จบใหม่ หมดไฟ ไม่หางาน จีนเจอปัญหาแรงงานใหม่แต่รัฐบาลไม่ยอมรับ

อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ในจีน สูงจนสร้างสถิติใหม่ มากกว่า 1 ใน 5 ของเด็กอายุ 16-24 ปีไม่มีงานทำ แต่เด็กจบใหม่กลับหมดไฟ ไม่อยากทำงาน ไม่หางาน ต้นเหตุปัญหาของจีนเกิดจากอะไรกันแน่?

ข้อมูลจากรัฐบาลเผยว่า ในปัจจุบัน ตัวเลขอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ในเมืองอยู่ที่ 21.3% สูงที่สุดนับจากข้อมูลของรัฐบาลในปี 2018 จนเกิดคำที่เรียกว่า “Full-Time Children” ซึ่งหมายถึงเด็กจบใหม่ที่ยอมแพ้กับงานแล้วกลับมาอยู่บ้านเฉย ๆ แบบเต็มเวลาอย่างชั่วคราวเพื่อหาเวลาพักผ่อน ขบคิดกับตัวเอง และหางานใหม่ที่ดีกว่าเดิม

สถานการณ์ของเด็กจบใหม่ไม่ใช่แค่การทำงานหนักจนต้องถอยออกมาพักผ่อนแต่งานก็หายากขึ้นกว่าเดิมด้วย ส่วนสาเหตุของการหมดไฟมาจากวัฒนธรรมการทำงานของจีนที่มีลักษณะขายวิญญาณจนไม่มีทางมี Work-Life Balance วัฒนธรรมการทำงานนี้เรียกว่า 996 ที่หมายถึงการทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึงสามทุ่มและทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์

ถ้าหากเป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุขึ้นเลข 3 ชีวิตก็ยิ่งยากไปกว่าเดิมโดยเฉพาะคนที่มีหนี้สินหรืออยากเริ่มสร้างครอบครัว เพราะในจีนมีแนวคิดเรื่อง “Curse of 35” ที่เป็นความเชื่อว่า บริษัทจะไม่ค่อยอยากจ้างงานพนักงานที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ในทางกลับกัน กลับอยากจ้างงานคนอายุน้อยกว่าด้วยการให้เงินเดือนที่น้อยกว่า

ความสิ้นหวังของคนอายุน้อยในจีนมาจนถึงขั้นที่ว่าทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยไม่อยากสอบผ่านเพราะอยากเรียนจบให้ช้าลง เสียงสะท้อนของบัณฑิตสะท้อนผ่านโพสต์บนโซเชียลมีเดียที่มีทั้งรูปคนนอนนิ่งในชุดรับปริญญาเพื่อสื่อถึงการพักจากงานหนัก ทั้งรูปบัณฑิตที่ทำท่าจะทิ้งใบปริญญาลงในถังขยะ

มหาวิทยาลัยเคยเป็นเรื่องของชนชั้นสูงในจีน แต่ตั้งแต่ปี 2012 มาจนถึงปีที่แล้ว อัตราการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจาก 30% มาถึง 59.6% เพราะคนมากขึ้นมองว่ามหาวิทยาลัยเป็นช่องทางการเข้าถึงโอกาสที่ดีขึ้นในตลาดแรงงานที่แข่งขันกันเข้มข้นมากขึ้น แต่ความเป็นจริงกลายเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังเมื่อผู้เชี่ยวชาญมองว่า การว่างงานของเด็กจบใหม่อาจแย่ลงอีกเมื่อมีบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวน 11.6 ล้านคน

Bruce Pang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยี Jones Lang LaSalle กล่าวว่า การฟื้นฟูของเศรษฐกิจจีนที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นเหตุผลหลักของการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น บริษัทหลายแห่งยังไม่ต้องการรับเด็กจบใหม่ที่มีประสบการณ์น้อยกว่ารุ่นพี่ของพวกเขาอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมาจากการที่สายงานที่เป็นที่นิยมในหมู่เด็กจบใหม่เติบโตลดลงหรือถดถอยลง บวกกับกฎของรัฐบาลที่บังคับใช้อย่างเข้มงวดกับบริษัทด้านเทคโนโลยี ข้อห้ามของสายงานการสอน และการแบนการลงทุนจากต่างประเทศในภาคการศึกษาเอกชน

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะตระหนักถึงปัญหานี้ แต่ก็ยังพยายามที่จะทำให้ปัญหาดูเป็นเรื่องเล็ก แม้แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงก็ยังบอกให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้อดทนกับความยากลำบากไป 

ฝั่งสื่อของรัฐบาลก็เปลี่ยนคำเพื่อให้ปัญหาดูเป็นเรื่องที่เล็กลง โดยเรียกรวมคนรุ่นใหม่ที่ยังหางานทำไม่ได้ คนที่เลือกที่จะเรียนต่อ คนที่พักผ่อนก่อนเข้าทำงานว่า “การจ้างงานอย่างช้า ๆ ” หรือ Slow Employment ขณะที่คนรุ่นใหม่หลายคนว่างงานอยู่จริง ๆ บทความบนหนังสือพิมพ์ยังแนะนำว่าให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้พยายามอย่างหนักเพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีงานทำ

หลายคนไม่เห็นด้วยกับความเห็นของรัฐบาลพร้อมมีปฏิกิริยาโต้กลับด้วยการเสียดสี วิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่ยอมรับความเป็นจริง แถมยังผลักความรับผิดชอบให้คนรุ่นใหม่อีก นักวิจัยจาก Shanghai Institute of Finance and Law เองก็กล่าวว่า การว่างงานก็คือการว่างงาน รัฐบาลก็ควรใช้คำเรียกตามความจริง

ที่มา – BBC

อ่านเพิ่มเติม

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา