นับตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาจนครบวาระและกำลังช่วงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับโจ ไบเดน ทรัมป์สร้างผลงานให้โลกจดจำแบรนด์ Make America Great Again ได้มากมาย
Donald Trump จุดยืนแข็งกร้าวในเวทีโลก พร้อมต่อกรกับจีนอย่างหนักหน่วง
ทรัมป์สู้รบกับนักข่าว สำนักข่าว และด่ากราดว่าเป็นสำนักข่าว Fake news จนสำนักข่าวสร้างมาตรฐานใหม่ด้วยการผลิตเนื้อหาที่เป็น Fact check เพื่อให้โลกได้ตรวจสอบความจริงและพิสูจน์ให้รู้ว่าใครกันแน่ที่โป้ปด โกหกคำโต ไม่ใช่ Alternative fact อย่างที่ฝ่ายทรัมป์ขยันนำเสนอ
ตลอดจนการถอนตัวออกจากความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดระบาด ออกจากกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอย่าง TPP (Trans-Pacific Partnership) สร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก ยกระดับมาตรการคุมเข้มแรงงานต่างชาติและคนเข้าเมือง ไปจนถึงการแบน TikTok และเดินสายทั่วยุโรปเพื่อให้ร่วมกันแบนการใช้ TikTok เช่นกัน
ในส่วนของเอเชีย ทรัมป์มีจุดยืนในการต้านจีนชัดเจน ก่อสงครามการค้าระหว่างประเทศกับจีนอย่างยาวนานจนเศรษฐกิจระหว่างประเทศสั่นสะเทือนต่อเนื่อง พยายามลดบทบาทจีนในทะเลจีนใต้ ตอบโต้จีนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้กฎหมายความมั่นคงใหม่ในฮ่องกง อุยกูร์ ไปจนถึงสานสัมพันธ์ในอินโดแปซิฟิกจนเกิดกรอบความร่วมมือขนาดย่อมๆ ภายใต้ชื่อว่า QUAD เพื่อลดอิทธิพลจีนในภูมิภาคนี้
- ทรัมป์จัดหนักจีน: ถอนตัว WHO, ตัดสิทธิพิเศษฯ ฮ่องกง, ห้ามสายลับจีนเข้าประเทศ
- สกัดจีน ทรัมป์เตรียมขยาย G7 เป็น G11 กระชับสัมพันธ์อินโด-แปซิฟิก เครือข่ายทรัมป์ไม่เอาจีน
- FBI จัดหนัก มองจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคง-เศรษฐกิจ-เป็นเผด็จการ-เป็นโจรกรรมความมั่งคั่ง
- ทรัมป์เตรียมแบน TikTok ในสหรัฐ ยืนยันมีอำนาจออกคำสั่งนี้ได้
- ทำความรู้จัก Quad ภาคี 4 ฝ่ายต้านจีน: สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย
ไบเดน มีแนวโน้มร่วมมือและกดดันจีน ในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น
ถ้าเทียบกับสมัยเดโมแครตเป็นรัฐบาลในยุคบารัค โอบามาดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบไม่แข็งกร้าว และยังเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่เยือนจีนในปีแรกหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ การขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ รอบนี้ ถ้าหากเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า น่าจะดำเนินนโยบายแบบเดิมต่อเนื่องจากทรัมป์สมัยแรก
ขณะที่ถ้าเป็น Joe Biden ถ้าได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ การดำเนินนโยบายต่างประเทศน่าจะเป็นการนำอเมริกาให้ชนะคู่แข่งอย่างจีน ไบเดนน่าจะลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นภายใต้วาระทางเศรษฐกิจ “Buy American” มีแผนยกเครื่องเทคโนโลยีใหม่ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึง 5G และ AI งบประมาณราว 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.31 ล้านล้านบาท อีกทั้ง แคมเปญไบเดนยังเสนอให้มีมาตรการต้านบริษัทเทคโนโลยีจีนด้วย
ทั้งนี้ Scott Kennedy ที่ปรึกษาอาวุโสและ Trustee Chair ด้านธุรกิจและเศรษฐกิจจีนจาก CSIS ระบุว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารของไบเดน น่าจะผสมผสานระหว่างความร่วมมือกับความกดดันเข้าด้วยกัน แต่น่าจะมีทิศทางในการเน้นความร่วมมือมากกว่า
ไบเดนอาจจะใช้วิธีเดียวกับทรัมป์ เช่น การควบคุมการส่งออกและมีข้อจำกัดในการลงทุน แต่อาจจะมีความแตกต่างออกไป ประชาชนจำเป็นต้องเข้าใจนโยบายสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสิ่งที่จีนทำ ถ้าจีนยังดำเนินนโยบายตามแผน 5 ปีและแผน 15 ปี ยุทธศาสตร์ของจีนจะส่งผลลบต่อสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ
โลกลุกเป็นไฟภายใต้ทรัมป์ v.s. โลกที่สันติภายใต้ไบเดน?
Peterson Institute for International Economics มองว่า สหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์ทำสงครามการค้ากับจีนอย่างหนัก ความตกลงการค้า Phase 1 ทำให้ภาษีสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนอยู่ที่ 19.3% ถ้าเทียบกับตอนที่ยังไม่มีความขัดแย้งในช่วงปี 2018 อัตราภาษีสูงกว่า 6 เท่า ขณะที่สินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ มีภาษีสูงถึง 20.3%
Edward Alden นักวิจัยอาวุโสจาก Council on Foreign Relations มองว่าในด้านการค้า ไบเดน น่าจะมุ่งไปที่การแก้ปัญหามากขึ้น ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรและระวังการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกการใช้ภาษีในการรับมือกับความขัดแย้งดังกล่าว ไบเดนเรียกความตกลง Phase 1 ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนว่า ความว่างเปล่า คือนอกจากไม่เกิดความยุติธรรมขึ้นแล้ว ยังมีการขโมยลิขสิทธิ์ทางปัญญาด้วย เป็นไปได้ว่า ไบเดน อาจร่วมมือกับชาติพันธมิตรเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจีน
Today, vote for a new day in America. pic.twitter.com/WzarlQ8JDI
— Joe Biden (@JoeBiden) November 3, 2020
ด้านทะเลจีนใต้ ความมั่นคงในทะเลจีนใต้ เป็นไปได้ว่าไบเดนน่าจะใช้นโยบายเผชิญหน้ากับจีนผ่านความร่วมมือประเทศชาติพันธมิตร หลีกเลี่ยงการเพิ่มกำลังทางทหารที่เป็ฯผลมาจากการสื่อสารที่ผิดพลาด เข้ามาเกี่ยวพันกับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์ผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีอยู่
ประเด็นไต้หวัน ฮ่องกง ไบเดนวิพากษ์วิจารณ์ สี จิ้นผิงในการจัดการกับผู้ประท้วง และไบเดนยังเป็นแคนดิเดตคนแรกจากพรรคเดโมแครตที่ร่วมแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินที่ชนะการเลือกตั้ง เป็นไปได้ที่ไบเดนจะยังรักษาความสัมพันธ์กับไต้หวันต่อไปแต่ก็มีท่าทีระมัดระวังต่อท่าทีจีนเช่นกัน
เกาลีเหนือ ไบเดนเคยกล่าวว่าต้องการจะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อกดดันเกาหลีเหนือ พันธมิตรในที่นี้ก็คือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอาจจะรวมประเทศอื่นๆ และจีนเข้าไปด้วยเพื่อไม่ให้เกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
กล่าวโดยสรุป ถ้าได้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สอง การดำเนินโยบายต่างประเทศจะถูกสานต่อ ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก มีแนวโน้มที่จะแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าได้ไบเดน ทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศจะเน้นสันติมากขึ้น ไบเดนน่าจะเป็นมิตรกับจีนมากกว่าทรัมป์ แต่ก็เป็นความร่วมมือที่มีทั้งควบคุมและร่วมมือไปด้วยพร้อมๆ กัน สิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการฟื้นฟูประเทศหลังทรัมป์ทำให้ภาพสหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศแข็งกร้าว เสียหายมากกว่าสานประโยชน์ให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร
ที่มา – Nikkei Asia, Brookings
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา