เอาจริง! ประธานบอร์ดการบินไทยลั่น “ลูกค้าต้องมาก่อน” เตรียมรื้อโครงสร้างบริหาร

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของสายการบินไทยกรณีข่าวฉาว TG971 ล่าสุดประธานบอร์ดการบินไทย เตรียมที่จะปรับโครงสร้างสายพนักงานของการบินไทยใหม่ ถึงแม้ว่าจะเกิดคลื่นใต้น้ำก็ตาม อย่างไรก็ดีด้านนักบินเตรียมที่จะสนับสนุนนักบินไฟลท์ TG971 ในเรื่องนี้

ภาพจาก Shutterstock

กลายเป็นเรื่องฉาวสำหรับการบินไทยไปแล้ว สำหรับไฟลท์บิน TG971 ซึ่งทำให้ภาพพจน์ของสายการบินแห่งชาติย่ำแย่ลงไปอีก ทำให้ล่าสุด เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานบอร์ดการบินไทย ประกาศเตรียมใช้เรื่องนี้พลิกวิกฤติของการบินไทย โดยเตรียมปลูกฝังแนวคิด “ลูกค้าต้องมาก่อน”

ในระยะสั้น เอกนิติ ได้กล่าวถึงแผนเร่งด่วนคือต้องหาผู้รับผิดชอบในกรณีนี้ หลังจากการประชุมกับ สุเมธ ดำรงชัยธรรม ซึ่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ DD ของการบินไทย ส่วนระยะยาวถึงแม้จะมีแผนแม่บทกำกับอยู่แล้ว แต่จะใช้โอกาสนี้ปรับปรุงผ่าตัดสายงานของการบินไทย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีแรงต่อต้านแน่นอน

สำหรับคำสั่งล่าสุดที่ออกมาจากการบินไทยในไฟลท์ฉาว TG971 นั้น คือให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในเรื่องนี้ภายใน 7 วัน คาดว่านายสถานีภาคพื้นและนักบิน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดชอบหรือไม่ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในการสอบสวนครั้งนี้จะยึดกฏบริษัท มีความเป็นธรรม สร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาอีกครั้ง

ปัจจุบันการบินไทยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกระทรวงการคลังที่ 51% รายได้ในปีที่ผ่านมา 189,857 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2,107 ล้านบาท

นักบินเตรียมรวมตัวให้กำลังใจ

ขณะเดียวกันนักบินจำนวนประมาณ 50 คน เตรียมไปรวมตัวที่สำนักงานใหญ่การบินไทย เพื่อแสดงพลังและให้กำลังใจกับกัปตันและนักบินของไฟลท์ TG971 และระบุว่าเป็นการแสดงพลังแบบสันติ ทางด้านกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยไม่ขัดข้องที่จะมีการรวมตัวของนักบินการบินไทยที่จะแสดงพลังในเรื่องนี้

นอกจากนี้หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจยังได้รายงานว่านักบินเตรียมตัวที่จะขอสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงขอขึ้นเงินเดือนด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดเรื่องฉาวดังกล่าว และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยก็ไม่รับปากในเรื่องการปรับสวัสดิการครั้งนี้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมาด้วย

ภาพโดย Andy Mitchell from Glasgow, UK (Thai Airways A300 HS-TAS) [CC BY-SA 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0) or CC BY-SA 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0)], via Wikimedia Commons

บรรยงเสนอ 4 ข้อให้พิจารณา

บรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้แนะนำข้อเสนอในการแก้ปัญหาเรื่องของสวัสดิการนักบิน ซึ่งการบินไทยมีสวัสดิการหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสวัสดิการเหล่านี้ล้วนมีต้นทุนทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำมัน ค่าอาหาร และต้นทุนแฝงต่างๆ ด้วย

  1. ให้สำรวจทบทวน เปรียบเทียบกับสายการบินอื่นๆ ว่ามากหรือน้อยเกินไปในหมวดหมู่ไหน (เช่น เขาให้ลูกอดีตพนักงานไหม เขาให้อดีตพนักงานไหม)
  2. นำมาปรับให้เหมาะสม ส่วนไหนมากก็ลด ส่วนไหนน้อยก็เพิ่ม
  3. อุตสาหกรรมการบินจากอดีตมาปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปมาก จากการเป็นบริการฟุ่มเฟือยมาเป็นบริการพื้นฐาน การแข่งขันรุนแรงทั่วโลก ราคาตั๋วคงที่มาเป็นสิบปีแล้ว(ลดลงด้วยซำ้ในหลายๆเส้นทาง) การแข่งขันควบคุมต้นทุนต้องทำอย่างเข้มงวดในทุกๆ ทางถ้าอยากอยู่รอด
  4. เรื่องสวัสดิการ มันมีระเบียบอยู่แล้ว มันไม่ใช่ความลับอะไร เปิดเผยมาได้ครับว่าใครมีสิทธิ์บ้าง มีจำนวนกี่คนเท่าไหร่ สิทธิ์มีแบบไหนบ้าง แล้ววิเคราะห์ได้ครับ ว่าปีหนึ่งๆมีต้นทุนตรงเท่าใด(ต้นทุนแฝงวิเคราะห์ยากครับ) มีคนใช้สิทธิ์ไปกี่ครั้ง ถ้าสมมุติว่าใช้แค่สองสามพันครั้ง ต้นทุนตรงแค่ไม่กี่สิบล้าน ก็อาจจะไม่กระทบมาก

นอกจากนี้ บรรยง ยังได้กล่าวถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการว่าเป็นเรื่องต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้นถ้าเกิดเป็นเหมือนกับกรณีสายการบิน Japan Airlines หรือ JAL ที่ต้องเข้าฟื้นฟูกิจการ ในท้ายที่สุดแล้วทุกคนไม่ได้สวัสดิการอะไรเลย

ภาพจาก Shutterstock

เรื่องนี้ต้องเคลียร์!

ในบรรดารัฐวิสาหกิจของไทยด้วยกันนั้น การบินไทยมีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก และประชาชนค่อนข้างมีมุมมองแง่ลบกับสายการบินเป็นอย่างมาก เรื่องนี้อาจทำให้เกิดเป็นจุดเปลี่ยนของการบินไทยสำหรับการผ่าตัดโครงสร้างของสายการบินแห่งนี้ที่มีแต่ปัญหามาโดยตลอด เริ่มต้นตั้งแต่ต้นทุนการบินที่สูงจนไปถึงการบริการ

ถ้าเรื่องไฟลท์ฉาว TG971 สายการบินไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างถูกต้อง หรือประชาชนเป็นผู้ใช้บริการเกิดความพอใจได้ ท้ายที่สุดแล้วสายการบินแห่งนี้ก็เป็นสายการบินที่คนไทยเอือมระอา จุดจบของสายการบินนี้คงไม่ไกลเกินเอื้อม

ที่มา – บีบีซีไทยหนังสือพิมพ์ข่าวสด, หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [1], [2]

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ