เจ้าสัว เตรียม IPO แปรสภาพจากธุรกิจครอบครัว มีข้าวตังเป็นเรือธง สู่บริษัทมหาชนตีตลาดขนมขบเคี้ยว

ช่วงนี้ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคเก่าแก่ของไทยเริ่มเข้าสู่รุ่น 2 หรือ 3 และเกือบทุกเจ้ามีการแปรสภาพจากธุรกิจครอบครัว สู่บริษัทมหาชน ล่าสุดคือ เจ้าสัว แบรนด์ที่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักในสินค้าข้าวตัง และสินค้าแปรรูปจากเนื้อหมูของจังหวัดนครราชสีมา กำลังจะยื่น IPO ในปี 2024

การ IPO ครั้งนี้นำโดย ณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี หรือชื่อเดิม บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด โดยเธอเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล และพร้อมติดเครื่องการเติบโตให้ธุรกิจครอบครัวบุกตลาดขนมขบเคี้ยวในไทยมูลค่า 40,000 ล้านบาท รวมถึงไปบุกตลาดโลกเช่นกัน

แผนดังกล่าวจะมีรายละเอียดอย่างไร และเดิมทีที่ตัวธุรกิจถูกขับเคลื่อนโดยคนในครอบครัวจะเริ่มเปลี่ยนเป็นผู้บริหารมืออาชีพมีความท้าทายแค่ไหน รวมถึงเป้าหมายหลัง IPO คืออะไร Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ ณภัทร โมรินทร์ ดังนี้

เจ้าสัว

เปลี่ยนชื่อเพื่อเดินหน้าตลาดขบเคี้ยวเต็มรูปแบบ

ณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี เล่าให้ฟังว่า บริษัทเปลี่ยนชื่อเพื่อรุกตลาดขนมขบเคี้ยว และเนื้อสัตว์แปรรูปเต็มรูปแบบ ผ่านแนวคิดการตอบโจทย์ผู้บริโภคผ่านการนำสูตรลับความอร่อยมอบให้ทุกคน และหวังให้ทุกคนได้กินดีอยู่ดี

“ตอนนี้ เจ้าสัว มุ่งเน้นสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับขยายสินค้าให้หลากหลาย และชูความเป็น Protein Snack หรือขนมที่ให้ประโยชน์ รวมถึงการออกไปบุกยังตลาดโลก ไม่ได้อยู่แค่ในประเทศไทย โดยเฉพาะการทำตลาดในประเทศจีนที่เป็นลูกค้าหลักของเราเมื่อพวกเขามาเที่ยวในประเทศไทย”

บริษัทมีแผนยื่น IPO ในช่วงปี 2024 โดยยังไม่กำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน และการ IPO จะเป็นการเน้นนำเงินมาลงทุนให้ธุรกิจเติบโตในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การขยายโรงงาน, การทำตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ให้แข่งขันในตลาดขนมขบเคี้ยวมูลค่า 40,000 ล้านบาท ในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการนำไปขยายตลาดในต่างประเทศ

เจ้าสัว

เจาะตลาด Protein Snack 1,000 ล้านบาท

การเข้ามารุกตลาด Protein Snack ของ เจ้าสัว ทางบริษัทตั้งเป้าสร้างตลาดใหม่ในตลาดขนมขบเคี้ยว คล้ายกับที่ เถ้าแก่น้อย สร้างตลาดสาหร่าย 3,000 ล้านบาท และ โดโซะ สร้างตลาดข้าวพองอบกรอบ 1,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองตลาดนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทยก่อนที่แบรนด์เหล่านั้นจะสร้างตลาดนี้ขึ้นมา

“เจ้าสัว มีการเตรียมตัว IPO มา 4-5 ปี ดึงผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาร่วมงาน รวมถึงเร่งสร้างตลาด Protein Snack ให้กลายเป็นตลาดใหม่ของประเทศไทย เพราะตลาดนี้ไม่เคยถูกจัดกลุ่มมาก่อน มี 2-3 แบรนด์ทำตลาดนี้ และ เจ้าสัว คือผู้นำตลาดผ่านหมูแท่ง, หมูแผ่น และอื่น ๆ โดยตลาดนี้มีมูลค่าราว 1,000 ล้านบาท และเติบโต 40-50%”

ตลาด Protein Snack เติบโตผ่านกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภค และตลาดนี้ยังเติบโตกว่าภาพรวมตลาดขนมขบเคี้ยว 40,000 ล้านบาท ที่ปี 2023 จะเติบโตราว 4% และยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเติบโตเหมือนช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด ที่เติบโตราว 7-8% โดย เจ้าสัว มีส่วนแบ่งในตลาดนี้เป็นอันดับ 1 ผ่านสัดส่วน 65%

เจ้าสัว

เปิดแบรนด์ใหม่ พร้อมอัดงบการตลาด 80 ล้านบาท

เพื่อตอกย้ำการบุกตลาดขนมขบเคี้ยว เจ้าสัว เตรียมใช้งบการตลาดราว 80 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเปิดตัว เจ้าสัว สแนคซ์ แบรนด์ที่ใช้บุกตลาดขนมขบเคี้ยวโดยเฉพาะ เนื่องจากแบรนด์ เจ้าสัว เดิมมีสินค้าแปรรูปจากเนื้อสัตว์อื่น ๆ เช่น กุนเชียง หรือหมี่โคราช เป็นต้น

เจ้าสัว สแนคซ์ มีสองรสชาติ มีลักษณะเป็นหมูแท่งอบกรอบ วางจำหน่าย 2 ขนาด คือ 22 ก. ราคา 30 บาท และ 45 ก. ราคา 60 บาท มีจุดเด่นที่มีโปรตีน 9 ก. ถือเป็นสินค้าใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มสินค้าทั้งหมดที่มีกว่า 300 SKUs และมีการเปิดตัวใหม่ทุกปีเฉลี่ย 15-20 SKUs

บมจ. เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี คาดว่าจะมีรายได้สิ้นปี 2023 ที่ 1,600 ล้านบาท เติบโต 11% มาจากกลุ่มสินค้าขนมขบเคี้ยว 80% ที่เหลือเป็นกลุ่มอาหาร ส่วนรายได้จากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 25% จากรายได้รวม และในประเทศไทยจะมีรายได้จากช่องทางโมเดิร์นเทรด 40% ของรายได้รวม

ต่อยอดจากของฝาก สู่การไปบุกตลาดจีน

ขณะเดียวกัน เจ้าสัว เตรียมบุกตลาดจีนผ่านการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในประเทศจีนมากขึ้น เนื่องจาก เจ้าสัว ถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่นักท่องเที่ยวจีนมักซื้อฝากกลับประเทศ โดยการเข้าไปทำตลาดจะใช้การกระจายสินค้าไปในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศจีน เพื่อเพิ่มโอกาสการจำหน่ายที่มากขึ้น

“ตลาดจีนใหญ่เป็นแสนล้านบาท เราจึงไม่สามารถมองข้ามได้หากต้องการเติบโตในตลาดต่างประเทศ และแม้สินค้าส่วนใหญ่ของเราจะเป็นหมู แต่การไปบุกตลาดอื่น ๆ เช่น ตะวันออกกลาง ก็สามารถทำได้เพราะทางกลุ่มมีอีกโรงงานที่ผลิตสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูปชนิดอื่นด้วย”

ปัจจุบัน เจ้าสัว มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ใช้กำลังการผลิตไปทั้งสิ้น 70% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งหลัง จาก IPO บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคตเช่นกัน

อ้างอิง // เจ้าสัว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา