ธปท.ออกแผนชำระเงินฉบับ 4 จ่อใช้ ISO20022 หนุนแบงก์ใช้ข้อมูลแบบสากล

เมื่อคนเข้าสาขาธนาคารน้อยลง สวนทางกับธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้งมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ข่าวระบบล่ม โอนเงินไม่ถึงคนรับ ถูกแฮกก็มีบ่อยครั้ง…

เรื่องนี้ผู้กำกับแบงก์พาณิชย์อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบงก์ชาติพยายามปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้ทันโลกดิจิตอลที่พัฒนาไปเร็วแบบติดจรวด ขึ้นปี 2562 แบงก์ชาติเริ่มใช้แผนการชำระเงินฉบับที่ 4 ที่จะพัฒนาต่อจากแผนก่อนหน้า และมุ่งเน้นการใช้ข้อมูลในระบบมาสร้างประโยชน์สูงสุด

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ในช่วงแผนการชำระเงินฉบับที่ 3 แบงก์ชาติร่วมมือกับหลายหน่วยงานทำให้ดิจิตอลเพย์เมนท์เติบโตขึ้น สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 5,868 ล้านรายการ เติบโต 83% จากปี 2559 ดังนั้นแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินฉบับที่ 4 (ปี 2562-2564) ตั้งใจให้ดิจิตอลเป็นทางเลือกในการชำระเงินของประชาชนผ่านกลยุทธ์ 5I ได้แก่

  1. Interoperable Infrastructure พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินให้เชื่อมต่อกันได้ ช่วยลดต้นทุน และส่งข้อมูลระหว่างกันได้เร็วขึ้น ที่สำคัญระบบที่ดีจะลดการทำงานซ้ำซ้อน ขณะเดียวกันต้องเพิ่มขีดความสามารถเพื่อรองรับธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น บริหารความเสี่ยง และพัฒนาให้มาตรฐานทางเทคโนโลยีต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ISO20022 (มาตรฐานสากลใช้รับส่งข้อมูล และเชื่อมโยงต่างประเทศง่ายขึ้น) มาตรฐาน Biometrics e-KYC ฯลฯ
  2. Innovation ส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ โดยแบงก์ชาติต้องสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อให้ผู้เล่นในตลาดสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง
  3. Inclusion การทำให้ภาครัฐ ภาคประชาชนเข้าใจ เข้าถึง และเชื่อมั่นที่จะเลือกใช้บริการเงินที่เหมาะสม รวมถึงการเข้าถึงคนที่อยู่ห่างไกลผ่านการใช้โมบายแบงก์กิ้ง
  4. Immunity แนวทางการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยง โดยแบงก์ชาติจะกำกับ ตรวจสอบให้หน่วยงานต่างๆ ต้องอัพเกรดมาตรฐานความปลอดภัย คุ้มครองผู้ใช้บริการ คุมความเสี่ยงให้ดีขึ้น
  5. Information การพัฒนาข้อมูลการชำระเงิน ให้เชื่อมโยงกันได้ พัฒนาเครื่องมือ และการวิเคราะห์เชิงลึก
ภาพจาก shutterstock

ISO20022 ทำให้เกิดอะไรได้บ้าง?

สุธีรา ศรีไพบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ บอกว่า ISO 20022 คือมาตรฐานเกี่ยวกับ End to End process เน้นเรื่องการทำข้อมูลเป็นหลัก ตั้งแต่พื้นฐานการวางระบบข้อมูล Big Data AI ฯลฯ

“เดิมข้อมูลในธุรกิจธนาคารมีจำนวนมาก แต่ต้องนำมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เดิมข้อมูลการโอนเงินของลูกค้ามีอยู่แล้ว แต่ต้องพัฒนาและรวบรวมมาแสดงให้ลูกค้าเห็นชัดเจน นอกจากนี้ ISO20022 ยังนำมาบริหารความเสี่ยง ลดการ Fraud ลดความซ้ำซ้อนในการส่งต่อข้อมูล ทั้งหมดนี้จะพัฒนาให้ธุรกิจธนาคาร วิเคราะห์และสร้างบริการที่ดีขึ้นได้”

นอกจากนี้ ISO20022 เป็นมาตรฐานในระดับสากล จะนำมาปรับใช้ทั้ง Application Open API และการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าง่ายๆ เมื่อมีการพัฒนาข้อมูลมาตรฐานกลางเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ธุรกิจจะคุย ทำงานง่ายขึ้น และปรับตัวได้เร็วขึ้นเพราะอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงช่วยการเชื่อมต่อกับต่างประเทศด้วย

สรุป

การพัฒนาระบบชำระเงินแบงก์ชาติมองว่าต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่ในยุคดิจิตอลแบบนี้อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงเร็ว แผนงานที่ตั้งไว้อาจต้องปรับตาม ทำให้แผนแต่ละฉบับออกมากว้างๆ แล้วมาแตกรายละเอียดทีหลังว่าต้องทำอะไรบ้าง ทว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือแบงก์ชาติจะทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบแบงก์ได้อย่างทั่วถึงได้อย่างไร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา