สกัดจีน ทรัมป์เตรียมขยาย G7 เป็น G11 กระชับสัมพันธ์อินโด-แปซิฟิก เครือข่ายทรัมป์ไม่เอาจีน

โดนัลด์ ทรัมป์ยังสร้างความร้อนแรงในเวทีระหว่างประเทศต่อเนื่อง หลังกล่าวถ้อยแถลงต้านจีน 3 ประเด็นสำคัญ ล่าสุด ยังเดินหน้าประชุมเวทีระหว่างประเทศ โดยมีเรื่องหารือหลักกับชาติพันธมิตรในประเด็นจีนเป็นหลัก

G7, G10 หรือ G11 จำนวนเท่าไรก็ได้ที่ไม่มีจีน

เดิม เวทีประชุมเศรษฐกิจระหว่างประเทศภายใต้เวที G7 หรือ Group of Seven (ประกอบด้วยแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา) ล่าสุด ทรัมป์เริ่มแผนโดดเดี่ยวจีน ด้วยการเชิญออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซียร่วมกลุ่มประชุม G7 แม้ทรัมป์อาจจะไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนกลุ่ม G7 ให้เป็น G11 อย่างถาวร แต่ระบุว่าต้องการเชิญอีก 4 ชาติร่วมกลุ่มเพราะรู้สึกว่ากลุ่มความร่วมมือที่มีอยู่เดิม ล้าสมัยเกินไป

ทรัมป์กล่าวว่า เขาอาจจะเลื่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 จากเดือนมิถุนายนไปเดือนกันยายน หรือไม่ก็อาจจะเป็นหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงพฤศจิกายนไป ทรัมป์ระบุว่า มันอาจจะเป็น G10, G11 ได้ ซึ่งปีนี้สหรัฐฯ ได้เป็นประธานประชุม G7 ทำให้ทรัมป์มีอิสระในการเลือกเชิญใครมาร่วมวงประชุมก็ได้

Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Xi Jinping ประธานาธิบดีจีน

Alyssa Farah โฆษกหญิงแห่งทำเนียบขาวระบุว่า ทรัมป์ต้องการให้เวทีประชุมสุดยอดผู้นำนี้หารือกันเรื่องจีน ซึ่งก็มีแต่ประเด็นร้อนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นบทบาทจีนในการจัดการโควิด-19 และประเด็นฮ่องกงที่เพิ่งออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ไป ซึ่งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลียต่างก็เป็นพันธมิตรยาวนานของสหรัฐฯ

ไหนจะอินเดียที่ถือเป็นแกนกลางยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งจีนก็ยังมีประเด็นขัดแย้งกับอินเดียเรื่องพรมแดนแถวบริเวณลาดัค (Ladakh) และรัสเซียประเทศพันธมิตรรายสำคัญของทรัมป์ท่ามกลางความสัมพันธ์อันคลุมเครือภายใต้ข่าวฉาวแทรกแซงเลือกตั้งสหรัฐฯ และยังเคยถูกขับออกจากกลุ่ม G8 กรณีความขัดแย้งในยูเครนด้วย

ทำความรู้จัก Indo-Pacific network: เครือข่ายทรัมป์ไม่เอาจีน?

ท่าทีไม่เอาจีนหรือความพยายามจะสกัดจีนออกจากเวทีระหว่างประเทศนี้ สะท้อนผ่านเครือข่ายอินโด-แปซิฟิกซึ่งเป็นแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์ หมายถึงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดย Gurpreet s. Khurana ซึ่งเป็นทั้งนักยุทธศาสตร์น่านน้ำ เป็นทั้งผู้อำนวยการระดับสูงแห่ง New Delhi National Marine Foundation เป็นผู้นำคำว่ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกมาใช้เป็นคนแรกๆ เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วผ่านการเขียนบทความใน Washington Post

Donal Trump ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ภาพจาก The White House

โดยอินโด-แปซิกฟิกนี้ เป็นการพยายามยามอ้างถึงยุทธศาสตร์ในความหมายใหม่ที่เปลี่ยนจากเอเชียแปซิฟิกที่สื่อถึงผลประโยชน์เชื่อมโยงสหรัฐอเมริกาและเอเชียตะวันออก มาเป็น Indo-Pacific ที่โดนัลด์ ทรัมป์เองพยายามจะสื่อถึงอินเดีย สหรัฐอเมริกา และชาติอื่นๆ ที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในเอเชีย

เรื่องนี้นักวิชาการจีนมองว่าเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ที่พยายามจะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในหมู่ประเทศพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิกที่ต้องการต่อต้านจีน สกัดจีน ซึ่งอินโด-แปซิฟิกนี้ถูกใช้มาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1920-1930 แล้ว โดยมี Karl Ernst Haushofer นักวิชาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ชาวเยอรมันเป็นคนกล่าวถึงแนวคิด “Indo-Pacific” โดยสื่อถึงมหาสมุทรอินเดีย-แปซิฟิก

Mike Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ภาพจาก The White House

บ้างก็มองว่าทรัมป์พยายามจะปรับสมดุลความสัมพันธ์ใหม่ขึ้นต่อจากสมัยโอบามา (นโยบายสมัยบารัค โอบามา: Rebalance to Asia and the Pacific) ซึ่งก็มีทั้งชาติในเอเชียและแปซิฟิก อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย จีน เกาหลีใต้ รวมทั้งชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหลาย

Indo-Pacific (อินโด-แปซิฟิก): การช่วงชิงนิยามความหมายความสัมพันธ์สหรัฐฯ ต่อประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก

ประเด็นความร่วมมืออินโด-แปซิฟิกนี้ Michael R. Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาเคยระบุไว้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิกฟิก โดยยึดไว้เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ (ซึ่งเป็นข้อความที่ระบุไว้ในเอกสาร A Free and Open Indo-Pacific: Advancing a Shared Vision เผยแพร่เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2019 ซึ่งทรัมป์เคยให้ความสำคัญอย่างมากตั้งแต่พฤศจิกายน 2017 ปีแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ)

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอินโด-แปซิฟิกที่เคยระบุไว้ในรายงานก็เป็นไปตามหลักการเสรีและเป็นธรรมเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการพยายามสานสัมพันธ์เพื่อความมั่งคั่งผ่านการค้าระหว่างกันทั้งสองฝ่าย (ไม่ควรมีใครขาดดุลการค้าขณะทำการค้าระหว่างกัน) โดยเน้นถึงมูลค่าการค้าทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายอินโด-แปซิฟฟิกที่มีมากถึง 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 60 ล้านล้านบาท) ซึ่งก็รวมถึงความสัมพันธ์ในมิติอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง การสานประโยชน์ร่วมกันอย่างหลากหลาย เป็นต้น

เมื่อย้อนกลับไปสมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มขึ้นมาดำรงตำแหน่งประเทศช่วงมกราคม 2017 จากนั้นก็มีทริปเยือนเหล่าประเทศมหามิตรในเอเชีย จากนั้น คำว่า “อินโด-แปซิฟิก” ก็ถูกนำมาเรียกย้ำๆ ซ้ำๆ เพื่อจะใช้แทนที่คำว่า “เอเชีย-แปซิฟิก” จากนั้น นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างพยายามหาความหมายว่าทำไมจึงเรียกอินโด-แปซิฟิกแทนคำว่าเอเชีย-แปซิฟิก

จนนำไปสู่การวิเคราะห์เป็นเสียงเดียวกันว่า การเปลี่ยนชื่อเรียกเช่นนี้เป็นการช่วงชิงนิยามความหมาย ที่ต้องการเน้นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของสหรัฐฯ ต่อเหล่าประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก โดยไม่มีจีนมีบทบาทนำแบบก่อนหน้า หรือเป็นการพยายามทำให้อิทธิพลของจีนที่มีต่อเอเชีย-แปซิฟิกลดลง

Donald Trump ภาพจาก White House

ที่มา – SCMP, Nikkei Asian Review, ISPI, The White House, State Gov, Quartz, SINA

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา