแบรนด์รองเท้าต่างประเทศ เช่น Nike’s Air Jordan และ Adidas แต่กรณีแถลงการณ์ต้านการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์โด่งดัง สนีกเกอร์แบรนด์จีนก็ได้รับความสนใจมากขึ้น คนรักชาติในจีนต่างก็หันมาให้ความสนใจซื้อสินค้าที่เป็นสัญชาติจีนมากขึ้น ซึ่งไม่ได้มีแค่สนีกเกอร์เท่านั้นแต่ยังรวมถึงสมาร์ทโฟน Huawei ด้วย

ปี 2019 ที่ผ่านมา Wall Street Journal ได้อ้างข้อมูลที่เป็นผลสำรวจจาก Brunswick Group พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของแหล่งข้อมูลเลือกที่จะหลีกเลี่ยงซื้อหาสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสหรัฐอเมริกาเพื่อยืนยันว่าสนับสนุนจีนหลังจากที่ทั้งจีนและอเมริกากำลังตึงเครียดมากขึ้น 

ทั้งนี้ข้อมูลจาก People’s Daily ซึ่งเป็นสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีบทบรรณาธิการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เผยให้เห็นว่า ลูกค้าเริ่มหันเหมาใช้แบรนด์สินค้าในบ้านตัวเองมากขึ้น เรียกว่าเป็นการบริโภคสินค้านั้นๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรักชาติ ซึ่งในที่สุดแล้วก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อของรัฐ ทางแพลตฟอร์ม Dewu ก็ได้ลบรายชื่อสนีกเกอร์แบรนด์ Li-Ning, Anta ออก หลังจากที่มีการขึ้นราคาสินค้าจนทำให้ราคามีความผันผวนสูงและยังลบสนีกเกอร์แบรนด์จีนออกเพิ่มราว 20 รายการ 

นอกจากนี้ The New York Times ได้สัมภาษณ์ Tim Min วัย 33 ปีที่เป็นเจ้าของสตาร์ทอัพเครื่องสำอางในจีน ซึ่งเป็นคนรักชาติคนหนึ่ง เขาบอกว่า เขาเคยรักแบรนด์ต่างชาติ เช่น Nike แต่ตอนนี้ เขาก็ไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลอะไรที่ทำให้เขารัก Nike ได้อีกต่อไป ถ้ามีแบรนด์จีนที่มาแทนได้ เขาก็เลือกที่ใช้แบรนด์นั้น ซึ่งแบรนด์จีนก็ต้องพยายามที่จะผลิตสินค้าคุณภาพสูงเพื่อที่จะแทนที่แบรนด์ตะวันตกเดิมและจูงใจให้คนรักชาติรุ่นใหม่หันมาซื้อแบรนด์จีนมากขึ้น 

Boycott Nike in China

HeyTea คือสตาร์ทอัพชานมที่มีมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีหน้าร้านราว 700 แห่ง ก็ต้องการมาแทนที่ Starbucks ด้าน Yuanqisenlin บริษัทเครื่องดื่มผสมน้ำตาลน้อยที่มีอายุราว 4 ปีแล้ว มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ นี่ก็ต้องการมาแทน Coca-Cola ขณะที่ Ubras บริษัทที่มีอายุ 5 ปีก็ต้องการมาแทนที่ Victoria’s Secret แบรนด์สินค้าจีน ธุรกิจจีนต่างพยายามเพิ่มศักยภาพและความน่าสนใจเพื่อให้มีจุดแข็งดึงดูดให้คนชาติจีนหันมารักแบรนด์ประเทศตัวเองมากขึ้น 

เรื่องความน่าสนใจที่มีต่อแบรนด์ท้องถิ่นนั้นเริ่มเปลี่ยนไปหลังยุคประธานเหมา เจ๋อ ตง ที่มีแบรนด์สินค้าให้ผู้บริโภคไม่กี่แบรนด์ โทรทัศน์เครื่องแรกของครอบครัวในยุค 1980 ก็เป็นสินค้าที่มาจากญี่ปุ่น แบรนด์แฟชั่นสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Pierre Cardin ก็เคยมาจัดแสดงที่ปักกิ่งช่วงปี 1979 ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่การปฏิวัติวัฒนธรรมจีน 

คนจีนที่เกิดในช่วง 1970 หรือยุคก่อนหน้าก็จะจดจำรสชาติจากการจิบ Coca-Cola ได้ จำได้ว่ากัดกิน Big Mac ครั้งแรกเป็นอย่างไร ดูหนังฮอลลีวูด ญี่ปุ่นและฮ่องกง ซึ่งตอนนี้บริษัทจีนก็ผลิตสินค้าได้ดีขึ้น คนจีน gen Z ที่เกิดช่วง 1995-2009 ไม่ได้ถูกดึงดูดด้วยแบรนด์ต่างชาติอีกต่อไป ซึ่งก็เคยมีรายงานจาก Baidu พบว่า มีการค้นหารายชื่อบริษัทจีน แบรนด์จีนมากถึง 2 ใน 3 ของการค้นหานั้น และสถิติการค้นหาก็เพิ่มขึ้น จากเดิมอยู่ระดับที่ 1 ใน 3 เท่านั้นสำหรับ 10 ปีก่อนหน้านี้

Burberry in China

สรุป

แบรนด์สินค้าจีนกำลังได้รับโอกาสที่เรียกว่าเป็นยุคทองมากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ในประเทศจีนที่เพิ่งเติบโตขึ้นมาในช่วงที่เริ่มเห็นสินค้าจีนที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น มีสินค้าที่หลากหลายแบรนด์ หลากหลายประเภทมากขึ้น การบริโภคสินค้าเชิงสัญญะเช่นนี้ถือเป็นการพยายามสะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนว่าลูกค้าชาวจีนเหล่านั้นได้พยายามแสดงจุดยืนให้เห็นถึงความรักชาติ 

ไม่แน่ว่าสินค้าแบรนด์ตะวันตกหลังจากที่มีเรื่องบาดหมางกันเพราะแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์ในซินเจียง จะถูกลดทอนให้ความน่าสนใจลดลงมากขึ้นหรือไม่ เช่น เอารายชื่อหรือสินค้าแบรนด์นั้นๆ ออกจากแพลตฟอร์มออนไลน์แบบที่ได้ทำมาแล้วก่อนหน้านี้ หรือมีการโต้กลับที่มีทิศทางกีดกันทางการค้ามากขึ้น 

ที่มา – Quartz, The New York Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา