ธปท.ชี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สำคัญต่อไทย ย้ำเกณฑ์ใหม่สินเชื่อบ้านเริ่ม 1 เม.ย. 2562 นี้

วันที่ 1 เม.ย. 62 ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มใช้เกณฑ์ใหม่เรื่องการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดหนี้เสีย ลดคนเก็งกำไรในอสังหาฯ และเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อคนที่ซื้อบ้านหลังแรก (เพราะราคาบ้านถูกลงเมื่อไม่มีคนเก็งกำไร)

แน่นอนว่ารายย่อยไม่เป็นหนี้เสีย ก็ทำให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไม่มีปัญหา ภาพรวมประเทศก็น่าจะดีขึ้น

ถ้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ล่ม ประเทศก็ได้รับผลกระทบ

เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยมีมูลค่า 6-8% ของ GDP หากรวมธุรกิจต่อเนื่องจะมีมูลค่ามากกว่านี้ ทั้งนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่นจำนวนมาก ได้แก่

  • ช่วงระหว่างก่อสร้างจะเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจปูนซีเมนต์ รับเหมาก่อสร้าง
  • ช่วงสร้างอสังหาริมทรัพย์เสร็จแล้ว จะเกี่ยวข้องกับ บริษัทเฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ภาคการเงิน ฯลฯ

นอกจากนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชื่อมโยงกับภาคการเงิน เพราะสถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินกู้ให้ทั้งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และภาคครัวเรือนโดยให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อบ้าน) กับประชาชนทั่วไป

ปัจจุบันสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วน 20% ของสินเชื่อทั้งหมดในภาคการเงิน และต้องยอมรับกว่าหนี้ครัวเรือนของไทย 35% มาจากสินเชื่อบ้าน (แบงก์ชาติมองว่าคนมีสินเชื่อบ้าน ดีกว่ามีสินเชื่อเพื่ออุปโภคด้านอื่นๆ เพราะนอกจากอยูอาศัยยังมีบ้านเป็นทรัพย์สิน)

ปี 2562 ธุรกิจอสังหาฯ อาจสะดุด ถ้าสต็อกบ้าน-คอนโดล้นตลาด

ทั้งนี้ปี 2561 ที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตดีที่ 9% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ยอดโอนอสังหาริมทรัพย์ 20% ราคาขายเพิ่มขึ้น 6% ในภาพรวมทั้งสินเชื่อให้ผู้ประกอบการและสินเชื่อบ้านสำหรับรายย่อยยังเติบโตดี

แต่ปี 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทยยังเห็นความเสี่ยงในบางจุด ปัจจุบันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม ที่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังขายไม่ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากนี้โครงการก่อสร้างใหม่ของผู้ประกอบการมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ธปท.จึงต้องจับตาความเสี่ยงอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤต

“อนาคตหากอุปทาน (บ้านในสต็อค) เหลือเยอะจะกดดันราคาอสังหาริทรัพย์ในภาพรวม และกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ส่งผลต่อเนื่องถึงสถาบันการเงินเมื่อผู้ประกอบการไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือจ่ายหนี้ช้าลง”

สาเหตุที่แบงก์ชาติต้องออกเกณฑ์กำกับสินเชื่อบ้าน

ระยะหลังธปท. เห็นสัญญาณจากสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อแบบผ่อนคลาย โดยปล่อยวงเงินสินเชื่อบ้านสูงกว่าหลักทรัพย์ที่ค้ำประกัน (ให้ Loan to Value หรือ LTV เกิน 100%) จากข้อมูลพบว่าสินเชื่อบ้านที่ปล่อยใหม่ในธุรกิจธนาคาร 1 ใน 4 ให้ LTV เกิน 200% ดังนั้นเกณฑ์ใหม่ที่กำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยธปท.ที่เริ่มใช้ 1 เม.ย. 2562 นี้ จะกำหนดให้ธนาคารให้สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับบ้านไม่เกินราคาหลักทรัพย์ที่ค้ำประกัน

“ธปท. มองว่าหนี้บ้านนอกจากใช้อยู่อาศัย ยังเป็นทรัพย์สิน แต่ขณะเดียวกันต้องระวังไม่ให้ภาคครัวเรือนก่อหนี้สูงจนผ่อนค่างวดไม่ได้ แบงก์ชาติกลัวเรื่องความเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อยที่เก็งกำไรและมีภาระผ่อนสูงจะกระทบภาคครัวเรือนของไทย”

สรุป

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เรียกว่าเป็นดาวเด่นของเศรษฐกิจไทย เพราะนอกจากได้รับปัจจัยบวกจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ยังมีต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในไทยจำนวนมาก บทความหน้า Brand Inside ขอเสนอเรื่องอสังหาริมทรัพย์ไทยมีต่างชาติเข้ามาซื้อเยอะหรือไม่?

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา