กาแฟ นับวันยิ่งต้นทุนแพง แถมขายยาก! เวียดนามคิดใหม่ ขายทุเรียนดีกว่า

กาแฟ นับวันยิ่งต้นทุนแพง แถมขายยาก! เวียดนามคิดใหม่ ขายทุเรียนดีกว่า รายได้ดี ขายได้เยอะ มีลูกค้าจีนรองรับเพียบ!! 

นี่มันยุคคิดใหม่ ถ้าคิดจะขายแบบเดิม ก็คงจะได้แบบเดิม

ล่าสุด เมล็ดกาแฟโรบัสต้าทำตำนาน ราคาพุ่งแตะระดับสูงสุดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยแท้ๆ ขณะเดียวกัน การบริโภคราชาแห่งผลไม้อย่างทุเรียนก็ดันเป็นที่โปรดปรานไม่เลิกของชาวจีน

Vietnam

เรื่องกาแฟแพง เจ้าของร้านคาเฟ่แห่งหนึ่งในเวียดนาม ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1946 ถึงกับออกปากบ่น ว่าเมล็ดกาแฟมันราคาแพงขึ้น แต่เจ้าของร้านก็พยายามจะตรึงราคาไว้เพราะเกรงใจแฟนคลับขาประจำที่ชอบแวะเวียนมานั่งชิมกาแฟกัน เธอบอกว่า นอกจาก ราคาเมล็ดกาแฟแพงขึ้น ไข่ไก่ก็ราคาแพงขึ้น เรื่องใหญ่ของร้านคาเฟ่ที่ขายทั้งกาแฟและเบเกอรี่แท้ๆ

ปัจจุบัน ตลาดฟิวเจอร์สหรือราคาตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลอนดอน รายงานว่าราคาเมล็ดกาแฟโรบัสต้าแรงมาก พุ่งไปถึง 4,500 เหรียญสหรัฐต่อตัน แม้จะลดลงบ้างแล้ว แต่ราคาก็ยังสูงกว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา

แม้เวียดนามจะเป็นประเทศที่ผลิตเมล็ดกาแฟโรบัสตาใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่เกษตรกรจำนวนมากก็กำลังหันไปใส่ใจการปลูกทุเรียนแทน จีนนิยมทุเรียนมาเนิ่นนานแล้ว และเริ่มเปิดรับทุเรียนอย่างมหาศาลเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในจีน จากที่ไทยเคยเป็นอันดับ 1 ในการส่งออกก็มีเวียดนามตีตื้นเข้ามา จากที่ไทยเคยเป็นผู้ส่งทุเรียนสดรายเดียว ปัจจุบันเวียดนามก็ทำได้แล้ว ล่าสุดเกษตรกรยังหันมานิยมทุเรียนมากขึ้นอีก รับรองว่าตลาดทุเรียนไทยสั่นสะเทือนแน่นอน

ทุเรียนจากเวียดนามส่งออกไปจีนทะลุ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาทในปี 2023 มากกว่าปีก่อนหน้าถึง 5 เท่า เรียกว่าเติบโตต่อเนื่อง

การหันมาให้ความสนใจของทุเรียนมากขึ้น ทำให้ซัพพลายในด้านเมล็ดกาแฟลดลง กาแฟเติบโตได้ดีในพื้นที่เขตร้อน กอปรกับการหาพื้นที่ปลูกยาก รวมถึงปรากฏการณ์ El Nino ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก

เวียดนามผลิตกาแฟรวม 29.2 ล้านถุง (ถุงละ 60 กิโลกรัม) ในช่วงตุลาคม 2022 ถึงกันยายน 2023 มีอัตราลดลง 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หลายอย่างรวมเป็นสภาพการณ์ที่ไม่เป็นใจ ทั้งอากาศที่ร้อนรุนแรงเกินไป น้ำที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ปลูกกาแฟได้ไม่ดีนัก

ไม่ใช่แค่เรื่องต้นทุนการผลิตทางกาแฟเท่านั้นที่เกษตรกรเวียดนามต้องเผชิญปัญหา แต่มันยังมีเรื่องคู่แข่งที่น่ากลัว เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังเปลี่ยนความสนใจจากกาแฟสายพันธุ์อราบิการะดับไฮเอนด์ที่ผลิตในอเมริกาตอนกลางและอเมริกาใต้ ไปหากาแฟสายพันธุ์โรบัสตาที่ราคาไม่แพง เพื่อให้สามารถรับมือได้กับต้นทุนขนส่งและเชื้อเพลิงที่ถีบราคาสูงขึ้น

ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มาจากการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในเอเชียตะวันอกเฉียงใต้และจีนก็มีส่วนช่วยด้วยเช่นกัน เฉพาะช่วงตุลาคม 2022 ถึงกันยายน 2023 การบริโภคในเอเชียแปซิฟิกรวม 44.5 ล้านถุง มากกว่า 1 ใน 4 ของการบริโภคโดยรวมของโลก และยังเพิ่มขึ้น 12% เทียบกับช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา