ตื่น ทำงาน กลับบ้าน วนไป: ทำไมยิ่งโตยิ่งเหงา โดยเฉพาะยิ่งเมื่อเข้าใกล้วัยเลข 3

ช่วงชีวิตที่สนุกที่สุดชองคุณคือช่วงเวลาไหน? ช่วงมัธยมปลาย ที่ได้สนุกสนานกับเพื่อน ช่วงมหาวิทยาลัย ได้ชีวิตอิสระ หรือช่วงวัยทำงานตอนต้น ที่เปี่ยมไปทั้งเงิน แรง และเวลา กิน เที่ยว ดื่ม สุดเหวี่ยง ช่วงเวลาเหล่านั้นของคุณได้ผ่านไปหรือยัง? 

หลายคนอาจกำลังรู้สึกว่าตัวเองยังอยู่ในช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของชีวิต แต่หลายคนกำลังรู้สึกห่างหายไปจากช่วงเวลาเหล่านั้น โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ขวบปีของชีวิตจวนเจียนจะแตะเลข 3 เข้าไปทุกที แม้จะมีเพื่อนร่วมงานนั่งอยู่เต็มออฟฟิศ ผู้คนขนัดแน่นเต็มรถไฟฟ้า ระหว่างทาง เจอร้านอาหาร บาร์ เต็มไปด้วยผู้คนหัวเราะสนุกสนานกับบทสนทนา 

แต่เรามุ่งหน้ากลับที่พัก กว่าจะถึงก็หมดแรง ใช้ชีวิตวนลูป ตื่น ทำงาน กลับบ้าน วนไปแบบนี้ ยิ่งทวีความเหงาเข้าไปทุกที ทั้งที่ช่วงชีวิตแห่งความสนุกสนานเหมือนเพิ่งผ่านไปไม่นานมานี้เอง ทำไมความเหงามันถึงมาพีคเอาในช่วง 30 กันนะ

ความสัมพันธ์ที่หล่นหายไปตามวัย

เรามาเริ่มที่คำจำกัดความทางจิตวิทยาของ ‘ความเหงา’ กันก่อน ซึ่งมัน คือ ความรู้สึกที่เป็นผลมาจากการรับรู้ความแตกต่างระหว่างระดับความสัมพันธ์ทางสังคมที่ต้องการและความสำเร็จ แล้วเจ้าช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ทางสังคมที่คาดหวังกับความเป็นจริงอาจถือเป็นกลไกหลักของความเหงาที่เกิดขึ้นในใจเราเลยก็ได้

แต่ช้าก่อน ความเหงานั้นไม่เท่ากับความโดดเดี่ยวทางสังคม ลองนึกภาพตามกันง่าย ๆ เราอยู่ในที่ที่มีคนจำนวนน้อย แต่เราไม่รู้สึกเหงาเลย กับอีกสถานการณ์หนึ่ง เราอยู่ในที่ที่คนพลุกพล่าน แต่เรากลับรู้สึกเหงา สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน

ความเหงาเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติของมนุษย์ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ว่าถ้าเรามีความเหงามากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดีเช่นกัน

งานวิจัยหัวข้อ ‘Understanding and Addressing Older Adults’ Loneliness: The Social Relationship Expectations Framework’ ตีพิมพ์บน Perspectives on Psychological Science ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเหงาและอายุที่เพิ่มขึ้น ว่าทำไมกันนะ คนเราถึงรู้สึกเหงาเมื่ออายุมากขึ้น

พบว่า ยิ่งผู้คนอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีความคาดหวังในความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้พวกเขามักจะรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้อยู่คนเดียวก็ตาม

ความคาดหวังที่ว่านั้น แบ่งเป็น มิติทางสังคม คือ ความคาดหวังเกี่ยวกับปริมาณของความสัมพันธ์ จำนวนความสัมพันธ์ทางสังคมที่พึ่งพาและสนับสนุนได้ ให้เห็นภาพง่ายขึ้นหน่อย เรามีเพื่อนมากแค่ไหน มีคอนเน็กชั่นมากแค่ไหน และ มิติทางอารมณ์ คือ ความคาดหวังเกี่ยวกับคุณภาพของความสัมพันธ์ เช่น ระดับความใกล้ชิด ความเข้าใจ และความสนใจที่มีร่วมกับผู้อื่น 

และยิ่งเราโตขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งใส่ใจกับมิติทางอารมณ์มากเท่านั้น เราอาจจะยินดีที่มีเพื่อนสนิท ที่เป็นที่ปรึกษาให้เราได้ มีความเข้าอกเข้าใจเรา ในจำนวนน้อย มากกว่าเพื่อนทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์สนิทสนมกันในจำนวนมาก

สรุปง่าย ๆ คืองานวิจัยบอกว่า ยิ่งเราโตขึ้น เรายิ่งคาดหวังความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ต่างออกไป ในตอนอายุยังน้อย เราต้องการผู้คนรายล้อม อยากมีเพื่อนจำนวนมาก อยากมีคอนเน็กชั่น แต่พออายุมากขึ้น เราคาดหวังความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ เราต้องการความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ไว้วางใจได้ ทำให้เราเลือกที่จะตัดความสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นออกไป  จนสุดท้าย พอเราสังเกตเห็นถึงความแตกต่างของความสัมพันธ์ในช่วงนี้กับช่วงก่อนหน้า อาจยิ่งทวีความเหงาในใจเรามากขึ้น 

True Mid-Life Crisis

อีกประเด็นคือ ความสำเร็จของชีวิตที่ถูกสังคมกำหนดเส้นชัยไว้ที่ราวๆ เลข 3 ทำให้ยิ่งใกล้เลข 3 เข้าไปเท่าไหร่ ทำให้ยิ่งกดดันตัวเองมากเท่านั้น ว่าเราได้มีทุกสิ่งอย่างที่สังคมรอบข้างต้องการหรือยัง มีบ้านหรือคอนโด รถยนต์ แต่งงาน สร้างครอบครัว คีย์เวิร์ดเหล่านี้ใกล้ตัวเราเข้าไปทุกที 

ผลการสำรวจจาก Relate องค์กรการกุศลเกี่ยวกับการให้คำแนะนำด้านความสัมพันธ์ ได้สอบถามกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คนในอังกฤษ พบว่า ผู้คนในช่วงอายุ 35 ถึง 44 บอกว่าพวกเขารู้สึกเหงาและเศร้ามากกว่าช่วงวัยอื่น จากปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ทั้งที่ทำงานและที่บ้าน 

Claire Tyler ผู้บริหารระดับสูงของ Relate ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ปกติแล้ว Mid-Life Crisis มักจะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 40-50 แต่การสอบถามที่ได้ ทำให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นกับคนอายุน้อยลงกว่าที่คาดไว้ 

ไม่แปลกที่เราจะหันมากดดันตัวเอง ให้ทำงานหนักเข้าไว้ จนต้องใช้ชีวิตเหมือนหนูแฮมสเตอร์ในวงล้อ ที่วิ่งวน ๆ ไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว เพื่อความสำเร็จในทั้งความเครียดจากความคาดหวังของสังคมรอบข้าง ความเครียดจากการทำงานให้ประความสำเร็จ ใน coming of age อีกช่วงของชีวิต 

การโฟกัสกับความสำเร็จเหล่านี้มากเกินไป ผลักให้เราห่างจากวงสังคมที่เคยมี และเหลือไว้เพียงความสัมพันธ์ที่ยังเหนียวแน่นเท่านั้น จนทำให้ความเหงากัดกินเราจากภายใน เพราะเราอาจพบว่าในท้ายที่สุดแล้ว เราไม่ได้เหลือความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นไว้มากอย่างที่เราคาดหวังไว้

เริ่มต้นหาเพื่อนใหม่ยังทันไหมในวัย 30 ?

ก่อนอื่นเราต้องถามตัวเองก่อนว่า เราต้องการหาเพื่อนใหม่จริง ๆ หรือเปล่า หากความเหงาที่มีนั้น ไม่ใช่ความเหงาที่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เราสามารถให้เวลาตัวเองทำกิจกรรมที่ไม่เคยได้ลองทำ งานอดิเรกที่หลงลืมไป ก็ได้เช่นกัน อย่างที่บอกไว้ข้างต้น ว่าการรายล้อมไปด้วยผู้คน อาจไม่ได้ช่วยให้เราหายเหงา

แต่ถ้าเรามั่นใจว่าความเหงาของเรา เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตวนลูป ขาดความสัมพันธ์ใหม่ ๆ แล้วเราเองก็พร้อมที่จะสร้างความสัมพันธ์เหล่านั้น Gill Hasson ผู้เขียนหนังสือ ‘Lonely Less: How to Connect with Others, Make Friends and Feel Less Lonely’ แนะนำว่า ความสัมพันธ์มันจะไม่เดินมาหาเราเอง เราต้องเป็นคนที่ออกไปหาอะไรใหม่ ๆ สามารถเริ่มต้นจากกิจกรรมที่เราชื่นชอบ ได้พบผู้คนที่ชอบอะไรเหมือนกัน จะยิ่งช่วยให้การสานสัมพันธ์เริ่มต้นได้ง่ายขึ้น

สุดท้ายแล้ว ความเหงาเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติ ที่อาจเกิดขึ้นกับเราได้ทุกช่วงเวลา แต่มันอาจมากเป็นพิเศษ ในช่วงเวลาที่เราตั้งหน้าตั้งตาโฟกัสกับชีวิตมากเกินไปอย่างในวัย 30

อย่าลืมความเป็นเด็กในใจที่เคยมี อย่าลืมความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อย่าลืมงานอดิเรกที่เราอาจหลงลืมไป สิ่งเหล่านี้อาจช่วยเติมไฟให้เรากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ในวันที่ Mid-Life Crisis เล่นงานเราเข้าอย่างจัง

 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/news/health-11429993 

https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/17456916221127218 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา