Joe Biden หรือ Donald Trump ใครชนะเลือกตั้ง จะส่งผลดีต่อเอเชียมากกว่ากัน?

นับตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาจนครบวาระและกำลังช่วงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับโจ ไบเดน ทรัมป์สร้างผลงานให้โลกจดจำแบรนด์ Make America Great Again ได้มากมาย 

Donald Trump โดนัลด์ ทรัมป์
ภาพจาก Shutterstock

Donald Trump จุดยืนแข็งกร้าวในเวทีโลก พร้อมต่อกรกับจีนอย่างหนักหน่วง

ทรัมป์สู้รบกับนักข่าว สำนักข่าว และด่ากราดว่าเป็นสำนักข่าว Fake news จนสำนักข่าวสร้างมาตรฐานใหม่ด้วยการผลิตเนื้อหาที่เป็น Fact check เพื่อให้โลกได้ตรวจสอบความจริงและพิสูจน์ให้รู้ว่าใครกันแน่ที่โป้ปด โกหกคำโต ไม่ใช่ Alternative fact อย่างที่ฝ่ายทรัมป์ขยันนำเสนอ 

ตลอดจนการถอนตัวออกจากความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดระบาด ออกจากกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอย่าง TPP (Trans-Pacific Partnership) สร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก ยกระดับมาตรการคุมเข้มแรงงานต่างชาติและคนเข้าเมือง ไปจนถึงการแบน TikTok และเดินสายทั่วยุโรปเพื่อให้ร่วมกันแบนการใช้ TikTok เช่นกัน 

ในส่วนของเอเชีย ทรัมป์มีจุดยืนในการต้านจีนชัดเจน ก่อสงครามการค้าระหว่างประเทศกับจีนอย่างยาวนานจนเศรษฐกิจระหว่างประเทศสั่นสะเทือนต่อเนื่อง พยายามลดบทบาทจีนในทะเลจีนใต้ ตอบโต้จีนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้กฎหมายความมั่นคงใหม่ในฮ่องกง อุยกูร์ ไปจนถึงสานสัมพันธ์ในอินโดแปซิฟิกจนเกิดกรอบความร่วมมือขนาดย่อมๆ ภายใต้ชื่อว่า QUAD เพื่อลดอิทธิพลจีนในภูมิภาคนี้ 

Photo by Twitter Joe Biden

ไบเดน มีแนวโน้มร่วมมือและกดดันจีน ในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น

ถ้าเทียบกับสมัยเดโมแครตเป็นรัฐบาลในยุคบารัค โอบามาดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบไม่แข็งกร้าว และยังเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่เยือนจีนในปีแรกหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ การขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ รอบนี้ ถ้าหากเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า น่าจะดำเนินนโยบายแบบเดิมต่อเนื่องจากทรัมป์สมัยแรก

ขณะที่ถ้าเป็น Joe Biden ถ้าได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ การดำเนินนโยบายต่างประเทศน่าจะเป็นการนำอเมริกาให้ชนะคู่แข่งอย่างจีน ไบเดนน่าจะลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นภายใต้วาระทางเศรษฐกิจ “Buy American” มีแผนยกเครื่องเทคโนโลยีใหม่ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึง 5G และ AI งบประมาณราว 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.31 ล้านล้านบาท อีกทั้ง แคมเปญไบเดนยังเสนอให้มีมาตรการต้านบริษัทเทคโนโลยีจีนด้วย

ทั้งนี้ Scott Kennedy ที่ปรึกษาอาวุโสและ Trustee Chair ด้านธุรกิจและเศรษฐกิจจีนจาก CSIS ระบุว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารของไบเดน น่าจะผสมผสานระหว่างความร่วมมือกับความกดดันเข้าด้วยกัน แต่น่าจะมีทิศทางในการเน้นความร่วมมือมากกว่า

ไบเดนอาจจะใช้วิธีเดียวกับทรัมป์ เช่น การควบคุมการส่งออกและมีข้อจำกัดในการลงทุน แต่อาจจะมีความแตกต่างออกไป ประชาชนจำเป็นต้องเข้าใจนโยบายสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสิ่งที่จีนทำ ถ้าจีนยังดำเนินนโยบายตามแผน 5 ปีและแผน 15 ปี ยุทธศาสตร์ของจีนจะส่งผลลบต่อสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ

NASHVILLE, TENNESSEE – OCTOBER 22: U.S. President Donald Trump and Democratic presidential nominee Joe Biden participate in the final presidential debate at Belmont University on October 22, 2020 in Nashville, Tennessee. This is the last debate between the two candidates before the election on November 3. (Photo by Chip Somodevilla/Getty Images)

โลกลุกเป็นไฟภายใต้ทรัมป์ v.s. โลกที่สันติภายใต้ไบเดน?

Peterson Institute for International Economics มองว่า สหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์ทำสงครามการค้ากับจีนอย่างหนัก ความตกลงการค้า Phase 1 ทำให้ภาษีสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนอยู่ที่ 19.3% ถ้าเทียบกับตอนที่ยังไม่มีความขัดแย้งในช่วงปี 2018 อัตราภาษีสูงกว่า 6 เท่า ขณะที่สินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ มีภาษีสูงถึง 20.3%

Edward Alden นักวิจัยอาวุโสจาก Council on Foreign Relations มองว่าในด้านการค้า ไบเดน น่าจะมุ่งไปที่การแก้ปัญหามากขึ้น ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรและระวังการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกการใช้ภาษีในการรับมือกับความขัดแย้งดังกล่าว ไบเดนเรียกความตกลง Phase 1 ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนว่า ความว่างเปล่า คือนอกจากไม่เกิดความยุติธรรมขึ้นแล้ว ยังมีการขโมยลิขสิทธิ์ทางปัญญาด้วย เป็นไปได้ว่า ไบเดน อาจร่วมมือกับชาติพันธมิตรเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจีน

ด้านทะเลจีนใต้ ความมั่นคงในทะเลจีนใต้ เป็นไปได้ว่าไบเดนน่าจะใช้นโยบายเผชิญหน้ากับจีนผ่านความร่วมมือประเทศชาติพันธมิตร หลีกเลี่ยงการเพิ่มกำลังทางทหารที่เป็ฯผลมาจากการสื่อสารที่ผิดพลาด เข้ามาเกี่ยวพันกับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์ผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีอยู่

ประเด็นไต้หวัน ฮ่องกง ไบเดนวิพากษ์วิจารณ์ สี จิ้นผิงในการจัดการกับผู้ประท้วง และไบเดนยังเป็นแคนดิเดตคนแรกจากพรรคเดโมแครตที่ร่วมแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินที่ชนะการเลือกตั้ง เป็นไปได้ที่ไบเดนจะยังรักษาความสัมพันธ์กับไต้หวันต่อไปแต่ก็มีท่าทีระมัดระวังต่อท่าทีจีนเช่นกัน

เกาลีเหนือ ไบเดนเคยกล่าวว่าต้องการจะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อกดดันเกาหลีเหนือ พันธมิตรในที่นี้ก็คือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอาจจะรวมประเทศอื่นๆ และจีนเข้าไปด้วยเพื่อไม่ให้เกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

กล่าวโดยสรุป ถ้าได้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สอง การดำเนินโยบายต่างประเทศจะถูกสานต่อ ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก มีแนวโน้มที่จะแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าได้ไบเดน ทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศจะเน้นสันติมากขึ้น ไบเดนน่าจะเป็นมิตรกับจีนมากกว่าทรัมป์ แต่ก็เป็นความร่วมมือที่มีทั้งควบคุมและร่วมมือไปด้วยพร้อมๆ กัน สิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการฟื้นฟูประเทศหลังทรัมป์ทำให้ภาพสหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศแข็งกร้าว เสียหายมากกว่าสานประโยชน์ให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร

ที่มา – Nikkei Asia, Brookings

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา